เนื้อหาวันที่ : 2007-05-10 15:42:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2584 views

จิ๊กซอว์ต่อความสำเร็จสำหรับโครงการ

การต่อจิ๊กซอว์นั้นจะช่วยให้ผู้ต่อได้รับผลตอบกลับหลาย ๆ อย่างโดยไม่รู้ตัว เกิดความพยามในการที่จะหาจิ๊กซอว์แต่ละตัวมาต่อให้สำเร็จ และฝึกความช่างสังเกต

เมื่อสมัยที่ผู้เขียนนั้นยังเรียนในระดับปริญญาตรีภาพยนตร์เรื่องไททานิคนั้นดังมาก  ด้วยความไม่อยากตกยุคก็เลยตีตั๋วเข้าไปดู ปรากฏว่าดูไปน้ำตาซึมไปแถมยังประทับใจกับฉากที่แจ็คและโรสจับมือกางแขนอยู่บนหัวเรือไม่หาย  และช่วงนั้นไม่ว่าอะไรที่ปะด้วยยี่ห้อของไททานิคทั้งเสื้อ แก้ว  สติ๊กเกอร์ ก็มีออกมาวางขายหลากหลายแต่ที่ได้เงินจากผู้เขียนไปก็เป็นจิ๊กซอว์รูปของฉากประทับใจที่ราคาในตอนนั้นก็ไม่ใช่ถูก ๆ เนื่องด้วยภาพยนตร์ค่อนข้างดังแถมการต่อจิ๊กซอว์ในช่วงนั้นก็ค่อนข้างฮิต  ถึงแม้ว่าการต่อจิ๊กซอว์อันแรกสุดในชีวิตจะไม่ได้ต่อเสร็จด้วยความสามารถของตนเอง เพราะค่อนข้างตาลายไม่รู้วิธีการต่อ แถมอยากให้เสร็จเร็ว ๆ เลยวานเพื่อน ๆ ช่วยกันแต่ก็สนุกดี เสร็จเรียบร้อยก็เอาไปเข้ากรอบวางไว้ข้างฝาดูทีไรก็นึกยิ้ม ๆ ในใจ     

.

ว่ากันว่าการต่อจิ๊กซอว์นั้นจะช่วยให้ผู้ต่อได้รับผลตอบกลับหลาย ๆ อย่างโดยไม่รู้ตัว  อย่างแรกเลย ก็คือ เกิดความพยามในการที่จะหาจิ๊กซอว์แต่ละตัวมาต่อให้สำเร็จ  อย่างที่สองฝึกความช่างสังเกตเพราะจิ๊กซอว์นั้นมีการตัดภาพออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ  จะหยิบจับชิ้นไหนถ้าไม่สังเกตลวดลายให้ดีก็สามารถวางผิดตำแหน่งจนคิดว่าหายไปก็มี  อย่างที่สามนี้นับเป็นสิ่งที่สำคัญคือได้มีการวางแผน เอ๊ะ! หลาย ๆ คนที่ไม่เคยต่อจิ๊กซอว์อาจจะแปลกใจว่ากะอีแค่ต่อจิ๊กซอว์จะต้องวางแผนอะไรนักหนา ข้อนี้ถือเป็นการแนะนำให้กับมือใหม่หัดต่อว่า  วิธีการต่อจิ๊กซอว์ให้ง่ายแต่รวดเร็วนั้นจะต้องวางแผนการต่อด้วยการแยกสี แยกชิ้นจิ๊กซอว์ก่อน  การแยกสีก็คือแยกสีที่มีลักษณะใกล้เคียงกันกองไว้ด้วยกัน เพราะเมื่อดูจากรูปภาพแล้วออกโทนสีใดก็ไปหาที่กองนั้น จะพบเร็วกว่าการค้นหาจากกองใหญ่กองเดียว  ส่วนการแยกชิ้นนั้นจะแบ่งชิ้นที่เป็นกรอบออกเนื่องจากมีลักษณะเด่นคือมีด้านที่เป็นด้านเรียบมาต่อให้ได้สี่เหลี่ยมของกรอบแล้วจะเลือกต่อจากนอกไปใน  ซ้ายไปขวา  บนไปล่าง ก็เอาตามถนัด   

