เนื้อหาวันที่ : 2007-05-14 11:40:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2498 views

3 มาตรการหลักเพื่อบริหารบุคลากรของโครงการ

การได้ทีมงานที่สามารถปฏิบัติงานได้พร้อมทำให้โครงการนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ หรือสำเร็จลุล่วงแต่ในสภาพของความเป็นจริงค่อนข้างจะเป็นการยาก

จนถึงเวลานี้หลาย ๆ คนคงรับรู้แล้วว่าด้วยราคาน้ำมันที่แพงขึ้นตามสภาวการณ์ของตลาดโลก ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็พลอยขึ้นราคาตามกันติด ๆ  การประหยัดจึงผุดขึ้นมาในสำนึกของเราด้วยสภาวะเหตุการณ์บังคับ หลายคนที่เคยใช้รถใช้น้ำมันก็ต้องมาคำนวณถึงจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายไป หลายคนที่เคยกินใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ก็ลด ๆ การใช้จ่ายลง นอกจากนี้คำว่าประหยัด ยังถูกบรรจุเข้าสู่วาระของมาตรการประหยัดพลังงาน เช่น ขับรถไม่เกิน 90 กม./ชม. ปิดแอร์ช่วงพักเที่ยง ปิดปั๊มตั้งแต่ 4 ทุ่ม ฯลฯ ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อเป็นการลดการใช้น้ำมัน ที่ประเทศเราไม่สามารถผลิตได้เองและลดการขาดดุลกับต่างชาติ                                         

.

หลายท่านอาจจะยังจำได้ว่าในวันแรกของการรณรงค์ประหยัดพลังงานด้วยการปิดไฟนั้น มีการถ่ายทอดถึงบรรยากาศของการปิดไฟที่ไม่ใช้งาน  จากสภาพตึกรามบ้านช่องที่สว่างก็พลันทยอยปิดไฟ ถึงแม้จะมืดไปชั่วครู่แต่ในช่วงนั้นปรากฏว่าประหยัดพลังงานไปได้มากเลยทีเดียว และจากมาตรการที่รัฐได้กำหนดให้มีการประหยัดพลังงาน ก็เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยชาติแต่ผลดีที่สุดแล้วน่าจะตกกับประชาชนผู้ที่ยึดในมาตรการประหยัด  เพราะนอกจากจะช่วยชาติแล้วยังช่วยเงินในกระเป๋าของตัวเองได้อีกด้วย 

.
การกำหนดมาตรการสำหรับบริหารบุคลากร
จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันนอกจากการแข่งขันทางด้านธุรกิจแล้ว  ผู้ดำเนินกิจการหรือเจ้าของโครงการต่าง ๆ ยังจะต้องคิดหาวิธีที่จะไม่ต้องปิดกิจการหรือยุติโครงการ  ปัจจัยหนึ่ง ก็คือ การคัดเลือกบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาสู่โครงการ  อาจจะเป็นเรื่องยากหากไม่มีแนวทางในการดำเนินการ ดังนั้น จึงขอแนะนำ 3 มาตรการที่จะช่วยให้สามารถคัดเลือกบุคลากรและนำไปสู่การทำงานที่มีคุณภาพเหมาะสมกับแต่ละโครงการ 
.

มาตรการที่  1 พิจารณาแนวทางขององค์กร

คงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงต้องมีการพิจารณาแนวทางขององค์กร  เพราะไม่ว่าจะดำเนินการอะไรก็แล้วแต่เป้าหมายขององค์กร ถือเป็นจุดประสงค์หลักของการดำเนินการในทุก ๆ อย่าง และโดยเฉพาะหากต้องการจัดบริหารงานด้านบุคคล การพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการขององค์กรถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  เพราะหากเลือกเอาบุคลากรที่องค์กรไม่ต้องการก็ไม่สามารถนำเอาความสามารถของบุคคลนั้น ๆ เข้าไปใช้ในโครงการได้เช่นเดิม   

