เนื้อหาวันที่ : 2007-05-14 11:59:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2057 views

ปตท.สผ.กำไรไตรมาสแรกลดพันล. เร่งเครื่องโครงการอาทิตย์กลางอ่าวไทย

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. PTTEP ได้รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2550 ปรากฏบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 6,771 ล้านบาท ลดลง 1,068 ล้านบาท

ในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. PTTEP ได้รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2550 ปรากฏบริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 6,771 ล้านบาท ลดลง 1,068 ล้านบาท หรือร้อยละ 14 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนจำนวน 7,839 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (return on shareholder"s equity) อยู่ที่ร้อยละ 30.32

.

ทั้งนี้ บริษัท ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,270 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 22,693 ล้านบาท ลดลง 1,423 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 สาเหตุหลักที่ PTTEP มีรายได้ลดลงมาจาก

.

1)ภาวะของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 36.15 บาท/เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 39.73 บาท/เหรียญสหรัฐ ถึงแม้ว่าราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเฉลี่ยจะสูงขึ้นเป็น 35.43 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบจาก 34.28 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลก็ตาม แต่ค่าเงินบาทที่ แข็งค่าขึ้นส่งผลให้รายได้ที่เป็นเงินบาทลดลง

.

2)ปริมาณการขายในไตรมาสนี้ลดลงอยู่ที่ 171,170 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 171,508 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยรายได้ที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากการขายก๊าซธรรมชาติของโครงการเยตากุน และการขายน้ำมันดิบของโครงการ B8/32&9A กับโครงการบงกช ผลิตคอนเดนเสตได้น้อยกว่า ที่ คาดไว้ รวมไปถึงโครงการโอมาน 44 เริ่มผลิตล่าช้า

.

แต่ขณะเดียวกัน ในไตรมาสนี้มีปริมาณ การขายที่เพิ่มขึ้นจากการขายก๊าซธรรมชาติของโครงการยาดานา และก๊าซธรรมชาติ/ คอนเดนเสตของโครงการภูฮ่อม ในจังหวัดอุดรธานี สำหรับฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 172,428 ล้านบาท เพิ่มจากสิ้นปีก่อนจำนวน 14,615 ล้านบาท หรือร้อยละ 9

.
ตั้งแท่นผลิตโครงการอาทิตย์

สำหรับความคืบหน้าในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ PTTEP ในไตรมาสที่ 1 ทั้งแหล่งในและนอกประเทศ ปรากฏ โครงการอาทิตย์ได้มีการดำเนินการที่คืบหน้าไปกว่า 81% โดยดำเนินการขุดเจาะหลุมผลิตในโครงการอาทิตย์ไปแล้ว 68 หลุม เบื้องต้นพบว่ามีปริมาณและคุณภาพก๊าซธรรมชาติตามที่คาดไว้ และ ในปี 2550 นี้ ปตท.สผ.จะขุดเจาะหลุมผลิตที่เหลืออีก 10 หลุมภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ตามแผนการพัฒนาโครงการอาทิตย์ระยะที่ 1

.

ซึ่งแผนพัฒนาดังกล่าว ก่อนหน้านี้ได้เลื่อนจากกำหนดเดิมไปถึง 6 เดือน เนื่องจากปัญหาการ ส่งมอบอุปกรณ์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิต ณ แหล่งผลิตล่าช้า เหตุจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั่วโลกเพิ่มขึ้น ความต้องการด้านอุปกรณ์ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นกัน ในขณะที่บริษัท ผู้ผลิตเครื่องมือไม่สามารถรองรับความต้องการทั้งหมดได้

.

ทั้งนี้ โครงการอาทิตย์ได้เตรียมที่จะติดตั้ง "แท่นผลิต" ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลายปีนี้ โครงการมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งการก่อสร้างแท่นอุปกรณ์การผลิตและด้านการขุดเจาะหลุมผลิต โดยได้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตแล้ว (wellhead platform) 6 แท่น วางท่อก๊าซไปแล้ว 5 เส้น ท่อคอนเดนเสต 1 เส้น ติดตั้งขาตั้งแท่นผลิตกลาง ขาตั้งแท่นที่พักอาศัย และ flare tripod แล้ว สำหรับแท่นผลิตกลาง (central processing platform) ได้แล้วเสร็จไปกว่าร้อยละ 81

.

ถือเป็นแท่นผลิตที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 16,800 ตัน และคาดว่าจะสามารถติดตั้งแท่นผลิตหลักนี้ได้ในปลายปี 2550 โดยจะติดตั้งด้วยวิธี float-over installation method ซึ่งเป็นการติดตั้งด้วยวิธีนี้เป็นครั้งแรกในอ่าวไทย วิธีนี้ยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการติดตั้งได้ด้วย

.
แหล่งผลิตก๊าซโครงการลันตา/สิมิลัน

นอกจากนี้ บริษัท ปตท.สผ.ยังได้รับสิทธิในการลงทุนเพิ่มเติม แหล่งน้ำมันดิบในอ่าวไทย แปลง G 4/43 รวมถึงได้รับสิทธิในการเพิ่มสัดส่วนการร่วมทุนในแปลง G 4/43 จากเดิม ร้อยละ 15 เพิ่มเป็นร้อยละ 21.375 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดผลประโยชน์พิเศษตามสัมปทานปิโตรเลียม

.

