เนื้อหาวันที่ : 2007-05-14 16:00:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 21606 views

จริยธรรมทางธุรกิจ : การพัฒนาคุณภาพจิตที่มีอิทธิพลต่อความประพฤติของมนุษย์ในสังคม

จรรยาบรรณทางธุรกิจ มีความหมายครอบคลุมถึงหลักการ กฎเกณฑ์ที่บ่งบอกว่าพฤติกรรมหรือการกระทำใดที่จัดว่าเป็นพฤติกรรมที่ดี เลว ผิด ถูก

การบริหารธุรกิจอย่างมีจริยธรรมมีองค์ประกอบหรือเกณฑ์ชี้วัดอย่างไรเป็นประเด็นที่ต้องสร้างให้ชัดเจนและเป็นหลักสากลให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่ว    ผู้บริหารกับจริยธรรมทางธุรกิจเป็นเรื่องของการเตือนสติในการประกอบอาชีพของตนว่า  สิ่งใดพึงกระทำสิ่งใดพึงละเว้น แม้ข้อกำหนดทางจริยธรรมจะเป็นปกติวิสัยที่องค์การทั่วไปต้องสร้าง

.

ความตื่นตัวในเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจของประเทศไทยเป็นไปค่อนข้างช้า  จนเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 ธุรกิจต่างล้มเป็นจำนวนมากซึ่งส่วน หนึ่ง เป็นเพราะการบริหารงานที่ขาดจริยธรรมและความโปร่งใส จากนั้นจึงได้มีการรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ไม่เพียงเพราะต้องการกลไกที่จะป้องกันธุรกิจหรือองค์การที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อกลุ่มผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชน แต่ยังเป็นการจัดระบบการบริหารเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของการประกอบการที่ดีของประเทศทางตะวันตกที่ประเทศไทยจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตามกระแสของโลกาภิวัตน์

.

องค์การธุรกิจในยุคใหม่ต้องบริหารงานโดยคำนึงถึงจริยธรรม รับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ รับผิดชอบต่อพนักงานด้วยการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม และรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังต้องดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใสพร้อมจะให้สาธารณชนตรวจสอบเสมอ

.

จริยธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทุกด้านขององค์การ การทำงานภายใต้ระบบทุนนิยมและกระแสเศรษฐกิจใหม่ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องจริยธรรมจะสร้างผลกระทบในทางลบได้อย่างรุนแรงและกว้างขวางมากกว่ายุคใด ๆ 

.

ในปัจจุบันมีผู้กล่าวถึงความสำคัญของ จริยธรรม กันมากขึ้น เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ได้แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงความบกพร่อง และความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมหรือจริยธรรมของผู้คนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว   วัฒนธรรมตะวันตกซึ่งเน้นการสร้างสรรค์ทางวัตถุ และการแสวงหาความสุขสบายให้แก่ชีวิตด้วย   การพัฒนาเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องอำนวยความสะดวก และรูปแบบของความบันเทิงในลักษณะต่าง ๆ ได้แพร่กระจายเข้าสู่สังคมเมืองของไทยอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว     อิทธิพลของการติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้คนในชนบทหลั่งไหลกันอพยพเข้าสู่เมืองหลวงอย่างมากมายและต่อเนื่อง     จิตใจของผู้คนที่ยึดเอาประโยชน์ของตนเป็นหลักไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนไทยลด น้อย ลงไปทุกทีและจะเพิ่มพูนปัญหาให้แก่สังคมมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

.

ความหมายของจริยธรรม

จริยธรรม (ethics) สามารถใช้คำไทยได้หลายคำนอกเหนือจากคำว่าจริยธรรม เช่น หลักจรรยา หรือ จรรยาบรรณ หรือ ธรรมะ หรือ คุณธรรม ซึ่งมีความหมายว่า ข้อพึงปฏิบัติ

.

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525  คำว่า ธรรม หมายถึงความดี ส่วนคำว่า จริย หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ ดังนั้นความหมายของ จริยธรรม คือ ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ

.

มีนักปราชญ์ของวงการศึกษาไทยหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่าจริยธรรม (วริยา  ชินวรรณโณ  2541 ) ไว้ดังนี้

.

พระพรหมคุณาภรณ์ (..ปยุตฺโต) อธิบายว่า จริยธรรม ตามหลักพุทธศาสนา คือ มรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา  พรหมจารีหรือผู้ประพฤติธรรม หรือ ผู้มีจริยธรรม ตามหลักพุทธศาสนา คือ ผู้ดำเนินชีวิตตามมรรค หรือปฏิบัติตาม มัชฌิมาปฏิปทา (หลักการครองชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์ของมนุษย์ที่จะนำไปสู่จุดหมาย คือ ความดับทุกข์)

.

กระมล  ทองธรรมชาติ อธิบายว่า จริยธรรม หมายถึง ธรรม หรือหลักความประพฤติที่ควรแก่การยึดถือและปฏิบัติตามก่อ  สวัสดิพาณิชย์ อธิบายว่า จริยธรรม คือ ประมวลความประพฤติและความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามเหมาะสม

.

ความคิดในเชิงจริยธรรมมีกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ นักปราชญ์ในยุคโบราณหลายต่อหลายท่านต่างกล่าวถึงและพยายามสั่งสอนให้ผู้คนประพฤติปฏิบัติกันในแนวทางที่ถูกต้องชอบธรรม กระทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและสังคม จนถึงปัจจุบันแนวความคิดในเรื่องจริยธรรมได้พัฒนามาเป็นลำดับ มีผู้กล่าวถึง "จริยธรรม" ในความหมายที่แตกต่าง ๆ กันหลายลักษณะ เช่น

.

