เนื้อหาวันที่ : 2007-05-14 13:16:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4698 views

จรรยาบรรณของที่ปรึกษา

งานที่ปรึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่ถูกต้อง ตลอดจนประกันมาตรฐานของการให้บริการคำปรึกษาแนะนำเป็นไปอย่างเหมาะสมและเกียรติของที่ปรึกษา

จรรยาบรรณเป็นเรื่องที่หลายวงการกล่าวถึงกันมาก ทั้งในหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน และมักถูกเรียกร้องจากสังคมเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของทุกวิชาชีพอยู่แล้ว แต่มักจะถูกละเลยจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เพราะคำนึงถึงผลประโยชน์มาก่อนมากกว่า ดังนั้นปัญหาเช่นนี้จึงไม่หมดสิ้นไปจากวงการ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีกิเลสหนาอยู่ ทั้งความโลภหลงกับความมักมาก ในสิ่งที่ต้องการเกินความถูกต้อง ใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตนเองและพวกพ้อง (คนพวกนี้ลืมคิดไปว่าตายไปแล้วเอาไปไม่ได้สักอย่าง) หากจะกล่าวถึงจรรยาบรรณของที่ปรึกษาพอจะให้ความหมายได้ว่า เป็นหลักเกณฑ์ที่ควรประพฤติปฏิบัติของที่ปรึกษา เพื่อให้การดำเนินงานที่ปรึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่ถูกต้อง ตลอดจนประกันมาตรฐานของการให้บริการคำปรึกษาแนะนำเป็นไปอย่างเหมาะสมและเกียรติของที่ปรึกษา ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องทราบว่าวิชาชีพนี้ ยึดถือสิ่งใดเป็นสิ่งพึงประพฤติปฏิบัติ นอกจากนั้นจะต้องมีข้อกำหนดบรรทัดฐานทางด้านจรรยาบรรณและการประพฤติปฏิบัติที่ชัดเจน ที่เป็นมาตรฐานทางอาชีพนำมาใช้ในวงการที่ปรึกษา พอมีแนวทางการประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณของที่ปรึกษาดังนี้

.

1. ไม่ปิดบังข้อมูลที่แท้จริง

การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริงเกี่ยวกับประวัติที่ปรึกษาและบริษัทที่ที่ปรึกษาสังกัดอย่างตรงไปตรงมาแก่ผู้ขอรับบริการ โดยไม่ปรุงแต่งหรือปิดบังอำพรางใด ๆ ทั้งสิ้น เพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งขัดต่อจรรยาบรรณของที่ปรึกษา ผู้ขอรับบริการมีสิทธิที่จะตรวจสอบหรือสอบถามข้อมูลเหล่านี้ได้ จากหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนที่ที่ปรึกษาเหล่านี้เคยไปทำงานมาก่อนหน้านี้ ในกรณีที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเพื่อความแน่ใจ หรือตรวจสอบจากผู้ขอรับบริการจากผู้ที่เคยขอรับบริการมาก่อนหน้านี้ก็ได้เช่นกัน การให้ข้อมูลแก่ผู้ขอรับบริการก่อนเซ็นต์สัญญาว่าจ้างจะอยู่ในขอบเขตดังต่อไปนี้

.

- ประวัติการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเป็นที่ปรึกษาของตัวที่ปรึกษาหรือทีมที่ปรึกษา

- ความสามารถและชนิดของงานที่ที่ปรึกษาสามารถทำได้

- ผลงานที่เคยทำให้แก่อดีตผู้ขอรับบริการ (การอ้างอิงโดยสัญญาว่าจ้างของอดีตผู้ขอรับบริการ)

- ความพร้อมของทีมที่ปรึกษาในการจะปฏิบัติภารกิจร่วมกันระหว่างที่ปรึกษากับผู้ขอรับบริการทั้งเวลา บุคลากรและประสบการณ์ในการทำงาน

- ค่าใช้จ่ายและแผนงานตลอดทั้งโครงการที่ชัดเจน

.

นอกจากนี้ที่ปรึกษาจะต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในการปฏิบัติงาน โดยไม่พยายามบิดเบือนข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้ขอรับบริการพึงพอใจในผลการปฏิบัติงานนั้น ๆ ด้วย

.