.
ข้อพิจารณาในการกำหนดมาตรการ           
.
โดยแนวทางของมาตรการนี้จะเน้นในเป้าหมายของการกำหนดภาพรวมในความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับบุคลากรโดยเน้น 3 รายการต่อไปนี้   

1. พิจารณาจากรูปแบบของโครงการ การพิจารณาจากรูปแบบของโครงการจะทำให้ทราบถึงสภาพปัจจุบันขององค์กร และบ่งชี้ถึงบุคลากรที่เหมาะจะเข้ามาร่วมงานได้ ในการพิจารณารูปแบบของโครงการนั้นอาจพิจารณาจากหลาย ๆ แนวทาง เช่น เงินงบประมาณ หุ้นส่วน เป้าหมาย แต่สำหรับการบริหารบุคลากรนี้สามารถเลือกพิจารณาจากด้านใดด้านหนึ่งต่อไปนี้    

.

-  การดำเนินการขององค์กร  การดำเนินการขององค์กรเป็นข้อพิจารณาที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์บุคลากรทั่วทั้งระบบ โดยใช้รูปแบบของกิจการเป็นเงื่อนไข ยกตัวอย่างเช่น องค์กรที่มีธุรกิจดำเนินการในลักษณะของการสื่อสารโทรคมนาคม  ความต้องการบุคลากรนั้นก็จะต้องคัดเลือกเอาบุคลากรที่มีมันสมองในระดับหัวกะทิคัดเข้ามาในองค์กร  นับตั้งแต่ผู้บริหาร  ผู้จัดการ  วิศวกร หัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ แต่สำหรับองค์กรใดที่มีการดำเนินการในลักษณะย่อม ๆ การคัดเลือกเอาบุคลากรนั้นก็อาจจะรับเอาผู้ที่มีความรู้ในระดับปานกลางหรือพอมีประสบการณ์    

.

-  การดำเนินการทางด้านเทคนิค  แนวทางพิจารณาทางด้านเทคนิคเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการพิจารณาในการคัดเลือกบุคลากรเข้าสู่โครงการ  โดยเลือกเอาเฉพาะงานทางด้านเทคนิคมาเป็นเงื่อนไข เช่น งานทางด้านการออกแบบก็จะต้องเลือกเอาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญหรือชำนาญทางด้านการออกแบบมาใช้   งานทางด้านการปรับแต่งรถยนต์ก็จะใช้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเครื่องยนต์กลไกมาใช้   งานทางด้านการวิเคราะห์ก็ต้องใช้นักสถิติเข้ามา    

.

-  การดำเนินการของบุคคล  การดำเนินการของบุคคลก็นับเป็นอีกรูปแบบที่สามารถนำมาพิจารณา โดยลักษณะนี้จะเน้นที่ความหลากหลายของบุคลากรเป็นหลัก มักใช้กับงานที่มีลักษณะยืดหยุ่น เช่น ต้องการผู้ที่มีความสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หลาย ๆ อย่าง  มีความรู้หลายด้าน  หรืออาจจะเป็นผู้ที่มีความรู้ในจุดใดจุดหนึ่ง โดยเฉพาะอาศัยเกณฑ์การพิจารณาในตัวบุคคลเป็นหลัก

.

2. พิจารณาจากความต้องการทีมงาน ความต้องการทีมงานนั้นเป็นการกำหนดเงื่อนไขในการคัดเลือกบุคลากร เพื่อให้เหมาะสมกับงานนั้น ๆ เช่น หากต้องการรับสมัครมัคคุเทศก์ เงื่อนไขความต้องการทีมงานก็อยู่ที่ความสามารถในด้านการใช้ภาษา แต่หากต้องการกรรมกรความต้องการทีมงานก็จะเน้นไปยังผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น

.

3. พิจารณาถึงข้อจำกัด ข้อจำกัดเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่จะใช้ในการคัดเลือกบุคลากรและในบางครั้งอาจเป็นเหตุผลใหญ่ที่ไม่สามารถทำให้การคัดเลือกบุคลกรเป็นไปดังเป้าหมาย ดังนั้นการทราบถึงข้อจำกัดในการบริหารบุคลากร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาเป็นข้อพิจารณา ยกตัวอย่างเช่น  

.