ดวงเดือน  พันธุมนาวิน กล่าวว่า จริยธรรม เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวาง หมายถึงลักษณะทางสังคมหลายลักษณะของมนุษย์   ลักษณะและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมจะมีคุณสมบัติประเภทใดประเภท หนึ่ง ใน 2 ประเภท คือ (1) เป็นลักษณะที่สังคมต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกของสังคมนั้น เป็นพฤติกรรมที่สังคมนิยมชมชอบให้การสนับสนุน และผู้กระทำส่วนมากเกิดความพอใจว่า กระทำนั้นเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม และ (2)  เป็นลักษณะที่สังคมไม่ต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกของสังคม เป็นการกระทำที่สังคมลงโทษ หรือ พยายามกำจัด และผู้กระทำพฤติกรรมนั้นส่วนมารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่สมความ ฉะนั้นผู้ที่มีจริยธรรมสูงคือผู้ที่มีลักษณะและพฤติกรรมประเภทแรกมากและประภทหลัง น้อย     ลักษณะของมนุษย์ ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมแบ่งออกได้เป็น ความรู้เชิงจริยธรรม ทัศนคติเชิงจริยธรรม เหตุผลเชิงจริยธรรมและพฤติกรรมเชิงจริยธรรม (ดวงเดือน พันธุมนาวิน 2520)

.

สุมน  อมรวิ วัฒน์ สรุปความหมายของจริยธรรมไว้ว่า จริยธรรม คือ แบบแผนของความประพฤติที่ยึดหลักของศีลธรรม ลักษณะที่แตกต่างระหว่าง ศีลธรรม และ จริยธรรม ก็คือศีลธรรมเป็นหลักการของคุณงามความดีที่มนุษย์ยึดถือปฏิบัติ อิงหลักศาสนาและมีหลักเป็นสากล ส่วนจริยธรรมนั้นแม้จะมีความหมายบางส่วนคล้ายคลึงกับคำว่าศีลธรรม แต่มักเป็นคำที่ใช้ในสาขาวิชาพฤติกรรมศาสตร์ เน้นลักษณะของความประพฤติที่สังคมนิยมชมชอบว่าถูกต้องเหมาะสม  (สุมน อมรวิ วัฒน์   2530)

.

สำหรับนักคิดในประเทศตะวันตก ก็ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับจริยธรรมและพฤติกรรมทาง จริยธรรมไว้  (ชัยพร  วิชชาวุธ  2530)  ดังนี้

พีอาเจต์ (Piaget 1960 ) กล่าวว่า จริยธรรม คือ องค์ประกอบของกฏเกณฑ์ที่บุคคลยอมรับว่าถูกต้องดีงามควารประพฤติปฏิบัติตนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม

.

บราวน์ (Brown 1965 ) ได้อธิบายว่า  จริยธรรมหมายถึงระบบของกฏเกณฑ์ใช้ในการวิเคราะห์ความประพฤติที่ผิดหรือถูกของบุคคล  จริยธรรมมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาจากประสบการณ์ของบุคคล  โดยจริยธรรมประกอบด้วยองค์ประกอบ  3  ด้าน  คือ  ความรู้( knowledge) ความประพฤติ (conduct) และ ความรู้สึก (felling)

.

โดลเบอร์ (Kohlberg 1969  ) ให้การอธิบายว่า จริยธรรมเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นกฎเกณฑ์และมาตรฐานพฤติกรรมในสังคม ซึ่งบุคคลจะพัฒนาขึ้นจนมีจริยธรรมของตนเอง โดยอาศัยกฎเกณฑ์จากสังคมเป็นสิ่งตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด

.

ฮอฟแมน (Hoffman 1979 ) ได้จำแนกองค์ประกอบของจริยธรรมไว้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับที่บราวน์ได้กระทำ กล่าวคือ เขาเชื่อว่า  จริยธรรมเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายใน (internalization) ขององค์ประกอบจริยธรรม 3 ประการ ที่เป็นอิสระจากกัน คือความคิดทางจริยธรรม (moral thought) ความรู้สึกทางจริยธรรม (moral felling ) และพฤติกรรมจริยธรรม (moral behavior)

.

โดยการประมวลจากความหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ขอสรุปนิยาม ความหมายของ จริยธรรม ไว้คือ จริยธรรม หมายถึง หลักความประพฤติ แนวทาง แบบแผน หรือหลักการที่ว่าด้วยความดีงามซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักการของศาสนา หรือสิ่งที่คนในสังคมยอมรับว่าเป็นความดีความถูกต้อง เป็นต้นว่า หลักของศีล สมาธิ หลักของการยึดประโยชน์ส่วนรวม หรือหลักของการพัฒนาประเทศ ฯลฯ เพื่อความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข การปลูกฝังจริยธรรม จึงเปรียบเสมือนการพัฒนาคุณภาพจิตที่มีอิทธิพลต่อความประพฤติของมนุษย์ในสังคม

.
การเสริมสร้างและปลูกฝังจริยธรรม

แนวทางในการเสริมสร้างปลูกฝังจริยธรรมนั้น มีผู้เสนอแนวความคิดโดยอาศัยทฤษฎีการเรียนรู้และทำการพัฒนาต่อมาให้เป็นทฤษฎีในการปลูกฝังและเสริมสร้างจริยธรรม ซึ่งมีอยู่ 4 รูปแบบ(ชัยพร  วิชชาวุธ 2530) คือ

.