2. ยึดถือความเป็นกลาง

ที่ปรึกษาจะต้องยึดถือความเป็นกลาง ที่สามารถตอบสนองผลประโยชน์ของผู้ขอรับบริการได้ ความเป็นกลางอย่างตรงไปตรงมา โดยปราศจากความลำเอียงตลอดช่วงภารกิจ ย่อมหมายถึงความเป็นมืออาชีพที่จะให้ความคิดเห็นอย่างอิสระที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง แม้ว่าบางครั้งความคิดเห็นจะแตกต่างไปจากสิ่งที่ผู้ขอรับบริการอยากได้ยินและเสี่ยงต่อการทำให้ระคายเคืองก็ตาม ในฐานะของที่ปรึกษาจะต้องแสดงเหตุผลที่มีข้อมูลสนับสนุนต่อผู้ขอรับบริการได้อย่างถูกต้อง การยึดถือความเป็นกลางหมายถึงที่ปรึกษาต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในขององค์กรของผู้ขอรับบริการเด็ดขาด นอกจากนั้นที่ปรึกษายังต้องควบคุมตนเองให้ได้ เพื่อให้การบริการไม่ดำเนินไปด้วยอารมณ์หรืออคติ

.

กรณีผู้ขอรับบริการราย หนึ่ง ที่ผู้เขียนเคยให้คำปรึกษา ต้องยอมรับว่าเป็นสถานประกอบการที่ผู้เขียนวางตัวลำบากมาก เพราะต้องรักษาความเป็นกลางและเป็นอิสระในการทำงาน โดยไม่ถูกมองว่าลำเอียงเข้าข้าง หนึ่ง ข้างใด ระหว่างเจ้าของกิจการผู้เป็นพ่อกับลูกชายที่เรียนจบปริญญาโทบริหารธุรกิจจากอเมริกา ที่มีความคิดเห็นในการทำงานแตกต่างกันมาก ทำให้เกิดการเมืองเล็ก ๆ ขึ้นภายในองค์กร ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีแนวคิดของตนเอง ในที่สุดผู้เขียนต้องอาศัยประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการนำข้อมูลการปฏิบัติงานของทั้งสองฝ่าย มาเป็นแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์ ห้ามใช้อารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวมาคาดเดาเหตุการณ์

.

3. รักษาความลับของผู้ขอรับบริการ

เป็นเรื่องปกติที่ผู้ขอรับบริการมักจะกังวลกับข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัท ที่อาจจะรั่วไหลออกไปสู่ภายนอกจา กบ ุคคลใดบุคคล หนึ่ง โดยเฉพาะบุคคลที่เขาไว้ใจมากที่สุดและยอมเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้รับรู้ ดังนั้นที่ปรึกษาจะต้องเก็บรักษาข้อมูลข่าวสารไว้เป็นความลับ และมีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของตนเอง โดยไม่นำข้อมูลไปขายหรือเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ขอรับบริการรายอื่น ที่อาจทำธุรกิจอย่างเดียวกันอย่างเด็ดขาด เพื่ออาศัยประโยชน์จากข้อมูลอันเป็นความลับขององค์กรของผู้ขอรับบริการรายก่อนหน้านี้ไปสร้างผลประโยชน์แก่ตัวที่ปรึกษา การกระทำเช่นนั้นดุจเช่นเดียวกับมิจฉาชีพทางธุรกิจ ที่ผู้ขอรับบริการไม่อาจวางใจได้ต่อไป แม้กฎข้อนี้จะมีความชัดเจนมาก แต่อาจมีความยากลำบากในเชิงปฏิบัติกล่าวคือ

.

- ข้อมูลที่เป็นความลับผู้ขอรับบริการควรแจ้งให้ที่ปรึกษารับรู้อย่างตรงไปตรงมา และขอให้ที่ปรึกษาเก็บรักษาความลับของผู้ขอรับบริการไว้เป็นอย่างดี

- ที่ปรึกษาจะนำประสบการณ์จากภารกิจที่เคยปฏิบัติในอดีต มาใช้ในการทำงานกับผู้ขอรับบริการในปัจจุบันได้ แต่ต้องไม่เปิดเผยของข้อมูลที่เป็นความลับเฉพาะของผู้ขอรับบริการก่อนหน้านี้เช่น สูตรการผลิต ต้นทุนการผลิต ค่ามาตรฐานในการปฏิบัติงาน การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน ฐานข้อมูลลูกค้าเป็นต้น

-  ผู้ขอรับบริการอาจไม่ประสงค์ให้ที่ปรึกษาเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัท ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับภารกิจ ผู้ขอรับบริการควรพูดเรื่องนี้กับที่ปรึกษาเสียแต่เนิ่น  ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด

.