.
จิ๊กซอว์ความสำเร็จของโครงการ   

โดยทั่วไปก่อนที่จะซื้อจิ๊กซอว์นั้นเราก็จะเห็นรูปภาพของจิ๊กซอว์บนกล่อง  หากถูกใจก็ซื้อมาต่อ  ต่อเสร็จก็ดีอกดีใจแต่หากตรงข้ามก็กลายเป็นจิ๊กซอว์ที่ไม่สมบูรณ์  โครงการก็เช่นเดียวกันหากไม่สามารถปะติดปะต่อแต่ละหน่วยงานหรือแต่ละส่วนงานเข้าด้วยกันก็เปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ที่โหว่แหว่งไม่สามารถมองเห็นรูปภาพที่สวยงาม  หรือไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ     

.
ด้วยเหตุนี้หากอยากที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการนั้นมีจิ๊กซอว์ 10 ชิ้น ที่ผู้จัดโครงการและทีมงานจะต้องร่วมกันต่อดังนี้ 
.

.
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 1 ปรับรูปแบบการดำเนินโครงการให้อยู่ในพื้นฐานขององค์กร 

การปรับรูปแบบการดำเนินโครงการให้อยู่ในพื้นฐานขององค์กรนั้น นับเป็นสิ่งที่จำเป็นทั้งต่อการดำเนินโครงการและการปฏิบัติงานของผู้บริหารกับทีมงาน  เนื่องด้วยการดำเนินโครงการโดยส่วนใหญ่นั้น มักจะมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติงานตามแต่ความต้องการและความสามารถของผู้ที่วางแผน หรือออกแบบโครงการโดยลืมคำนึงถึงองค์กร  อธิบายง่าย ๆ ก็คือ  ผู้จัดการโครงการนั้นวางแผนการทำงาน โดยที่ไม่ประเมินประสิทธิภาพขององค์กร  หรือลืมเห็นความสำคัญขององค์กร ผลเสียที่เกิดขึ้นมาก็คือ เกิดโครงการที่เริดหรูแต่ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ เนื่องจากองค์กรไม่มีความสามารถเพียงพอ 

.

ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมติว่าบุคลากรภายในองค์กรนั้น มีความสามารถที่จำกัดในบางด้านการที่จะจัดทำโครงการใด   ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนลักษณะการทำงาน หรือรูปแบบของความรับผิดชอบให้เหมาะสม  ด้วยเหตุนี้ จิ๊กซอว์ชิ้นนี้จึงเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นแรกที่จะช่วยให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริหารโครงการกับองค์กร  

.
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 2 ให้ความสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์และโครงการ 

สำหรับจิ๊กซอว์ชิ้นนี้นับเป็นจิ๊กซอว์ที่มีรูปภาพที่ต่อเนื่องมาจากจิ๊กซอว์ชิ้นแรก เนื่องจากเป็นการทำงานในลักษณะของการสร้างความสำเร็จให้กับโครงการด้วยการกำหนดกลยุทธ์  ซึ่งก็คือ การกำหนดเทคนิคหรือรูปแบบในการปฏิบัติงานให้โครงการนั้นประสบความสำเร็จ  จริง ๆ แล้วการกำหนดกลยุทธ์ให้กับโครงการนั้น นับเป็นหน้าที่ปฏิบัติของผู้จัดโครงการโดยเฉพาะเนื่องจากต้องอาศัยความรู้ความสามารถ  ประสบการณ์  และอำนาจเด็ดขาดของผู้จัดโครงการที่จะออกคำสั่งในงานแต่ละส่วนอย่างเป็นระบบ  แต่สำหรับจิ๊กซอว์ชิ้นนี้นอกจากจะเน้นในเรื่องของการสร้างกลยุทธ์แล้ว ยังเน้นลึกไปในเรื่องของการให้ความสำคัญในด้านการเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์และโครงการ  หลากหลายโครงการที่ประสบกับความล้มเหลวนั้นมิได้หมายความว่ามีการออกแบบกลยุทธ์ที่ไม่ดี  แต่อาจหมายความว่ากลยุทธ์กับโครงการนั้นไม่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น  ต้องการที่จะขายสินค้าประเภทประกันชีวิตแต่ดันออกโฆษณามาให้คนนึกถึงยาบำรุงสุขภาพ  

.