(1) วิธีการกระจ่างค่านิยม (Value Clarification หรือ VC)  ทฤษฎีนี้มีความเชื่อพื้นฐานว่า ค่านิยมเป็นหลักที่บุคคลยึดไว้เป็นมาตรฐานในการประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม จุดมุ่งหมายของทฤษฎีนี้ก็คือ ให้ได้ค้นพบด้วยตนเองว่าหลักการหรือมาตรฐานที่ตนยึดอยู่นั้นมีความถูกต้องเพียงใด และหลักการที่ถูกตลอดจนหลักการที่ผิดมีลักษณะเป็นอย่างไร วิธีการนี้จะช่วยให้เกิดการกระจ่างแจ้งในค่านิยมของตนเอง ทำให้ได้รู้จักจุดดีและจุดด้อยที่ตนมีอยู่ และจะได้หาทางรักษาส่วนที่ดีและเสริมสร้างส่วนที่ด้อยให้สมบูรณ์ขึ้น โดยใช้กระบวนการสร้างค่านิยม 7 ประการเป็นหลัก ซึ่งได้แก่ 1) การเลือกกระทำโดยอิสระ ไม่มีการบังคับ  2) การเลือกจากทางเลือกหลาย ๆ ทาง      3)  เลือกโดยพิจารณาผลของทางเลือกนั้นแล้ว  4) การรู้สึกภูมิใจและยินดีที่ได้เลือกกระทำ 5) ยืนยันการตัดสินใจเลือกของตนเองอย่างเปิดเผย  6) การกระทำตามสิ่งที่ตนตัดสินใจเลือก และ 7) การกระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก

.

(2)  วิธีการให้เหตุผลทางจริยธรรม (Moral Reasoning หรือ  M R)  โดยเชื่อว่าการอ้างเหตุผลเชิงจริยธรรม มีความสัมพันธ์กับการพัฒนาทางด้านอื่น ๆ ของบุคคลนั้น โดยเฉพาะทางด้านสติปัญญาซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมประเภทต่าง ๆ ของบุคคล  แนวคิดพื้นฐานที่เด่นของทฤษฎีคือ  ความเชื่อที่ว่า จริยธรรมคือ กฎเกณฑ์ที่มนุษย์ใช้ตัดสินความถูกผิดของการกระทำ ความเข้าใจในกฎเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับการพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอายุของบุคคล ดังนั้นหากยังไม่ถึงวัยอันสมควรการเสริมสร้างจริยธรรมบางลักษณะจึงไม่อาจกระทำได้กิจกรรมหลักที่นักทฤษฎีกลุ่มนี้ใช้ในการเสริมสร้างจริยธรรมให้เกิดขึ้นก็คือ การอภิปรายแลกเปลี่ยนทัศนะซึ่งกันและกันโดยสิ่งที่นำมาอภิปรายกัน จะไม่มีการตัดสินความผิดหรือถูก จุดเน้นการอยู่ที่การให้เหตุผลทางจริยธรรมได้ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ หนึ่ง ๆ

.

(3)  วิธีการปรับพฤติกรรม (Behavior Modification หรือ B M) นักทฤษฎีกลุ่มนี้ได้ประยุกต์เอาทฤษฎีการเสริมแรงของสกินเนอร์มาใช้ในการปรับพฤติกรรมของบุคคลให้เป็นไปในแนวทางที่ต้องการโดยความเชื่อพื้นฐานที่ว่า มนุษย์ถูกควบคุมโดยเงื่อนไขของการเสริมแรงหรือลงโทษ หากมีการแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่าง หนึ่ง ออกมาและได้รับการเสริมแรงในทางบวก บุคคลก็มีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมนั้นได้อีก ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากการแสดงพฤติกรรมได้รับการเสริมแรงในทางลบ พฤติกรรมนั้นก็จะค่อย ๆ หดหายไป แนวความคิดของนักทฤษฎีกลุ่มนี้จึงตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า การเรียนรู้ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังนั้นหากต้องการเสริมสร้างพฤติกรรมจริยธรรมที่ต้องการก็จะใช้วิธีการเสริมแรงในทางบวก และการขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ก็จะต้องเสริมแรงในทางลบ

.

(4)  วิธีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning หรือ SL) นักทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าจริยธรรมเป็นความเข้าใจกฎเกณฑ์ที่ใช้สำหรับประเมินความถูกผิดของพฤติกรรมของคน ซึ่งความเข้าใจของกฎเกณฑ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ของบุคคลในสังคม   แนวความคิดพื้นฐานของนักทฤษฎีเชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ส่วน หนึ่ง เกิดจากประสบการณ์ตรงของตนเอง    อีกส่วน หนึ่ง เกิดจากการสังเกตพฤติกรรมของผู้อื่น และอีกส่วน หนึ่ง เกิดจากการฟังคำบอกเล่าและการอ่านบันทึกของผู้อื่น ๆ ซึ่งการเรียนรู้ประเภทหลังนี้ช่วยให้มีความรู้ว่าอะไรคือ อะไร และการเรียนรู้จะทำให้เกิดความเชื่อและความเข้าใจว่าอะไรสัมพันธ์กับอะไร อย่างไร โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและผลของพฤติกรรมนั้น ๆ ซึ่งความเชื่อของมนุษย์ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงเสมอไป ทั้งนี้เพราะข้อจำกัดในการสังเกตและการคิดรวมทั้งความซับซ้อนของความสัมพันธ์มีอยู่มาก   หลักการเสริมสร้างปลูกฝังจริยธรรมตามวิธีการของนักทฤษฎีนี้จึงต้องจัดประสบการณ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้เกิดความเชื่อว่า พฤติกรรมอะไรจะนำไปสู่ผลกรรมอะไร และผลกรรมนั้นน่าปรารถนาเพียงไร

.