- ข้อจำกัดในด้านของงบประมาณ  แน่นอนว่างบประมาณในการใช้จ่ายจะเป็นข้อจำกัดด่านแรก ๆ ของการดำเนินการ ในการคัดเลือกบุคลากรที่มีการเรียกร้องค่าจ้างในราคาสูง    

.

- ข้อจำกัดทางด้านหุ้นส่วน หุ้นส่วนถือเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจการดำเนินการทุก ๆ ด้าน หากต้องการให้การบริหารบุคลากรนั้นเป็นไปด้วยดีจะต้องทราบถึงแนวทางข้อตกลงตลอดจนเงื่อนไขของหุ้นส่วนก่อนที่จะดำเนินการด้านการบริหารบุคคล  

.

- ข้อจำกัดของทีมงาน  บ่อยครั้งเราจะพบว่าทีมงานที่ประสบความสำเร็จในการทำงานที่ผ่านมา  มักไม่ต้องการที่จะแยกวงเท่าที่ควรหรือไม่ต้องการที่จะรับสมาชิกเพิ่มเพราะเห็นว่าหากไม่ได้ทำงานในทีมเดิม หรือรับสมาชิกเข้ามาใหม่อาจเกิดปัญหาหรือทำงานร่วมกันไม่ได้   

.

- ข้อจำกัดของผู้เชี่ยวชาญ  แน่นอนว่าการทำงานทางด้านเทคนิคที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญสูง อาจจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน  แต่นอกจากนี้งานบางจุดหรืองานเฉพาะด้าน การค้นหาผู้ที่มีความสามารถหรือเชี่ยวชาญก็เป็นเรื่องที่ลำบาก   เนื่องจากองค์กรไม่สามารถรับคนเข้ามาทำงานได้ หรือไม่มีผู้เชี่ยวชาญในด้านที่ต้องการ

.

 เทคนิคและวิธีการสำหรับมาตรการ

.

จากข้อพิจารณาต่าง ๆ ในข้างต้นหากไม่มีเทคนิคหรือวิธีการในการพิจารณาที่ถูกต้อง อาจจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ผิดจากความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้หากต้องการทราบถึงแนวทางขององค์กรในด้านของการคัดเลือก และบริหารบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการขององค์กร ควรจะต้องมีการนำเอาเทคนิคและวิธีการต่อไปนี้เข้าไปร่วมด้วย    

.

1. เลือกใช้เทคนิคต้นแบบ เทคนิคต้นแบบถือเป็นเทคนิคที่ค่อนข้างง่ายแต่ได้มาตรฐาน โดยมีวิธีการดำเนินการตามต้นแบบที่องค์กรได้กำหนดไว้ซึ่งค่อนข้างที่จะมีการกำหนดลักษณะพิเศษที่แน่ชัด บทบาทและหน้าที่ การมอบหมายงานหรือหน้าที่  ผู้รับผิดชอบ ต้นแบบที่จะใช้ยึดเป็นตัวหลักนี้อาจเลือกใช้ตามประสบการณ์  หรือจากมาตรฐานที่กำหนดไว้   

.

2. แบบทดสอบ แบบทดสอบถือเป็นการประเมินบุคลากรในด้านของเอกสาร ซึ่งสามารถนำมาใช้วิเคราะห์ให้เหมาะกับลักษณะงานได้ โดยส่วนใหญ่แบบทดสอบจะแสดงในลักษณะเชิงจิตวิทยาค่อนข้างมีหลากหลายหน้า ผู้ทดสอบจะต้องมีสมาธิในการทำและตอบตามจริง ผลลัพธ์ที่ได้จะถูกนำไปหาค่าซึ่งสามารถบอกถึงบุคลิก ลักษณะนิสัย ความอดทน และงานที่เหมาะสมได้ 

.