เมื่อมีการค้นพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์แล้ว บริษัท ปตท.สผ.จะได้รับสิทธิการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกตามสัดส่วน แปลง G 4/43 ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดชุมพร พื้นที่ประมาณ 9,686 ตารางกิโลเมตร สัมปทานดังกล่าวได้รับมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน

.

กลุ่มผู้รับสัมปทานที่ประกอบด้วย บริษัท เชฟรอน (ผู้ดำเนินการ) ร้อยะ 51, บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ ปตท.สผ.ร้อยละ 21.375, บริษัท โมเอโกะ ร้อยละ 21.25 และบริษัท พลังโสภณสอง จำกัด ร้อยละ 6.375 ได้เริ่มงานสำรวจทางธรณีวิทยาและงานเจาะหลุมสำรวจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงสร้างลันตากับโครงสร้างสิมิลัน โดยได้เจาะสำรวจไปแล้ว 6 หลุม พบทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ

.

โดยกลุ่มผู้รับสัมปทานได้ยื่นขอพื้นที่ผลิตเพื่อพัฒนา "แหล่งลันตา" เป็นลำดับแรก และได้รับอนุมัติจากกระทรวงพลังงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเตรียมเจาะหลุมผลิต คาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศได้ในปลายปี 2550 ในระดับ 6,000-8,000 บาร์เรล/วัน หลังการได้รับสิทธิเพิ่มเติมครั้งนี้

.
ขุดทรัพย์ใหม่แปลง M9 ในพม่า

บริษัท ปตท.สผ.ยังประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจ แปลง M9 ในประเทศสหภาพพม่า ปรากฏพบก๊าซ 4 หลุม โดย ปตท.สผ.ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจในแปลง M9 ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ที่ได้ขุดเจาะสำรวจมาตั้งแต่ ปี 2548-2550 ก๊าซที่พบใน 4 หลุมได้แก่ หลุมซอว์ติกะ-1A (Zawtika-1A), หลุมกอว์ทะกะ-1 (Gawthaka-1), หลุมกากอนนะ-1 (Kakonna-1) และหลุมซอว์ติกะ-2 (Zawtika-2)

.

ที่สำคัญขณะนี้บริษัท ปตท.สผ.กำลังอยู่ระหว่างการขุดหลุมประเมินผลจำนวน 4-5 หลุม คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2550 เพื่อสำรวจปริมาณสำรองปิโตรเลียมขั้นต้น พร้อมกับเริ่มวางแผนที่จะพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในแปลง M9 มีเป้าหมายที่จะเริ่มการผลิตก๊าซเพื่อใช้ในประเทศพม่าเองส่วนหนึ่ง และส่งเข้าประเทศไทยส่วนหนึ่งในปี 2554 หรือปี 2555

.
น้ำมันดิบฝีมือคนไทยที่โอมาน 44

ด้าน นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สผ. แสดงความเชื่อมั่นว่า ปริมาณการผลิตและปริมาณการขายปิโตรเลียมของบริษัท ปตท.สผ.จะสามารถเพิ่มขึ้นได้ตาม เป้าหมายภายในปีนี้ เนื่องจากการผลิต คอนเดนเสตจากโครงการบงกช และน้ำมันดิบจากโครงการนางนวล ซึ่งได้เริ่มค้นพบน้ำมันดิบใน หลุมใหม่เมื่อต้นปี พ.ศ.2550

.

จะสามารถเสริมผลผลิตได้ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ขณะที่โครงการโอมาน 44 ซึ่งได้เริ่มการผลิตแล้ว ก็จะช่วยเสริมปริมาณการผลิตได้อีกส่วนหนึ่ง โดยเรือบรรทุกน้ำมันที่บรรทุกน้ำมันดิบที่ ปตท.สผ.ผลิตได้จากโครงการโอมาน 44 ลอตแรกจะเดินทางมาถึงประเทศไทยในเดือนมิถุนายนนี้ นับเป็นน้ำมันดิบที่ขุดโดยบริษัทของ คนไทย จะถูกลำเลียงเข้าประเทศเป็นครั้งแรก

.

นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังมีการขุดสำรวจปิโตรเลียมในประเทศอิหร่าน ในโครงการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมแปลงซาเวห์ (Saveh) ในพื้นที่ 13,500 ตารางกิโลเมตร ห่างจาก กรุงเตหะรานไปทางทิศใต้ 200 กิโลเมตร

.

ทั้งนี้ แปลงซาเวห์ ดังกล่าว ทาง PTTEP ได้ดำเนินการวัดความเคลื่อนไหวสะเทือนแบบ 2 มิติ และดำเนินการจุดเจาะหลุมสำรวจไปแล้วจำนวน 1 หลุม รวมทั้งการตั้งสำนักงานประจำในพื้นที่ด้วย

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