ผลประโยชน์ที่ได้รับอีกประการจากการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นนี้ ก็คือ เกิดแรงกระตุ้นในการทำงานของทีมงาน เนื่องจากทีมงานมองเห็นว่าโครงการนั้นมีเปอร์เซ็นต์ความสำเร็จของโครงการสูงมากกว่าโครงการที่ขาดการจัดการด้านกลยุทธ์  ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดโครงการหรือผู้บริหารระดับสูงจะต้องเป็นมันสมองหลักในการวางกลยุทธ์ และให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างกลยุทธ์กับโครงการ   

.
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 3 เข้าถึงหลักการโน้มน้าวใจในระดับสูง   

การปฏิบัติงานใด ๆ ก็ตามแต่เมื่อมีผู้ร่วมงานที่มากกว่า 2  สิ่งหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ก็คือ ความขัดแย้ง  ความขัดแย้งนั้นอาจเกิดขึ้นหลากหลายระดับ นับตั้งแต่ระดับเบาบางอาจเป็นแค่เพียงการพูดคุย ถกเถียง จนกระทั่งเกิดการโต้แย้ง  ปัญหาเหล่านี้ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่หากมีการคลี่คลายปัญหาให้ถูกต้อง  วิธีการที่มักใช้ ก็คือ การโน้มน้าวใจให้แต่ละฝ่ายสามารถที่จะยอมรับในจุด ๆ หนึ่งร่วมกันได้พร้อมกับตัดทิ้งปัญหาเดิมออกไป 

.

จิ๊กซอว์ชิ้นนี้นับเป็นจิ๊กซอว์ที่ต้องใช้ทั้งหลักจิตวิทยา  ความสัมพันธ์  ประสบการณ์ของผู้จัดโครงการ อีกทั้งความเคารพนับถือจากทีมงาน  เนื่องด้วยการโน้มน้าวใจนั้นเป็นสิ่งที่นำไปใช้ในการประสานความสัมพันธ์ในทีม ให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้  และยิ่งหากเข้าใจถึงหลักการโน้มน้าวใจในระดับสูง ก็จะสามารถนำเอาวิธีการนี้ไปใช้ได้กับหลาย ๆ สถานการณ์  เช่น สร้างแรงกระตุ้นให้กับทีมงานเพื่อให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้ แม้จะใกล้เส้นตายของโครงการ  แก้ปัญหาความขัดแย้งของทีมงานแต่ละส่วน  โดยรูปแบบการโน้มน้าวใจนั้นก็มีอยู่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น การกล่าวชมเชย  การเลื่อนขั้น  การให้ของขวัญ หรือแม้กระทั่งการกำหนดบทลงโทษ  ซึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นนี้ถือเป็นจิ๊กซอว์ที่เป็นหน้าที่ของผู้บริหาร ผู้จัดโครงการ หัวหน้างานจะต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ได้

.
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 4 พัฒนาแก่นการทำงานของทีม  