แรงกดดันต่อการตัดสินใจกับคุณค่าทางจริยธรรม

ผู้บริหารองค์กรในยุคปัจจุบันมักมีแรงกดดันทางสังคมอยู่อย่าง น้อย 6 ประการ ที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาให้เราตัดสินใจ ซึ่งพร้อมที่จะทำให้ผู้บริหารขององค์การนั้นกลายเป็น พระเอก หรือ ผู้ร้าย ในสายตาสาธารณชนได้ทันที สิ่งท้าทายเหล่านี้จะประกอบด้วย 

.

(1)ประเด็นว่าด้วยนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม สาธารณชนต้องการให้ธุรกิจแก้ไขปัญหาให้มีสมดุลระหว่างการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม  ความต้องการใช้พลังงาน และความจำกัดของธรรมชาติ เช่น

(1.1) การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อันตรายลงมาที่ระดับต่ำสอดคล้องกับต้นทุนทางเศรษฐกิจเทคโนโลยี

(1.2) การสงวนพลังงานที่มีอยู่และพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมต่ำเพื่อรักษาการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมในระดับสูงไว้

.

(2)ปัจจัยที่เป็นผลในการทำงาน สาธารณชนต้องการให้ธุรกิจปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และ อิสรภาพส่วนบุคคลของลูกจ้าง ขณะเดียวกันก็เพิ่มพูนความชำนาญในการทำงานที่มีผลผลิตเพิ่มเพื่อให้บรรลุตามต้องการของสังคม ในข้อนี้ธุรกิจจำเป็นจะต้องดำเนินการ เช่น

(2.1)การเพิ่มคุณภาพของชีวิตการทำงาน ลดอัตราอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน และสนับสนุนให้ทุกกลุ่มมีโอกาสในการจ้างงานเท่าเทียมกัน

(2.2) การจัดตั้งสหภาพแรงงานที่ถูกกฎหมายทางด้านการจัดการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการต่อรอง ให้มีความยุ่งเหยิง น้อย ลง

(2.3) เมื่อจะต้องย้ายโรงงาน เพราะเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ จะต้องช่วยเหลือลูกจ้างและชุมชนซึ่งไม่ได้ย้ายตาม

(2.4) ส่งเสริมให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการวางแผนงานออกแบบการทำงาน ไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของลูกจ้าง ปฏิบัติต่อลูกจ้างในฐานะคนๆ หนึ่ง จัดหาสวัสดิการที่เหมาะสม และบำเหน็จบำนาญ 

.

(3)ปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต สังคมต้องการให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพในการเปลี่ยน Economic and Social Inputsเป็น Economic and Social Outputs  ซึ่งผลกระทบของมันจะช่วยให้การปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตทั้งของธุรกิจและสังคมโดยส่วนรวม เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว ภาคธุรกิจถูกคาดหวังให้ดำเนินการเช่น

.

(3.1)ปกครองลูกจ้างด้วยวิธีสร้างสรรค์ และมีบทบาทให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำงานเพื่อจุดประสงค์การเพิ่มผลผลิต

(3.2)ร่วมมือกับสหภาพแรงงานและหน่วยงานรัฐบาลเพื่อลดต้นทุน  
(3.3)ปรับปรุงกฎระเบียบให้ยืดหยุ่น   
(3.4)ปฏิรูปนโยบายเพื่อสนับสนุนการคิดค้นทางเทคโนโลยี  
( 3.5) มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านลบต่อประชาชนชุมชน
.

(4) แรงกดดัน ความต้องการ และความจำเป็นของโลก ประชาชาติของโลกต้องการให้ธุรกิจคำนึงถึง และตอบสนองต่อปัญหาด้านการพัฒนาของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยากจน ซึ่งมีประชากรมากและยากจนเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว จำเป็นต้องดำเนินการ เช่น

(4.1)ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็น ขายสินค้าในราคายุติธรรมในตลาดปิด และตลาดเสรีนานาชาติ  

(4.2)ซื้อวัตถุดิบ สินค้าและบริการ จากประเทศด้อยพัฒนา และในสัดส่วนที่สมเหตุสมผล  

(4.3) เพิ่มลงทุนในประเทศด้อยพัฒนา เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ  การดำเนินงานข้ามชาติจะแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจและความแปรเปลี่ยนของวัฒนธรรม ประเพณีและคุณค่าของผู้อื่น

(4.4) พิจารณาถึงผลกระทบจากการเข้ามาดำเนินงานของต่างชาติ ในด้านการตลาด งาน และชุมชน ความสมดุลระหว่างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจกับต้นทุนที่เกิดจากการเคลื่อนย้าย

.

(5) ความสมดุลระหว่างจริยธรรมและเศรษฐกิจ สังคมต้องการให้ภาคธุรกิจบรรลุผลทั้งด้านเศรษฐกิจ และการมีมาตรฐานด้านจริยธรรมสูงทั้งสองด้านพร้อมๆ กัน เรื่องนี้กว้างมาก ต้องใช้ความพยายามมาก เพื่อให้บรรลุหัวข้อนี้จำเป็นจะต้อง  ประสมประสานจริยธรรมและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน โดยการ

(5.1) ริเริ่มในการนำจริยธรรมมาใช้ในธุรกิจ เพื่อว่าบริษัทอาจจะวางรากฐานบางส่วนบนกฎของกำไรต้นทุนสิทธิมนุษยชน และความเที่ยงธรรมของสังคมใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในการส่งเสริมเป้าหมายของสังคม

