แบงก์ชาติ ระบุภาวะเศรษฐกิจ เดือนพ.ค.ปรับตัวดีขึ้น โดยวิกฤติหนี้ในยุโรปยังไม่กระทบส่งออกในระยะสั้น แต่ระยะยาวเริ่มเห็นสัญญาณชะลอคำสั่งซื้อสินค้าของกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหา
ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ ภาวะเศรษฐกิจเดือนพฤษภาคมปรับตัวดีขึ้น โดยวิกฤติหนี้ในยุโรปยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะสั้น แต่ระยะยาวเริ่มเห็นสัญญาณชะลอคำสั่งซื้อสินค้าของกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหา
เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม ว่า ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัว สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับผู้ผลิตทุกรายเร่งผลิต เพื่อส่งมอบรถให้ทันตามกำหนด หลังจากต้องชะลอการผลิตลงในช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมา
ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 14 มาจากการฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุน้ำท่วม รวมถึงความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่อยู่ในเกณฑ์ดี และมีแนวโน้มที่จะลงทุนด้านเครื่องจักร เพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้นจากผลกระทบของต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 6.7 ตามการฟื้นตัวของการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์
แต่การส่งออกไปยังประเทศสเปน อิตาลี และฝรั่งเศล หดตัวต่อเนื่อง จากปัญหาวิกฤติหนี้ในกลุ่มประเทศยุโรป สวนทางกับตลาดอาเซียนที่ยังสามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยภาพรวมการส่งออกไปยังยุโรปยังขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ทั้งนี้ จากการหารือกับผู้ผลิตและผู้ส่งออก เชื่อว่าวิกฤติหนี้ในกลุ่มประเทศยุโรปจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าของกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
นายเมธี กล่าวย้ำว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 2.53 จากร้อยละ 2.47 ในเดือนก่อนหน้านี้ จากราคาอาหารสดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผักและผลไม้ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 31.36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับ 30.88 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดือนที่แล้ว ซึ่งเกิดจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธาณะในยุโรป