กลุ่มอีซูซุในประเทศไทย ร่วมกับภาคีภาครัฐ และปตท. สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่น
กลุ่มอีซูซุในประเทศไทย ร่วมกับภาคีภาครัฐ และปตท. สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการไทย-ญี่ปุ่นในโครงการ“นวัตกรรมไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากพืชที่ไม่ใช่อาหาร” ร่วมทดสอบน้ำมันไบโอดีเซลจากต้นสบู่ดำ โดยใช้นวัตกรรมใหม่ล่าสุด “Partial Hydrogenation” ซึ่งมีศักยภาพที่จะนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ในยานยนต์เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงทางพลังงานของชาติในอนาคต
มร. เอช. นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เผยว่า “ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่เราต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกเป็นทางออกที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสนใจ อีซูซุในฐานะผู้นำด้านเครื่องยนต์ดีเซลของโลกเล็งเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงให้การสนับสนุนโครงการ “นวัตกรรมไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากพืชที่ไม่ใช่อาหาร”
ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการไทย - ญี่ปุ่นในการค้นคว้าวิจัยน้ำมันไบโอดีเซลทางเลือกจาก “ต้นสบู่ดำ” ที่น่าจะเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพสูงในการใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ อีซูซุภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ โดยกลุ่มอีซูซุในประเทศไทยได้มอบเงินสนับสนุนทุนวิจัย
พร้อมรถปิกอัพ “อีซูซุดีแมคซ์ สเปซแค็บ รุ่นใหม่หมด!” และเครื่องยนต์อีซูซุซูเปอร์คอมมอนเรล 2500 ดีดีไอแก่ทีมวิจัยในการใช้ทดสอบประสิทธิภาพของไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากพืชที่ไม่ใช่อาหาร รวมทั้งช่วยเหลือด้านการทดสอบรถและเครื่องยนต์ซึ่งอีซูซุมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูงเพื่อให้เกิดความมั่นใจสูงสุดตามมาตรฐานของอีซูซุ
นอกจากนี้กลุ่มอีซูซุยังจัดเตรียมห้องปฏิบัติการทดสอบสารมลพิษสำหรับการประเมินผลรถที่ใช้ไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากพืชที่ไม่ใช่อาหารอีกด้วย เราหวังว่าการวิจัยน้ำมันไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากสบู่ดำนี้จะมีศักยภาพที่จะนำมาใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จะส่งผลให้เกิดความมั่นคง และเสถียรภาพทางด้านพลังงานของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้"
โครงการ “นวัตกรรมไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากพืชที่ไม่ใช่อาหาร” เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยและญี่ปุ่นในการค้นคว้าวิจัยน้ำมันไบโอดีเซลจากต้นสบู่ดำ โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด Partial Hydrogenation ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูง และมีต้นทุนไม่สูงนัก
ภายใต้ความร่วมมือของภาคีภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น ต้นสบู่ดำนี้เป็นพืชที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
เติบโตง่าย มีความทนทานต่อความแห้งแล้งและแมลงได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญไม่ไปกระทบห่วงโซ่อุปทานของอาหาร เพราะเป็นพืชที่ไม่สามารถนำมาใช้รับประทานได้ ไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากสบู่ดำซึ่งผ่านกระบวนการ Partial Hydrogenation นี้ทำให้สามารถผสมกับน้ำมันดีเซลได้ในสัดส่วนมากกว่า 5% (B5) ซึ่งเป็นสัดส่วนการผสมของเชื้อเพลิงดีเซลทั่วไปในท้องตลาดปัจจุบัน
ไบโอดีเซลสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ได้ หากแต่ปัจจุบันต้นทุนการผลิตยังมีราคาแพงกว่าดีเซลจากปิโตรเลียม แต่ละประเทศจะใช้วัตถุดิบในการผลิตที่แตกต่างกันตามลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับอาหาร เช่น ประเทศไทยผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มเป็นหลัก
ดังนั้น “ต้นสบู่ดำ” ซึ่งเป็นพืชที่ไม่สามารถใช้เป็นอาหารได้ จึงได้รับความสนใจในฐานะพืชพลังงานที่สามารถ นำมาผลิตไบโอดีเซลเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ความร่วมมือทางวิชาการไทย - ญี่ปุ่นในโครงการ “นวัตกรรมไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากพืชที่ไม่ใช่อาหาร” จึงเป็นอีกหนึ่งความหวังใหม่เพื่อผลิตไบโอดีเซลที่มีคุณภาพที่สูงขึ้น และมีศักยภาพในการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอันใกล้
เนื่องจากมีต้นทุนการสร้างโรงงานหรือต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่ไม่สูงนัก อีกทั้งสามารถปรับเปลี่ยนจากโรงงานผลิตไบโอดีเซลอยู่เดิมได้ ซึ่งชุมชนต่างๆ ยังคงใช้ประโยชน์จากโรงงานแบบเดิมไว้ได้ นับเป็นการสร้างงานและความเป็นดีอยู่ดีของชุมชนตามวิถีอีซูซุ