(5.2)  คุณค่าและธรรมเนียมไม่ใช่แสวงหาเฉพาะผลกำไรของธุรกิจเพียงอย่างเดียว

(5.3) ปกป้องผลประโยชน์และสิทธิของหุ้นส่วนในฐานะเจ้าของและผู้ให้ทุน

(5.4) เคารพสิทธิของลูกจ้าง ลูกค้า คู่แข่ง และชุมชน โดยป้องกันเขาเหล่านี้จากอันตราย ซึ่งอาจเป็นผลจากการดำเนินงานของบริษัท

(5.5) รับเอาบทบาทที่รับผิดชอบต่อการรักษาและพัฒนาเมืองไว้ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของความศิวิไลซ์ ในขณะเดียวกันก็พยายามลดผลกระทบที่ยุ่งเหยิงจากการตัดสินใจเคลื่อนย้ายทางด้านเศรษฐกิจ 

(5.6)ช่วยเหลือองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ซึ่งเป็นวิถีทาง หนึ่ง ที่ทำให้ชีวิตชุมชนสมบูรณ์พูนสุข

(5.7) หลักความประพฤติ แสดงความเคารพต่อสิทธิของอนุชนรุ่นหลัง โดยการประหยัดการใช้ทรัพยากรทางด้านอุตสาหกรรม

(5.8)  ออกแบบให้ขบวนการผลิตลดอิทธิพลของระบบนิเวศวิทยาด้านลบลง

(5.9) พิจารณาผลกระทบทางด้านลบของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีผลต่อวัฒนธรรม จริยธรรม ธรรมเนียม โดยลดผลกระทบเหล่านี้ลงเท่าที่เป็นไปได้

.

(6) กำหนดหุ้นส่วนทางสังคม  สังคมต้องการให้ภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลและสหภาพแรงงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสังคมที่สำคัญๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ จำเป็นจะต้องดำเนินการ

(6.1)ใช้วิธีการทำงานแบบกระจายจากจุดกลาง ซึ่งจะทำให้เกี่ยวข้องกับทุกกลุ่ม

(6.2) ใช้วิธีร่วมกันแก้ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วไปทั้งในรัฐบาล  ธุรกิจ และแรงงาน

(6.3)ส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการร่วมงานกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มชุมชนต่างๆ แทนที่จะดำเนินงานเพียงหน่วยเดียว

.

การดำเนินงานทางธุรกิจอย่างมีจริยธรรม

จริยธรรมถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญองค์ประกอบ หนึ่ง ของการเพิ่มผลผลิตผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการที่มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ย่อมได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า ผู้ขาย ผู้ถือหุ้น คู่แข่งขัน พนักงาน ข้าราชการและประชาชนทั่วไป ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพราะการเพิ่มผลผลิตโดยยึดหลักจริยธรรม จะไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่เป็นธรรม ทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน นำความสุขความเจริญมายังหน่วยงาน สังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวม

.

ตัวอย่างการดำเนินงานทางธุรกิจอย่างมีจริยธรรมที่สำคัญ 10 ประการ เช่น

(1)ไม่เบียดเบียนลูกค้า ได้แก่ ไม่ปลอมปนสินค้าหรือไม่ส่งสินค้าที่มาตรฐานต่ำกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ไม่กักตุนสินค้าเพื่อขึ้นราคา ไม่ค้ากำไรเกินควร เป็นต้น

(2)ไม่เบียดเบียนผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เช่น ซัพพลายเออร์ (supplier) เวนเดอร์ (vender) เป็นต้น การไม่เบียดเบียน ได้แก่ การไม่กดราคาซื้อให้ต่ำลงมากเกินไป การไม่ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปมากเกินควร การปิดบังข้อมูลบางอย่าง การไม่ตำหนิวัตถุดิบหรือการไม่สร้างหลักฐานเท็จเพื่อเรียกร้องให้ผู้จัดส่งวัตถุดิบชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น

.

(3)ไม่เบียดเบียนพนักงาน ได้แก่ การจ่ายค่าแรงให้อย่างเป็นธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย ตรงต่อเวลา การใช้แรงงานอย่างไม่กดขี่ ทารุณ การจัดสวัสดิการและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม การจัดหาอุปกรณ์ในการทำงานให้ตามสมควรไม่ต้องให้พนักงานไปซื้อหามาเองโดยไม่จำเป็น การไม่เก็บเงินค่าประกันต่าง ๆ จากพนักงานโดยไม่จำเป็น การจ่ายค่าล่วงเวลาให้เมื่อมีการทำงานล่วงเวลาอย่างถูกต้อง เป็นต้น

.

(4)ไม่เบียดเบียนผู้ถือหุ้น ได้แก่การไม่สร้างหลักฐานเท็จหรือไม่สร้างข้องมูลให้ผู้ถือหุ้นหลงผิดในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผลให้ตามสมควร การไม่ปิดบังข้อมูลที่แท้จริง การไม่เอาส่วนเกินมูลค่าหุ้นไปฝากธนาคารไว้กินดอกเบี้ยเฉย ๆ โดยไม่นำไปลงทุนตามที่ได้สัญญาไว้ การไม่นำเงินลงทุนไปใช้ผิดประเภท การตั้งใจบริหารบริษัทให้เต็มความสามารถ การไม่ปั่นหุ้นให้มีราคาสูง เป็นต้น

.

(5)ไม่เบียดเบียนผู้ร่วมงาน ได้แก่ การไม่ปิดบังข้อมูลที่ผู้ร่วมงานหรือบริษัทร่วมทุน ควรจะได้รับรู้การบริหารงานอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา การไม่ทุจริตคอรัปชั่นการไม่เอาเปรียบกินแรงผู้ร่วมงาน เป็นต้น

.