ทีมงานนั้นเป็นทรัพยากรที่สำคัญของโครงการ คือ เป็นทรัพยากรบุคคลที่ถือเป็นเฟืองตัวสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อนโครงการ  ด้วยเหตุนี้หากมีทีมงานที่มีการทำงานประสานกันโครงการก็สามารถที่จะดำเนินไปได้  หลาย ๆ ครั้งในการดำเนินงานเราอาจจะพบว่า ได้รับบุคลากรที่มีความสามารถเป็นเลิศ เข้ามาร่วมงานแต่โครงการนั้น ก็ยังไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควร  สาเหตุโดยหลัก ก็คือ ขาดจิ๊กซอว์ตัวที่ 4 ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ที่เน้นในด้านการพัฒนาแก่นการทำงานของทีม  แก่นการทำงานก็เปรียบเสมือนแก่นของต้นไม้ที่อยู่ในตำแหน่งใจกลาง  เป็นทั้งชีวิตและเป็นตัวยึดให้มีการสร้างเนื้อไม้ออกไปโดยรอบ  แผ่กิ่งก้านสาขาออกดอกออกผล  ด้วยเหตุนี้ หากทีมงานเข้าใจถึงแก่นการทำงาน  การดำเนินงานหรือการปฏิบัติตนก็จะอยู่ในรูปแบบเดียวกันทั้งองค์กร 

.

สำหรับแก่นการทำงานนั้นโดยทั่วไปก็จะขึ้นอยู่กับว่าองค์กรได้มีการปลูกฝังสิ่งใดให้กับพนักงานหรือทีมงาน  แต่โดยหลักแล้วก็จะเน้นในเรื่องของความมีระเบียบวินัยในการทำงาน   เข้าใจในวัฏจักรของโครงการ  เห็นความสำคัญของเวลา  เร่งปฏิบัติงานไม่ให้เกิดกำหนดเวลา ฯลฯ  

.
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 5 จัดองค์กรสำหรับบริหารโครงการ   

จิ๊กซอว์ชิ้นนี้ต่อเข้ามาเพื่อให้โครงการนั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น  โดยเริ่มต้นนั้นโครงการจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับองค์กร  แต่เมื่อใดก็ตามที่องค์กรต้องการพัฒนาศักยภาพหรือขยายกิจการ  องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนลักษณะงาน และการบริหารให้สามารถรองรับโครงการได้  ลักษณะการทำงานในรูปแบบนี้เราอาจพบเห็นได้บ่อย ๆ  เช่น การเปิดศูนย์บริการไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่ซื้อสินค้านั้นสามารถที่จะนำเอาสินค้าที่มีปัญหาส่งศูนย์ซ่อมได้ทันที  หรืออาจเรียกได้ว่าการจัดองค์กรนับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ ที่นำมาใช้ในการแข่งขันให้โครงการที่กำหนดขึ้นมานั้นสามารถที่จะต่อสู้กับโครงการอื่น ๆ ในรูปแบบเดียวกันหรือ สร้างจุดเด่นให้กับโครงการได้อย่างรวดเร็ว 

.

จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 6 ปรับปรุงระบบการจัดการข่าวสารในโครงการ

ถึงวันนี้ต้องยอมรับกันแล้วว่าข้อมูลข่าวสารนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการประกอบธุรกิจ เพราะหากหน่วยงานใดเป็นเจ้าของข้อมูลข่าวสาร หน่วยงานนั้นก็สามารถที่จะวิเคราะห์ถึงแนวโน้มเกี่ยวกับงานนั้น ๆ ได้อย่างถูกต้อง  ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารนั้นค่อนข้างเป็นที่เผยแพร่อย่างหลากหลาย เนื่องด้วยมีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างทันสมัยทำให้สามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทั้งทางอินเทอร์เน็ต  อุปกรณ์ทางการสื่อสาร  วิทยุ โทรทัศน์  ไปจนกระทั่งการหาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ที่เราค่อนข้างพบเห็นบ่อยจากการสำรวจผ่านทาง SMS  แต่การที่จะเลือกรับเอาข้อมูลใดมาใช้นั้นก็จะต้องมีการวิเคราะห์ถึงความถูกต้อง แม่นยำ ด้วยเหตุนี้ จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 6 จึงเน้นย้ำในเรื่องของการจัดการข่าวสาร   

.