3. ทฤษฏีขององค์กร วิธีการนี้ถือเป็นทฤษฏีล้วน ๆ ที่ต้องใช้วิธีการศึกษาจากตำรับตำราต่าง ๆ ถึงแม้จะเป็นการศึกษาจากทฤษฎีของการจัดการองค์การแต่ก็สามารถนำเอาข้อมูลต่าง ๆ นี้มาประยุกต์ใช้ได้  

.

4. วิเคราะห์ข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในที่นี้โดยภาพรวมหมายถึงหุ้นส่วน ลูกจ้าง พนักงาน โดยวิธีการนี้อาจจะใช้การประชุมเพื่อวิเคราะห์ถึงความต้องการในการบริหารงานบุคคล ซึ่งจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวทางที่จะต้องปฏิบัติร่วมกัน หรือให้เป็นที่ยอมรับร่วมกันในการจัดบริหารบุคลากร   

.
ผลลัพธ์ที่พึงได้จากมาตรการ 
.
ผลลัพธ์ที่พึงได้หลังจากมีการกำหนดมาตรการพิจารณาแนวทางขององค์กรในด้านบริหารบุคลากร คือ  

1. การมอบหมายบทบาทและหน้าที่ บทบาทและหน้าที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับการดำเนินการต่าง ๆ ภายในองค์กร แต่หลังจากมีการวิเคราะห์แนวทางขององค์กรเป็นที่เรียบร้อย   บทบาทในภาระหน้าที่ตลอดจนความรับผิดชอบ จะต้องถูกมอบหมายลงไปซึ่งยังไม่จำเป็นต้องระบุในตัวบุคคล เช่น หน้าที่ในด้านของการควบคุมดูแลภาพรวมของงานอยู่ในความรับผิดชอบของหุ้นส่วน  หน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินงานมอบหมายให้ผู้จัดโครงการ  หน้าที่ของการตรวจสอบมอบหมายให้หน่วยงานตรวจสอบ ฯลฯ ซึ่งวิธีการแบบนี้จะเป็นตัวส่งผลไปยังมาตรการในการเฟ้นหาบุคลากรมารับผิดชอบต่อไป    

.

2. แผนงานบริหารทีม นอกจากแผนงานในการดำเนินงานของโครงการแล้ว การบริหารทีมของบุคลากรก็ถือเป็นอีกหนึ่งงานที่จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนงาน เพื่อเป็นการปรับทีมงานให้มีประสิทธิภาพตลอดจนควบคุมการปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งค่อนข้างจะส่งผลดีต่อโครงการหากมีการวางแผนบริหารทีมที่ดีและเหมาะสม 

.

3. แผนผังองค์กร คือ แผนภาพของการจัดลำดับตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งค่อนข้างจำเป็นในองค์กรที่มีพนักงานจำนวนมาก  เนื่องจากจะเป็นการบ่งชี้ถึงหน้าที่ตำแหน่งและความรับผิดชอบ หากมีการละเลยงานในส่วนใดก็สามารถเฟ้นหาบุคลากรที่รับผิดชอบในงานนั้น ๆ มาดำเนินการตรวจสอบได้ทันที  สำหรับองค์กรที่มีบุคลากรไม่มากการจัดทำแผนผังขององค์กรก็ถือเป็นเรื่องที่จำเป็นและควรบ่งชี้การดำเนินงานให้ละเอียดควบคู่ไปกับแผนผังด้วย  จะถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบต่อหน้าที่งานได้มากยิ่งขึ้น  

.

มาตรการที่ 2 การเฟ้นหาผู้ร่วมงาน

.

หลังจากผ่านมาตรการพิจารณาแนวทางขององค์กรเป็นที่เรียบร้อย จะทำให้ทราบถึงบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบที่มีในโครงการ  มาตรการที่จะมารองรับการทำงานต่อไป ก็คือ การเฟ้นหาผู้ร่วมงานซึ่งเน้นในภาพรวมการคัดเลือกบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความสามารถเหมาะต่อการรับมอบหมายภาระหน้าที่ในโครงการ 

.
หลักการเฟ้นหาผู้ร่วมงาน   
.
การเฟ้นหาผู้ร่วมงานนั้นมีหลักใหญ่ ๆ สำหรับการดำเนินการดังต่อไปนี้ 
1. แผนการบริหารทีม   เป็นรูปแบบดำเนินการตามแผนการบริหารทีมซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากมาตรการที่ผ่านมา  
.