(6)ไม่เบียดเบียนผู้ให้กู้ยืม ได้แก่ การไม่นำเงินที่กู้ยืมไปใช้ผิดข้อตลลง การไม่ยืดระยะเวลาชำระหนี้โดยไม่มีเหตุอันควรการไม่สร้างหลักฐานเท็จเพื่อหลอกลวงผู้ให้กู้ยืม เป็นต้น

.

(7)ไม่เบียดเบียนคู่แข่ง ได้แก่ การไม่ปล่อยข่าวลือหรือไม่สร้างหลักฐานทีเป็นเท็จทำให้คู่แข่งเสียหาย การไม่ปลอมสินค้าคู่แข่ง การไม่ติดสินบนเพื่อแย่งลูกค้าจากคู่แข่ง การปฏิบัติตามข้อตกลงหรือพันธะผูกพันอย่างเคร่งครัด การไม่นอกลู่นอกทางหรือปฏิบัตินอกกติกา เป็นต้น

.

(8)ไม่เบียดเบียนราชการ ได้แก่ การไม่ติดสินบนข้าราชการเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย การจ่ายภาษีถูกต้องตรงความเป็นจริง ไม่มีการทำบัญชี 2-3 ชุด ไม่หลีกเลี่ยงภาษีโดยวิธีการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย การไม่สร้างหลักฐานเท็จเพื่อหลอกลวงทางการ เป็นต้น

.

(9)ไม่เบียดเบียนสังคม ได้แก่ การไม่โฆษณาหลอกลวงหรือไม่โฆษณาเกินจริงหรือไม่โฆษณาให้หลงผิด การไม่ฉวยโอกาสขายของแพง การไม่ผลิตสินค้าหรือบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ เป็นต้น

.

(10)การไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่ทำให้น้ำเสีย ไม่ทำให้อากาศเป็นพิษ การจัดให้มีระบบการจัดการกับของเสียหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น จัดให้มีการจัดการกับกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นต้น  

.
ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมทางธุรกิจ    

เมื่อเกิดความเสียหายในธุรกิจสิ่งที่สังคมแสวงหาคือความรับผิดชอบต่อสังคมและจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ   เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องของรูปแบบของการตีความว่า  พฤติกรรมใดผิดและพฤติกรรมใดถูก สิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ  จริยธรรมเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในทุกสถาบัน มักมีการพูดถึงว่าเราควรมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ  พฤติกรรมดังกล่าวอาทิ การป้องกันไม่ให้ข่าวสารรั่วไหลออกเพื่อผลประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์แก่เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดหรือการไม่ใช้โฆษณาหลอกลวงแก่ผู้บริโภค  หรือการไม่รวมกลุ่มธุรกิจเพียงเพื่อต้องการจะขึ้นราคาสินค้าเท่านั้น  สิ่งเหล่านี้ควรจะเลิกไปเสีย  เพราะเป็นพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ   

.

การพิจารณาสิ่งที่ควรทำและไม่ผิดจริยธรรมนั้นสามารถพิจารณาได้ใน  3  ประเด็นคือ

(1)   เรื่องต้นทุนและผลประโยชน์ ผู้บริหารจะต้องเปรียบเทียบว่าสิ่งที่ตนตัดสินใจปฏิบัติลงไปนั้นจะเกิดต้นทุน ( Cost ) กับผลประโยชน์รับ ( Benefit ) อย่างไร   โดยใช้หลักการผลประโยชน์ต้องมากกว่าต้นทุนที่ลงไป และผลประโยชน์ที่ว่านี้ มิใช่มองแต่ผลกำไรที่จะเข้ามาเท่านั้นแต่ต้องรวมถึงผลประโยชน์ที่จะตกอยู่กับกลุ่มคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย เช่น ผู้บริโภคจะมีความเป็นอยู่ที่ดีหรือไม่ สุขภาพอนามัยและประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้าหรือบริการดีหรือไม่ เหล่านี้หมายถึงผลตอบแทนที่ถูกจริยธรรมและเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา    หากคำตอบเป็นไปในทางบวก คือ นอกจากผลตอบแทนที่เราจะได้แล้ว  ผลประโยชน์ต้องตกอยู่กับคนทั่วไป และมีมากกว่าต้นทุนที่ได้ลงไป  สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือเป็นจริยธรรมที่นักธุรกิจต้องคำนึงถึง  

.

(2)   ต้องไม่ขัดกับสิทธิมนุษยชน   การพิจารณาว่าสิ่งที่ทำเป็นพฤติกรรมที่มีความถูกต้องทางจริยธรรมหรือไม่  ต้องดูว่า สิ่งนั้นขัดกับสิทธิมนุษยชน (Human Right) หรือไม่ อาทิ การกระทำดังกล่าวไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ของมนุษย์ เช่น การแสดงออก สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร สิทธิในการเลือกตั้งหรือการดำเนินชีวิตอย่างอิสระ  สิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย สิทธิส่วนบุคคล ตลอดจนรวมถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีความมนุษย์  ในขณะเดียวกัน หากยังคลุมเครือหรือไม่อาจตัดสินได้อย่างชัดเจน  นั่นหมายถึงว่า การกระทำของรายังคาบเกี่ยวกับปัญหาการขาดจริยธรรมเช่นเดียวกัน

.

(3)  ความเสมอภาคและยุติธรรม     สิ่งที่กระทำจะต้องมีความยุติธรรมและมีความถูกต้อง มีการกระทำอย่างเสมอภาค  โดยเฉพาะในเรื่องจัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ไปยังบุคคลหรือกลุ่มชน  การ กระทำต้องไม่ก่อให้ฝ่าย หนึ่ง ฝ่ายใดได้รับประโยชน์มากกว่าอีกฝ่าย หนึ่ง และไม่ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมกับอีฝ่าย หนึ่ง อาทิ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  หรือเลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนในองค์การหรือพนักงานคนใดคน หนึ่ง เป็นพิเศษ   หรือหากมีใครทำผิดกฎเกณฑ์แล้วไม่ลงโทษหากเรามีการกระทำเช่นนี้ ถือว่าเป็นผู้บริหารที่ไม่มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ 

.

ผู้บริหารกับจรรยาบรรณทางธุรกิจ

จรรยาบรรณทางธุรกิจ (Business Ethics) เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจและกล่าวถึงอยู่เสมอในแวดวงของการบริหารงานยุคใหม่  โดยถือว่าเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายจัดการ จะต้องตระหนักและเสริมสร้างให้เกิดขึ้นกับพนักงานและองค์การของตน

.

จรรยาบรรณทางธุรกิจ มีความหมายครอบคลุมถึงหลักการ  กฎเกณฑ์ที่บ่งบอกว่าพฤติกรรมหรือการกระทำใดที่จัดว่าเป็นพฤติกรรมที่ดี เลว ผิด ถูก ซึ่งจะช่วยให้พนักงานในองค์การ สามารถแยกแยะปฏิบัติได้ว่าการกระทำใดเป็นสิ่งที่ควรกระทำ การกระใดเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ละเว้นหรือไม่ควรปฏิบัติ  การสร้างหลักเกณฑ์นั้นอาจไม่ยากเท่ากับการโน้มน้าวให้พนักงานนำไปปฏิบัติจริง ลักษณะของการประพฤติบางอย่างต้องวินิจฉัยว่าผิดหรือถูกจรรยาบรรณ   ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากพอควรที่จะปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม การประพฤติผิดจรรยาบรรณจะสามารถบรรเทาลงได้หากผู้บริหารให้ความสนใจจริงจังที่จะแก้ไข และกระทำการอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะให้สังคมและองค์การของตนดีขึ้นในอนาคต

.

แนวทางที่ธุรกิจสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดการกระทำที่มีจรรยาบรรณได้นั้นมีอยู่หลายหนทาง อาทิ

(1.) จัดทำสิ่งพิมพ์ที่ระบุว่าสิ่งใดเป็นข้อความปฏิบัติหรือจรรยาบรรณที่พึงประสงค์   สิ่งใดที่องค์การไม่ยอมรับ หรือถือว่าผิดจรรยาบรรณ การระบุเป็นรายลักษณ์อักษรพร้อมกับการจำแนกตัวอย่างให้เห็นอย่างเด่นชัด เป็นวิธีแรกที่ธุรกิจสามารถกระทำได้

.

(2.) จัดให้มีการอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางธุรกิจให้แก่ระดับผู้บริหารหรือระดับหัวหน้า และมอบหมายให้แต่ละคน แต่ละฝ่าย นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดพร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเองทราบและยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

.

(3.) จัดให้มีโครงการยุติธรรมภายในองค์การธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกระทำที่ถูกต้องและขจัดการกระทำที่ไม่ถูกต้องให้หมดไปจากองค์การ อาทิการจัดให้มีการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ที่ได้รับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมจากผู้บริหารหรือจากผู้ร่วมงานต่าง ๆ และเมื่อพิจารณาผลการร้องทุกข์ดังกล่าวแล้วก็จะมีการประกาศผลให้ทราบโดยทั่วกัน ให้พนักงานตระหนักว่าบริษัทให้ความสำคัญกับนโยบายเรื่องนี้ยิ่งไปกว่านั้นยังมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้เป็นตัวอย่างและบรรทัดฐานแก่ผู้อื่นที่จะไม่ทำให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก

.

(4) จัดให้มีคณะกรรมการติดตามสอดส่องการปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณที่ควรจะเป็น หากมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ก็ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้เพื่อวินิจฉัยหาหนทางปรับปรุงแก้ไขและดำการตามแต่กรณีไป

.

(5.) จัดให้มีระบบการตอบแทนหรือการให้รางวัลแก่ผู้ที่มีความประพฤติดี  เหมาะสมแก่องค์การ  ในทางกลับกันกำหนดให้มีบทลงโทษผู้ที่ประพฤติปฏิบัติผิดกฎเกณฑ์โดย  ทุกอย่างต้องกระทำอย่างชัดเจนโปร่งใสให้พนักงานได้ทราบโดยทั่วกัน 

.

บทสรุป

จริยธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทุกด้านขององค์การ การทำงานภายใต้ระบบทุนนิยมและกระแสเศรษฐกิจใหม่ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องจริยธรรมจะสร้างผลกระทบในทางลบได้อย่างรุนแรงและกว้างขวางมากกว่ายุคใด ๆ 

.

แนวทางในการเสริมสร้างปลูกฝังจริยธรรม มีอยู่ 4 รูปแบบ

คือ(1) วิธีการกระจ่างค่านิยม (Value Clarification หรือ VC)

(2)  วิธีการให้เหตุผลทางจริยธรรม (Moral Reasoning หรือ  M R)
(3)  วิธีการปรับพฤติกรรม (Behavior Modification หรือ B M) และ

(4)  วิธีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning หรือ SL)

.