การจัดการข่าวสารนั้นเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ประมวลผล  การเลือกข้อมูลไปใช้งาน ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้การพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทันสมัยค่อนข้างที่จะได้รับความนิยมต่อการจัดการระบบข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์  ดาวเทียม  อินเทอร์เน็ต ซึ่งแต่ละโครงการจะต้องค้นหาวิธีที่เหมาะสมนำมาปรับปรุงใช้กับโครงการ  

.

จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 7 ปรับแผนงานเพื่อการคัดสรรและพัฒนาโครงการ

หลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่าทำไมจิ๊กซอว์ชิ้นนี้ จึงวกกลับมาที่การปรับแผนงานเพื่อที่จะคัดสรรและพัฒนาโครงการอีก เพราะจากที่ผ่านมานั้นมีการใช้จิ๊กซอว์ที่มีทั้งการปรับปรุงแผนการ การวางกลยุทธ์ให้กับแผนงานไปแล้ว ทำไมยังจะต้องมาคัดสรรโครงการอีก  ก่อนอื่นต้องให้เข้าใจในคำกล่าวที่ว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน  นั่นก็คือ เราไม่สามารถที่จะมั่นใจได้ว่า แผนงานที่ได้วางไว้ให้กับโครงการที่คิดว่าดีที่สุดแล้วในวันนี้ อีกวัน อีกเดือน อีกปี หรือในอนาคตข้างหน้านั้นสถานการณ์จะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบใด  ด้วยเหตุนี้การปรับแผนงานจึงเป็นเสมือนกับการทำงานใน 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกสำหรับการคัดเอาเฉพาะบางโครงการจากทั้งหมดมาดำเนินการต่อไปในรูปแบบเดิมที่ได้กำหนดไว้  ประเด็นที่สอง คือ ให้ทำการปรับรูปแบบการดำเนินงานในโครงการที่เหลือ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาโครงการให้สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยไม่สูญเสียงบประมาณไปโดยเปล่าประโยชน์นั่นเอง 

.
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 8 ศึกษาการดำเนินการขององค์กร 

สำหรับจิ๊กซอว์ชิ้นนี้เป็นจิ๊กซอว์ที่จะช่วยให้องค์กรนั้น มองย้อนไปถึงประสบการณ์ของการดำเนินโครงการต่าง  ๆ ที่ผ่านมาเนื่องจากจะถือเป็นข้อได้เปรียบทางการดำเนินงาน ยกตัวอย่างเช่น ใครที่เคยผ่านการสมัครงานมาอาจจะได้พบว่ามีหลากหลายบริษัทที่ต้องการรับสมัครเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน  นั่นก็เป็นเพราะว่า บริษัทไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกฝนพนักงาน หรือหากจะนำมาฝึกฝนนั้นก็ค่อนข้างง่ายเพราะทราบถึงลักษณะการทำงานนั้น ๆ อยู่แล้ว  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าองค์กรที่เคยดำเนินโครงการต่าง ๆ มาแล้วจะได้เปรียบในเรื่องของประสบการณ์การทำงาน  เพราะในบางครั้งการดำเนินงานที่ผิดพลาดตลอดมาแต่ไม่เคยบันทึก หรือจัดทำเป็นรายงานในข้อผิดพลาดนั้น ๆ การมองกลับไปก็เป็นเพียงแต่การหันกลับโดยขาดการพิจารณา 

.

ด้วยเหตุนี้จิ๊กซอว์ชิ้นนี้จึงเน้นในด้านของการศึกษาการดำเนินการเป็นสำคัญ รูปแบบหรือวิธีการศึกษานั้นควรที่จะมีการจดบันทึกในข้อผิดพลาด  ข้อสำเร็จ  หมายเหตุ ในแต่ละช่วงงานที่ปฏิบัติออกมาในลักษณะของรายงาน ทุกครั้งที่มีการวางแผนให้กับโครงการใหม่ ๆ ที่มีลักษณะหรือแผนการดำเนินการที่คล้ายกันก็ให้หยิบเอารายงานชิ้นนี้ขึ้นมาศึกษา เพื่อจะได้ทราบถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นคิดหาการหลีกเลี่ยงหรือแก้ไข  แต่สำหรับองค์กรใดที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการดำเนินงานนั้น ๆ การศึกษาโครงการจากองค์กรอื่น ๆ ก็สามารถทำได้ หากรายงานนั้น ๆ เป็นที่เปิดเผย หรืออาจใช้การศึกษาจากระบบฐานข้อมูลของกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานทางราชการที่มีข้อมูลข่าวสารทางด้านนั้น ๆ ก็จะนับเป็นการป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดกับโครงการได้ 

