กระทรวงคมนาคม เดินหน้าก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเปิดประตูสู่อาเซียน
กระทรวงคมนาคม เดินหน้าโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใต้ เชื่อมโครงข่ายสู่ประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านในการรองรับการเปิดประตูสู่อาเซียน
เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใต้ เชื่อมโครงข่ายสู่ประเทศมาเลเซีย ทางคู่ช่วงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-จังหวัดชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร ซึ่งเป็น 1 ใน 6 เส้นทางระยะเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล ว่าเส้นทางดังกล่าวถือเป็นช่วงสำคัญของประเทศไทย
เพราะถือเป็นชุมทางในการขนส่งที่สำคัญทั้งรถโดยสารและรถบรรทุกสินค้า สำหรับการออกแบบรถไฟทางคู่ช่วงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์-จังหวัดชุมพร โดยมีเป้าหมายประชาชนต้องได้รับความสะดวกปลอดภัย การเดินรถรวดเร็ว ตรงเวลา และมีต้นทุนต่ำ ซึ่งยอมรับว่าปัญหาและอุปสรรคของการเดินรถไฟของไทยในปัจจุบันอยู่ที่จุดตัดทางรถไฟที่ทำให้รถไฟไม่สามารถทำเวลาได้ และมักเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง
ซึ่งการออกแบบรถไฟทางคู่ ปัญหาจุดตัดกับถนนจะหมดไปโดยจะก่อสร้างเป็นทางข้าม หรือทางลอดแทน รวมถึงสถานีที่เป็นจุดหยุดรถชั่วคราว จะก่อสร้างให้เป็นสถานีรถไฟถาวร ซึ่งบางสถานีสามารถดัดแปลงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวให้เดินทางมา ขณะเดียวกันจะจัดจำหน่ายสินค้าโอทอป (OTOP) ตามสถานีรถไฟที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ ด้วย
สำหรับแนวโน้มการก่อสร้างรถไฟสายใต้ เพื่อเชื่อมต่อประเทศมาเลเซีย คาดว่าการก่อสร้างจะมีขึ้นภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ประเทศมาเลเซียได้ดำเนินการก่อสร้างรถไฟทางคู่ทางด้านตะวันตกของประเทศประมาณระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร จากระยะทางรถไฟที่วิ่งให้บริการภายในประเทศประมาณ 1,600 กิโลเมตร การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ซึ่งจะทันต่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC ) ในปี 2558 และจะสามารถเชื่อมต่อทางรถไฟกับประเทศไทยได้ทันที แต่ยอมรับว่าหากเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียการก่อสร้างรถไฟทางคู่ของไทยในขณะนี้ยังคงเป็นไปด้วยความล่าช้า
ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวถึงเส้นทางถนนที่จะเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ว่า ขณะนี้กรมทางหลวงกำลังศึกษาแผนก่อสร้างทางหลวงพิเศษ หรือ มอร์เตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมต่ออำเภอหาดใหญ่มายังด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ระยะทางประมาณ 53 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนกว่า 9,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปี 2555 การศึกษาจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ทางหลวงหมายเลข 4 ด่านสะเดาสู่อำเภอหาดใหญ่ จราจรเริ่มคับคั่งและเส้นทางแคบ ดังนั้น หากก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวจะทำให้การคมนาคมระหว่างไทยกับมาเลเซีย สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น