เนื้อหาวันที่ : 2007-05-11 13:25:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2801 views

นาโนเทคโนโลยีกับความปลอดภัย

จากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุคของนาโนเทคโนโลยีจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมนุษย์ได้ผ่านช่วงของการเรียนรู้มาเป็นระยะเวลายาวนานถึงผลกระทบจากการพัฒนาและการใช้สาร

ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนำมาซึ่งความสะดวกสบายและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ในหลายหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่ง  การเดินทางหรือการติดต่อสื่อสาร เหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากการคิดค้นและพัฒนาของมนุษย์ทั้งสิ้นและทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตรสู่สังคมอุตสาหกรรม  จากการผลิตเพียงเพื่อการดำรงชีพสู่การผลิตเพื่อการค้า   และจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมสู่ยุคของนาโนเทคโนโลยีจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมนุษย์ได้ผ่านช่วงของการเรียนรู้มาเป็นระยะเวลายาวนานถึงผลกระทบจากการพัฒนาและการใช้สารเคมีบางอย่างที่ก่อให้เกิดโทษในวงกว้างในภายหลังไม่ว่าจะเป็นสารคลอโรฟูออโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon; CFC) ซึ่งทำลายชั้นโอโซน  หรือสารฆ่าแมลงอย่าง DDT ซึ่งนอกจากจะฆ่าแมลงแล้วยังเป็นสารก่อมะเร็งสำหรับมนุษย์ 

 .

ดังนั้นจึงไม่มีข้อยกเว้นสำหรับอนุภาคนาโนที่ยังต้องเฝ้าระวังในเรื่องของความปลอดภัย  แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วอนุภาคนาโนมิใช่เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนเลยในโลก  แต่จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของนาโนเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วอาจทำให้มนุษย์มีโอกาสได้รับอนุภาคนาโนมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  สำหรับที่มาของอนุภาคนาโนนั้นมาได้จาก 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือ จากธรรมชาติ  จากกิจกรรมของมนุษย์โดยมิได้ตั้งใจให้เกิดอนุภาคนาโน และจากการเตรียมขึ้นด้วยนาโนเทคโนโลยี (1) สิ่งที่น่าสังเกตสำหรับอนุภาคนาโนคือส่วนใหญ่เป็นสารที่จัดอยู่ในกลุ่มของสารที่ไม่เป็นพิษ  เช่น โลหะเงิน ไทเทเนียมไดออกไซด์ และซิลิกา อาจเป็นเพราะจุดนี้เองที่ทำให้นักวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีมิได้ตระหนักถึงโทษภัยหรือความเป็นพิษของมัน  แต่หากนึกย้อนกลับไปว่าสารเหล่านี้ยังให้สมบัติใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยพบในระดับอนุภาคใหญ่ๆ ได้  สารเหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนจากที่ไม่เป็นพิษเป็นสารที่มีพิษได้เช่นกัน  ดังนั้นจึงมีนักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่คำนึงถึงขนาดที่เล็กมากจนไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าว่า ความเป็นพิษของอนุภาคนาโนอาจเกิดจากขนาดที่เล็กจิ๋วนั่นเอง  มีตัวอย่างงานวิจัยด้านพิษวิทยาหลายงานวิจัยที่แสดงให้เห็นแล้วว่าหากอนุภาคนาโนเข้าสู่ร่างกายทางหนึ่งทางใดแล้ว เช่น จากการหายใจ  การรับประทาน หรือผ่านทางผิวหนัง  อนุภาคเหล่านั้นก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อสัตว์ทดลองได้ไม่ว่าจะเป็นความเป็นพิษต่อตับ  ไต และม้าม เนื่องจากอนุภาคนาโนมีขนาดเล็กจึงเคลื่อนตัวไปตามกระแสเลือดสู่อวัยวะต่างในร่างกายได้ (2-6) 

 .

เมื่อผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงความเป็นพิษจากอนุภาคนาโน  จึงมีหลายหน่วยงานในต่างประเทศเร่งสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของนาโนเทคโนโลยี ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 27  ก.พ. 2550  Innovation Society เป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านนาโน ที่ประเทศสวิตเซอแลนด์ และ TÜV   SÜD (เมืองมิวนิค  ประเทศเยอรมนี) บริษัทที่ให้การรับรองด้านเทคโนโลยีทั่วโลก ได้พัฒนาสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ระบบการติดตามและจัดการความเสี่ยงเฉพาะด้านนาโนที่ได้รับการรับรองขึ้นเป็นครั้งแรก (Certifiable nanospecific risk management and monitoring system, CENARIOS ) เป็นการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยตั้งแต่การผลิต  การขนส่ง จนถึงผู้บริโภค (7)

 .