ผู้บริหารองค์กรในยุคปัจจุบันมักมีแรงกดดันทางสังคมอยู่อย่าง น้อย 6 ประการ ที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาให้เราตัดสินใจประกอบด้วย   

(1)  ประเด็นว่าด้วยนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม
(2) ปัจจัยที่เป็นผลในการทำงาน   
(3)  ปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต  

(4) แรงกดดัน ความต้องการ และความจำเป็นของโลก 

(5)ความสมดุลระหว่างจริยธรรมและเศรษฐกิจ และ 

(6)กำหนดหุ้นส่วนทางสังคม 
.

จริยธรรมถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญองค์ประกอบหนึ่งของการเพิ่มผลผลิตผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการที่มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ย่อมได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า ผู้ขาย ผู้ถือหุ้น คู่แข่งขัน พนักงาน ข้าราชการและประชาชนทั่วไป การดำเนินงานทางธุรกิจอย่างมีจริยธรรมที่สำคัญมี 10 ประการ เช่น

(1)ไม่เบียดเบียนลูกค้า
(2)ไม่เบียดเบียนผู้จัดส่งวัตถุดิบ
(3)ไม่เบียดเบียนพนักงาน
(4) ไม่เบียดเบียนผู้ถือหุ้น 
(5) ไม่เบียดเบียนผู้ร่วมงาน

(6) ไม่เบียดเบียนผู้ให้กู้ยืม

(7)ไม่เบียดเบียนคู่แข่ง

(8) ไม่เบียดเบียนราชการ  
(9) การไม่เบียดเบียนสังคม  และ 
(10) ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม
.

เมื่อเกิดความเสียหายในธุรกิจสิ่งที่สังคมแสวงหาคือความรับผิดชอบต่อสังคมและจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ   เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องของรูปแบบของการตีความว่า  พฤติกรรมใดผิดและพฤติกรรมใดถูก  การพิจารณาสิ่งที่ควรทำและไม่ผิดจริยธรรมนั้นสามารถพิจารณาได้ใน  3  ประเด็นคื

(1)   เรื่องต้นทุนและผลประโยชน์
(2)   ต้องไม่ขัดกับสิทธิมนุษยชน   และ
(3)  ความเสมอภาคและยุติธรรม    
.

จรรยาบรรณทางธุรกิจ มีความหมายครอบคลุมถึงหลักการ  กฎเกณฑ์ที่บ่งบอกว่าพฤติกรรมหรือการกระทำใดที่จัดว่าเป็นพฤติกรรมที่ดี เลว ผิด ถูก  แนวทางที่ธุรกิจสามารถนำไปปฏิบัติให้เกิดการกระทำที่มีจรรยาบรรณได้นั้นมีอยู่หลายหนทาง คือ

(1)   จัดทำสิ่งพิมพ์ที่ระบุว่าสิ่งใดเป็นข้อความปฏิบัติหรือจรรยาบรรณที่พึงประสงค์
(2)  จัดให้มีการอบรมและสัมมนาเกี่ยวกับจรรยาบรรณทางธุรกิจ
(3) จัดให้มีโครงการยุติธรรมภายในองค์การธุรกิจ เพื่อที่จะให้เป็นตัวอย่างและบรรทัดฐานแก่ผู้อื่น  
(4)  จัดให้มีคณะกรรมการติดตามสอดส่องการปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณ และ

(5)  จัดให้มีระบบการตอบแทนหรือการให้รางวัลแก่ผู้ที่มีความประพฤติดี ในทางกลับกันกำหนดให้มีบทลงโทษผู้ที่ประพฤติปฏิบัติผิดกฎเกณฑ์

.

โดยสรุปจริยธรรมคือหลักความประพฤติ แนวทาง แบบแผน หรือหลักการที่ว่าด้วยความดีงามซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักการของศาสนา ยึดประโยชน์ส่วนรวมหรือหลักของการพัฒนาประเทศเพื่อความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข การปลูกฝังจริยธรรมเปรียบเสมือนการพัฒนาคุณภาพจิตที่มีอิทธิพลต่อความประพฤติของมนุษย์ในสังคม

.

บรรณานุกรม

- กองวิจัยการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ . ระบบการศึกษาไทยในรอบ 200 ปี : สมรรถนะของระบบและผลกระทบและแนวโน้มในอนาคต . สำนักนายกรัฐมนตรี . กรุงเทพฯ .  ...

- ชัยพร   วิชชาวุธ.  แนวทางการพัฒนาจริยธรรมตามทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม  จริยธรรมกับการศึกษา.  ธีระพร  อุวรรณโณ,  บรรณาธิการ.  กรุงเทพมหานคร : คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2530.

- ดวงเดือน  พันธุมนาวิน  และเพ็ญแข  ประจนปัจจนึก.  รายงานการวิจัยเรื่อง  จริยธรรมของเยาวชนไทย.  กรุงเทพมหานคร :  โรงพิมพ์การศาสนา,  2520.

- วริยา  ชินวรรณโณ . จริยธรรมในวิชาชีพ.เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง จริยธรรมในวิชาชีพ วันที่ 24 26  มีนาคม  2541 โรงแรมเอเซีย กรุงเทพมหานคร .

- สุมน   อมรวิ วัฒน์ . การสอนโดยการสร้างศรัทธา และโยนิโสมนสิการ . กรุงเทพมหานคร  : โอเดียนสโตส์ , 2530.

- Boninger,  David S.  “Origins of Attitude Importance :  Self-Interest, Social Identification. And  Value Relevance.”  Journal of Personality and Social Psychology.  Volume 68.  1995  : 61-80.

- Super,  Donald E.  “The  Work Values  Inventory.”  In Contemporary Approaches to Interest Measurement.  Pp. 189-205.  Edited by Donal G. Zytowski.  Minneapolis : University of Minnesota Press, 1973.