2. คุณสมบัติพิเศษ นอกจากการเฟ้นหาบุคลากรตามแผนการบริหารทีม การพิจารณาคัดเลือกด้วยเงื่อนไขคุณสมบัติพิเศษก็เป็นอีกหัวข้อหนึ่งในการที่จะได้บุคคลหรือกลุ่มคนที่มีความสามารถมาร่วมงาน เช่น  

.
-  ประสบการณ์  พิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการทำงานว่ามีมากน้อยเพียงใดตรงตามความต้องการหรือไม่ 

-  ความสนใจในงาน  หรืออาจเรียกว่าความกระตือรือร้นในการทำงาน ซึ่งอาจเทียบได้กับคำพูดที่ว่า เด็กใหม่ไฟแรง หากได้ผู้ที่มีความตั้งอกตั้งใจในการปฏิบัติงานก็ค่อนข้างมั่นใจได้ว่า งานที่มอบหมายไปจะได้รับความเอาใจใส่และดำเนินไปจนเสร็จลุล่วง

-  บุคลิกลักษณะ  พิจารณาถึงบุคลิก ท่าทาง นิสัย และความมีมนุษยสัมพันธ์เนื่องจากต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม   
-  อื่น ๆ พิจารณาสภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความสามารถพิเศษ  โสด  เรียกใช้งานได้ตลอด ฯลฯ    
.
เทคนิคและวิธีสำหรับการเฟ้นหาผู้ร่วมงาน   
.
หากต้องการที่จะได้มาซึ่งผู้ร่วมงานที่ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มีเทคนิคและวิธีการที่จะแนะนำดังต่อไปนี้ 

1. เทคนิคการเจรจา การเจรจาเป็นเหมือนกับการทาบทาม การพูดคุย หรือการออกคำสั่งให้ผู้ที่มีความเหมาะสมกับงานของโครงการเข้ามารับมอบหมายงาน หากเป็นบุคคลหรือกลุ่มคนภายในองค์กรก็สามารถทำได้โดยง่าย แต่หากเป็นบุคคลภายนอกการเจรจาถือเป็นเทคนิคและวิธีการที่สำคัญในการที่จะได้ตัวผู้ร่วมงาน  

.

2. การมอบหมายงานล่วงหน้า การมอบหมายงานล่วงหน้าเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่โครงการนำไปใช้ในโครงการที่มีการระบุผู้ร่วมงานโดยเฉพาะ เช่น ในโครงการที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านจะกำหนดทีมงานไว้สำหรับงานนั้น ๆ โดยเฉพาะ  หรือในบางโครงการที่มีสัญญาในด้านการดำเนินการที่ระบุว่าต้องใช้ทีมงานที่กำหนดเท่านั้น  

.

3.ใช้บริการจัดหาผู้ร่วมงาน การเลือกใช้บริการจัดหาเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีหลากหลายโครงการนิยมใช้อันเนื่องมาจากการขาดผู้ร่วมงานหรือมีบุคลากรที่ไม่เหมาะต่องาน ด้วยวิธีการนี้เพียงผู้จัดโครงการเดินเข้าไปยังบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวกับการรับเหมา  หรือบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ ก็สามารถหาผู้ร่วมงานได้โดยง่าย และมีคุณภาพเหมาะกับโครงการ แต่ในด้านค่าใช้จ่ายนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลง   

.
ผลลัพธ์ที่พึงได้จากมาตรการเฟ้นหาผู้ร่วมงาน 

ผลลัพธ์ที่ได้จากมาตรการเฟ้นหาผู้ร่วมงาน คือ ได้มีการมอบหมายงานให้กับผู้ร่วมงานอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งพร้อมที่จะทำงาน  นอกจากนี้ยังเป็นการเก็บรายละเอียดของทีมงานซึ่งจะเป็นผลดีต่อการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับโครงการ องค์กรและหุ้นส่วน     

.

มาตรการที่ 3 การบริหารทีมงาน

หลังจากที่ได้เฟ้นหาผู้ร่วมงานมาเป็นที่เรียบร้อย  กลุ่มบุคคลเหล่านี้ต่อไปเราจะเรียกว่าทีมไม่ว่าจะมาจากฝ่ายหรือหน่วยงานใด เมื่อเข้าสู่การทำงานในรูปแบบทีมจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้สามารถทำงานร่วมกันได้  สิ่งหนึ่งที่นิยมใช้กัน คือ การนำเอารูปแบบการบริหารเข้ามาจัดการทีมงาน  

.
หลักการบริหารทีมงาน  

โดยหลักของการบริหารทีมนั้นก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก  เป้าหมายโดยแท้จริงก็คือการทำให้ทีมนั้นสามารถปฏิบัติงานได้สำเร็จลุล่วง และสิ่งที่ถือเป็นปัจจัยที่นำเข้ามาใช้ในการบริหาร ได้แก่  การวางแผนงานของโครงการ  แผนบริหารงานของทีมงาน  รายงานการพัฒนาและปรับปรุง  กระแสตอบรับจากภายนอก ฯลฯ นำมาประยุกต์ให้เข้ากัน เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารทีม 

.
ในเรื่องของการบริหารทีมงานนั้นเคยได้เขียนบทความแนะนำไปแล้ว ถึงวิธีการบริหารในรูปแบบต่าง ๆ ในบทความนี้จึงขอสรุปสั้น ๆ ดังนี้  

1. การจัดกิจกรรมสำหรับทีม เป็นวิธีการที่บริหารทีมด้วยการจัดกิจกรรมในลักษณะของการสร้างกลุ่มสัมพันธ์ วิธีการนี้เหมือนจะเป็นการประชุมแต่เป็นไปในลักษณะผ่อนคลายไม่ให้เกิดความเครียดแต่นำเอางานต่าง ๆ มาสร้างกิจกรรมพร้อมให้แง่คิดไปในตัว

.

2. การฝึกฝนความชำนาญ วิธีการนี้เป็นการเพิ่มพูนทักษะให้เกิดกับทีมด้วยการสร้างความชำนาญสำหรับงานในแต่ละด้าน

.

3. การสร้างแรงจูงใจ การสร้างแรงจูงใจเป็นอีกวิธีการที่ถูกนำมาใช้และค่อนข้างได้ผล เช่น การจูงใจด้วยรางวัล การจูงใจด้วยตำแหน่งหน้าที่ การจูงใจด้วยการประกาศเกียรติคุณ ฯลฯ

.

4.  การฝึกอบรม การฝึกอบรมถือเป็นวิธีการและเทคนิคพื้นฐานที่ใช้งานกันทั่วไป สำหรับวิธีการนี้ถือเป็นวิธีการที่นำเอาความรู้เข้าสู่ทีมงานอย่างรวดเร็วเพื่อเกิดการปรับปรุงทั้งระบบไปพร้อม ๆ กัน        

.
ผลลัพธ์ที่พึงได้จากการพัฒนาทีมงาน   

ผลลัพธ์ที่น่าจะได้หลังจากการพัฒนาทีมงาน ก็คือ การได้ทีมงานที่สามารถปฏิบัติงานได้พร้อมทำให้โครงการนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ หรือสำเร็จลุล่วงแต่ในสภาพของความเป็นจริงค่อนข้างจะเป็นการยาก ที่จะเกิดทีมงานที่สมบูรณ์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากแต่ละบุคคลนั้น ต่างก็มีความรู้และแนวคิดที่แตกต่างกันด้วย  เหตุนี้ผู้จัดโครงการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นหาเทคนิคหรือวิธีการใหม่ ๆ มาสร้างแรงกระตุ้นให้ทีมงานนั้นมีความสามัคคี  เต็มที่กับงานซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกทั้งความศรัทธาก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่จะช่วยให้การบริหารบุคลากรได้ผลดีมากยิ่งขึ้น