รมช.คมนาคม เดินหน้าพัฒนารถไฟไทย ปรับปรุงเส้นทางเดินรถเดิมกว่า 4,000 กิโลเมตรให้มีความปลอดภัย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินหน้าพัฒนารถไฟไทย ปรับปรุงเส้นทางเดินรถเดิมกว่า 4,000 กิโลเมตร ให้มีความปลอดภัย พร้อมเดินหน้ารถไฟความเร็วสูง
เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า พลตำรวจโทชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงนโยบายและทิศทางการพัฒนารถไฟไทย ในงานสัมมนา "ก้าวสู่ทศวรรษใหม่การรถไฟไทย" ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐมนูญ รัฐวิสหกิจองค์การมหาชน และกองทุนสภาผู้แทนราษฎร จัดขึ้น
เพื่อระดมความคิดจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา รับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ว่า ตั้งเป้าที่จะพัฒนารถไฟไทยที่ใช้ระบบราง 1 เมตร ระยะทางกว่า 4,044 กิโลเมตร ให้มีความปลอดภัย ขณะนี้ได้ปรับปรุงเปลี่ยนราง และหมอนไม้เป็นคอนกรีตแล้วกว่าร้อยละ 40 ส่วนที่เหลือจะเสร็จสิ้นในปี 2557 ขณะเดียวกัน จะพัฒนารถไฟความเร็วสูงควบคู่ไปด้วย
ซึ่งจะผลักดันให้รถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด ในเส้นทางระยะสั้นภายใน 3 ปี ล่าสุดจีนได้ร่วมสำรวจเส้นทางก่อสร้างเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคาย และการขยายเส้นทาง จากสถานีบางไผ่ จ.ขอนแก่น ไปจังหวัดนครพนม เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย และสุราษฎรธานี-ภูเก็ต
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่จะจัดซื้อหัวรถจักรใหม่อีก 70 หัว และซ่อมแซมหัวรถจักรเก่าอีก 56 หัว ให้พร้อมใช้งาน และจัดหาตู้โดยสารใหม่อีกกว่า 300 ตู้ รวมถึงการขยายเส้นทางโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ จากสถานีพญาไท ไปท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร และจัดซื้อขบวนรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ เพิ่มอีก 7 ขบวน ๆ ละ 5 ตู้ งบประมาณกว่า 5,000 ล้านบาท และในอนาคต ร.ฟ.ท จะประกอบขบวนรถใช้งานเอง โดยก่อสร้างโรงงานประกอบขบวนรถ
ทั้งนี้ ยอมรับว่า ปัจจุบันปัญหาใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เกิดจากการขาดแคลนบุคคลากร และความไม่พร้อมของบุคลากร จึงได้เร่งรัดให้ ร.ฟท.พิจารณาบรรจุบุคลากรเพิ่มเติม หลังจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบการจ้างพนังงานการรถไฟกว่า 2,400 อัตรา ในสาขาต่างๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบกรม และจากนี้ไปจะนำหลักสูตรวิชาการบริหารบุคคลมาพัฒนาบุคลากรของการรถไฟ