การค้นพบหรือการวิจัยที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับผู้ขอรับบริการ ไม่ควรมีการนำไปเผยแพร่สู่บริษัทอื่น โดยที่ผู้ขอรับบริการก่อนหน้านี้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว

.

ดังกรณีตัวอย่างที่ผู้เขียนประสบกับผู้ขอรับบริการราย หนึ่ง ที่ให้ความไว้วางใจแก่ทีมที่ปรึกษามาก ถึงกับยอมเปิดเผยต้นทุนการผลิตสินค้าของเขาทุกขั้นตอน จากสมุดบัญชีต้นทุนทำให้ทีมที่ปรึกษาสามารถวิเคราะห์รายรับรายจ่ายในการผลิตที่เป็นความลับของบริษัทได้ทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ผู้ขอรับบริการยังไม่ได้แสดงความวิตกกังวลต่อสิ่งเหล่านั้นเลย ดังนั้นจึงห้ามทีมที่ปรึกษาถ่ายเอกสารใด ๆ ที่เกี่ยวกับบัญชีการเงินของผู้ขอรับบริการออกนอกบริษัทเด็ดขาด ขอให้เป็นความลับที่เห็นภายในกิจการเท่านั้น ภารกิจของเราเพียงบอกข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทและให้คำแนะนำปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้นในอนาคตเท่านั้น

.

4. หลีกเลี่ยงความขัดแย้งในผลประโยชน์

คงไม่มีใครกล้าที่จะบอกให้ที่ปรึกษากระทำบางอย่าง ที่เป็นผลจากการให้คำปรึกษาแนะนำไปในทางที่มิชอบ และมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง ยกเว้นแต่ว่าที่ปรึกษาคนนั้นเป็นมิจฉาชีพทางธุรกิจ ฉกฉวยโอกาสคราบการเป็นที่ปรึกษาเข้ามาหากิน ความขัดแย้งในผลประโยชน์ภายในองค์กรเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความซับซ้อนในเชิงการบริหารมากขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ ก็จะมีขอบข่ายกว้างขวางขึ้นตามไปด้วย ย่อมจะมีผลประโยชน์เป็นตัวชี้นำ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายในองค์กรบ่อย ๆ ในแง่ของความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ที่ปรึกษาจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารงาน และอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารภายองค์กรให้ดี เพราะความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์อาจจะเกิดขึ้นได้จากการบริหารงานหรือความบกพร่องในหน้าที่ของผู้บริหารเอง ที่ปรึกษาจะต้องให้คำแนะนำโดยอาศัยหลักวิชาการพร้อม ๆ กับการสร้างระบบที่เป็นมาตรฐานมารองรับการปฏิบัติงานนั้น

.

นอกจากนี้หากมีผู้ขอรับบริการคาดหวังให้ที่ปรึกษาทำงานให้แก่บริษัทผู้ขอรับบริการ ที่ใช้วิธีทำธุรกิจแบบไม่เป็นธรรมต่อพนักงานและเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายแก่ชีวิต ที่ปรึกษามืออาชีพจะเลี่ยงต่อการเข้าไปพัวพันในสถานการณ์เช่นนี้ โดยปกติจะแสดงให้ผู้ขอรับบริการทราบว่า เขารู้ความจริงแล้วและหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็จะถอนตัวจากภารกิจนั้นทันที

.

หรือในกรณีที่ผู้ขอรับบริการต้องการให้ที่ปรึกษาสนับสนุนหรือบอกข้อมูลอันเป็นความลับ ซึ่งที่ปรึกษาได้มาจากการดำเนินภารกิจแก่ผู้ขอรับบริการรายอื่นก่อนหน้านี้ ที่ปรึกษาไม่ควรละเลยต่อมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ เพราะว่าเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวของผู้ขอรับบริการ จึงควรยุติกระบวนการให้บริการคำปรึกษาลงเสีย ความขัดแย้งที่เกิดจากการจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมแก่พนักงานของผู้ประกอบการราย หนึ่ง      ที่ผู้เขียนบังเอิญมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องโดยมิได้ตั้งใจ ซึ่งอยู่นอกเหนือภารกิจหลักของการให้บริการคำปรึกษาในโครงการ  ทำให้สถานการณ์ตอนนั้นค่อนข้างตึงเครียดมาก ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ทางออกของความขัดแย้งในผลประโยชน์คือ ให้ผู้ประกอบการยึดถือตามกฎหมายแรงงานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐานและอัตราค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน โดยที่ปรึกษาจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลได้ผลเสียของแต่ละฝ่าย

.