สำหรับประเทศไทยความตื่นตัวในแง่ของโทษภัยของนาโนเทคโนโลยียังมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับการวิจัยและพัฒนาด้านการใช้ประโยชน์จากนาโนเทคโนโลยี  ดังจะเห็นได้จากการวิจัย  หลักสูตรการเรียนการสอนด้านนาโนเทคโนโลยีในระดับมหาวิทยาลัย  หรือสินค้าซึ่งใช้คำว่านาโนที่เพิ่มขึ้นมาก  ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงของประเทศไทยเป็นอย่างมาก  ที่ทั้งงานวิจัยและการใช้ผลิตภัณฑ์จากนาโนเทคโนโลยีเกิดการแพร่กระจายเป็นอย่างมากในวงกว้างโดยไม่มีมาตรการในการควบคุมด้านความปลอดภัยให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นนิสิต  นักศึกษา  นักวิจัย  คนงานในโรงงาน หรือแม้แต่ผู้บริโภค และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือการแพร่กระจายสู่อากาศ แหล่งดิน และแหล่งน้ำสาธารณะ  ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียที่ตามมาอีกมากมายคือการปนเปื้อนของอนุภาคนาโนในสิ่งแวดล้อม (8-9)  ผลที่ตามคือการกระทบต่อระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตโดยรวม เช่น  การปนเปื้อนของอนุภาคนาโนในแหล่งน้ำจะทำให้การผลิตน้ำเพื่อการบริโภคเป็นไปได้ยากขึ้น  เนื่องจากระบบปัจจุบันยังไม่รองรับกับการปนเปื้อนจากอนุภาคที่มีขนาดเล็กอย่างอนุภาคนาโน หรืออาจเกิดการปนเปื้อนของอนุภาคนาโนในผลิตผลทางการเกษตร  เนื่องจากพืชดูดน้ำที่มีอนุภาคนาโนไปเลี้ยงลำต้นและใบ   หากเป็นเช่นนี้สินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือผลไม้อาจขายไม่ได้ถ้าสินค้าเหล่านี้มีการปนเปื้อนจากอนุภาคนาโน

 .

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหลายสิ่งหลายอย่างมีทั้งคุณและโทษไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโรงงาน ผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์  ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ดีแหล่งหนึ่ง   แต่หากมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีก็จะก่อให้เกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตได้มาก  ส่วนการใช้พลังงานจากน้ำมันแม้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงจากสารกัมมันตรังสี  แต่พลังงานที่ได้จากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง ก็ก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศในปริมาณมาก  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนตามมา  ในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่านาโนเทคโนโลยีแสดงให้เห็นถึงสมบัติพิเศษและการใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีจนออกมาเป็นสินค้าในปัจจุบัน  ในขณะที่การกล่าวถึงโทษยังมีอยู่น้อยมาก  ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้นาโนเทคโนโลยี   การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้นาโนเทคโนโลยีจึงควรดำเนินไปพร้อมๆ กับการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี  เพื่อให้นาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีที่อำนวยประโยชน์ให้กับความเป็นอยู่ของมนุษย์พร้อมกับความปลอดภัยไม่ก่อให้เกิดโทษในภายหลัง  และก่อนที่สิ่งที่มีขนาดเล็ก ๆ อย่างนาโนจะกลายเป็นปัญหาใหญ่  

 .
เอกสารอ้างอิง

 

 

 

  1. Oberdorster, G., Oberdorster, E. and Oberdorster, J., 2005. Nanotoxicology : An Emerging Discipline Evolving from Studies of Ultrafine Particles. Environment Health Perspectives, 113 (7), 823-839.
  2. Wang, J., Zhou, G., Chen, C., Yu, H., Wang, T., Ma, Y., Jia, G., Goa , Y., Li, B., Sun, J., Li, Y., Jiao, F., Zhao, Y., and Chai, Z., 2007. Acute toxicity and  biodistribution of different sized titanium dioxide particles in mice after oral administration. Toxicity Letters (168) 176-185. [1]
 .

ประชาสัมพันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)