.
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 9 ริเริ่มการจัดบริหารงานในรูปแบบใหม่ ๆ 

ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นั้นนับเป็นสิ่งที่สร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจมากที่สุด  ผู้เขียนเคยอ่านเจอบทความในหนังสือที่รวบรวมประสบการณ์ของคนธรรมดา ๆ แต่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ  สามารถสร้างงานและสร้างเงินให้ได้ภายในพริบตา ยกตัวอย่างเช่น มีแม่บ้านชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งทุกครั้งที่ออกไปตากผ้า ปรากฏว่าลมก็จะพัดเอาเสื้อผ้านั้นมากองไว้ข้างเดียวเสียหมด เมื่อเป็นเช่นนี้เธอก็เลยได้จัดทำอุปกรณ์ไม้แขวนเสื้อแบบพิเศษที่สามารถกางออกแล้วมีห่วงห้อยลงมา  เมื่อเอาไม้แขวนผ้าไปแขวนลมพัดมาแรงแค่ไหนเสื้อผ้าก็ไม่ไปกองในข้างเดียวเสียหมด จากนั้นก็ได้นำเอาแนวความคิดนี้ไปขายให้กับบริษัทผลิตพลาสติก ปรากฏว่าบริษัทนั้นรับจดลิขสิทธิ์ได้เงินค่าลิขสิทธิ์มานับล้าน ด้วยเหตุนี้ การมีแนวความคิดริเริ่มนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยส่งเสริมให้โครงการนั้นประสบความสำเร็จ แต่ที่สำคัญจะต้องเป็นแนวคิดที่ริเริ่มจากตนเองจริง ๆ มิใช่ลอกเลียนแบบ   

.
จิ๊กซอว์ชิ้นที่ 10 นำเอาแนวคิดการจัดบริหารโครงการเข้ามาใช้กับองค์กร   

มีหลากหลายแนวทางหรือหลากหลายทฤษฏี ที่ได้เผยแพร่ออกมาให้องค์กรได้นำเอาไปใช้งานกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแบบรื้อระบบ  การจัดบริหารงานคุณภาพ  การจัดบริหารทรัพยากรบุคคล  ฯลฯ  ทฤษฎีหรือแนวทางต่าง ๆ เหล่านี้เราสามารถที่จะศึกษาถึงข้อดีและข้อเสียนำเข้ามาใช้ในองค์กรได้  สาเหตุโดยหลักก็เพื่อลดเส้นทางในการเดินทางของการพัฒนาองค์กรให้สั้นเร็วโดยที่ไม่ต้องลองผิดลองถูกว่าจะเริ่มต้นการบริหารงานในรูปแบบใด  โดยส่วนใหญ่ระบบที่นำเอามาใช้งานกันก็ได้แต่ระบบบริหารงานคุณภาพ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ISO หากองค์กรต้องการให้โครงการนั้นได้มาตรฐานใดก็จัดเป็นมาตรการขึ้นมา  ศึกษาและดำเนินการตามหลักการนั้น ๆ จะช่วยให้งานเป็นระบบระเบียบมากยิ่งขึ้น  แต่ในกรณีที่องค์กรนั้นเป็นองค์กรเล็ก ๆ แนวคิดในการจัดบริหารโครงการก็อาจจะใช้หลัก 5 ส เข้ามาจัดการ จากนั้นก็ศึกษาถึงรูปแบบและค่อย ๆ หยิบแต่ละแนวทางในการจัดบริหารงานมาใช้บริหารโครงการที่มีอยู่ให้ได้ตรงตามความต้องการ