5.  มีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ให้คำปรึกษาและต่อสังคมทุกระดับ

การให้คำปรึกษาของที่ปรึกษาแก่ผู้ขอรับบริการ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อคำแนะนำที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ในกระบวนการให้คำปรึกษานั้นมีเป้าหมายที่จะพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกหรือชุมชนรอบข้าง โดยเฉพาะจรรยาบรรณวิชาชีพที่ปรึกษาจะไม่กระทำสิ่งใดที่ผิดไปจากมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือพยายามฝ่าฝืนกฎระเบียบข้อบังคับใด ๆ ของกฎหมาย หากผู้ขอรับบริการขอให้ที่ปรึกษาปฏิบัติที่ไม่เป็นมาตรฐานและขาดจรรยาบรรณเหล่านี้ ที่ปรึกษาจะต้องอธิบายถึงผลกระทบดังกล่าวให้ผู้ขอรับบริการเข้าใจ อย่าได้กระทำใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบในทางเสียหายต่อชื่อเสียงของตัวที่ปรึกษาเองเด็ดขาด

.

กรณีโรงงานผลิตสารเคมีฟอกหนังแห่งหนึ่ง ที่พยายามลดต้นทุนในการบำบัดน้ำเสียภายในโรงงาน โดยการลักลอบปล่อยน้ำเสียออกนอกโรงงาน เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กรมโรงงานกำหนด ทั้ง ๆ ที่ทราบดีอยู่แล้ว พฤติกรรมของผู้ประกอบการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงทันทีต่อสภาพแวดล้อมในขณะนั้น แต่เป็นการกระทำที่เอาเปรียบต่อสังคมที่ไม่ถูกต้อง ที่ปรึกษาควรให้ผู้ขอรับบริการทราบข้อเท็จจริงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และหากไม่มีการเปลี่ยนใด ๆ เกิดขึ้นก็ควรจะถอนตัวจากภารกิจนั้นทันที เพราะมิฉะนั้นที่ปรึกษาอาจจะเป็นส่วน หนึ่ง ของการกระทำที่ขัดต่อจรรยาบรรณในวิชาชีพ

.

กล่าวโดยสรุปจรรยาบรรณของที่ปรึกษา จะต้องพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของกระบวนการ หากที่ปรึกษาได้โครงการให้คำปรึกษามาด้วยความไม่โปร่งใส อาจจะผ่านการเจรจาต่อรองค่านายหน้าหรือหัวคิวที่ไม่ชอบธรรม จากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนก็แล้วแต่ ย่อมมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาไม่มากก็ น้อย เช่น การตรวจรับงานหรือการยอมรับผลงานของที่ปรึกษาอาจหย่อนด้อยคุณภาพลงไปบ้าง ดังนั้นเพื่อเป็นบรรทัดฐานของวิชาชีพที่ปรึกษา สำหรับผู้ที่จะเข้ามาในวงการนี้จะต้องปฏิบัติ จึงต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณวิชาชีพที่ปรึกษาไว้อย่างเคร่งครัด แต่ในความเป็นจริงแล้วยากที่จะควบคุมได้ ดังนั้นผู้ขอรับบริการจะต้องตรวจสอบข้อมูลที่มาที่ไปของตัวที่ปรึกษาและหน่วยงานที่ที่ปรึกษาสังกัดด้วยตัวเองให้แน่ใจ เพื่อความมั่นใจว่าอย่าง น้อย ไม่ได้นำพวกมิจฉาชีพเข้ามาในองค์กร ในคราบของผู้เชี่ยวชาญที่แอบอ้างมาจากสถาบันการศึกษาหรือบริษัทเอกชนที่น่าเชื่อถือดังกล่าว เพื่อนำชื่อเสียงของหน่วยงานนั้นมาทำมาหากิน และเป็นการป้องกันความเสียหายหรือความผิดพลาด ที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์กรได้ในอนาคต