กกพ.อนุมัติพื้นที่ประกาศโรงไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว 11 กองทุน พร้อมโอนเงินค่าบริหารให้กองทุนฯที่สรรหากรรมการแล้ว 35 กองทุน กว่า 77 ล้านบาท
กกพ.อนุมัติพื้นที่ประกาศโรงไฟฟ้าพลังน้ำแล้ว 11 กองทุน พร้อมโอนเงินค่าบริหารให้กองทุนฯที่สรรหากรรมการแล้ว 35 กองทุน กว่า 77 ล้านบาท
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบให้สำนักงานกกพ. ประกาศจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพิ่มเติม 11 กองทุน จาก 13 แห่ง เร่งสรรหาคณะกรรมการให้แล้วเสร็จภายในกรกฎาคม ศกนี้ ขณะที่กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในกลุ่มเชื้อเพลิงอื่นๆ ขณะนี้ กกพ. ดำเนินการสรรหาและจัดตั้งคณะกรรมการเสร็จแล้ว 37 กองทุน จากทั้งหมด 38 กองทุน พร้อมทั้งโอนเงินค่าบริหารจัดการให้กองทุนในพื้นที่ประกาศแล้วกว่า 77 ล้านบาท จากจำนวน 35 กองทุน เร่งรัดให้คณะกรรมการกองทุนฯ จัดทำประชาคม และนำเสนอโครงการชุมชนต่อกกพ. โดยเร็ว พร้อมเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ประกาศรอบโรงไฟฟ้ามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้ในทุกขั้นตอน ทั้งการเสนอโครงการชุมชน การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบให้สำนักงาน กกพ. ประกาศจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพิ่มเติม จำนวน 11 กองทุน สำหรับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศรวม 13 แห่ง พร้อมเร่งดำเนินการสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในกรกฏาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนโดยรอบโรงไฟฟ้าพลังน้ำสามารถนำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนต่อไป
กองทุนพัฒนาไฟฟ้าประเภทโรงไฟฟ้าพลังงน้ำทั้ง 11 กองทุน เป็นกองทุนประเภท ข ที่ได้รับการจัดสรรเงินมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี โดยผู้ผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจะต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯอัตรา 2 สตางค์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ ส่วนประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนที่สามารถนำเงินไปใช้ประโยชน์ส่วนรวมได้นั้นเบื้องต้นจะกำหนดให้ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงไฟฟ้าในรัศมี 5 กิโลเมตร และเพิ่มเติมในส่วนของพื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำและพื้นที่ลำน้ำไหลผ่านด้วย เนื่องจากประชาชนที่อยู่ริมอ่างเก็บน้ำและทางน้ำไหลผ่านอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้เช่นกัน
ส่วนความคืบหน้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ นั้นขณะนี้กกพ.ดำเนินการสรรหาและจัดตั้งคณะกรรมการได้เสร็จแล้ว 37 กองทุน จากทั้งหมด 38 กองทุน โดยล่าสุดสำนักงาน กกพ. ได้โอนเงินค่าบริหารจัดการให้กองทุนในพื้นที่ประกาศแล้วกว่า 77 ล้านบาท จำนวน 35 กองทุน ได้แก่ กองทุนขนาดใหญ่ 10 กองทุน และกองทุนขนาดกลาง 25 กองทุน อาทิ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา กองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้ากระบี่ จังหวัดกระบี่ กองทุนพัฒนาไฟฟ้าบริษัท กัลฟ์ ยะลา กรีน จำกัด
กองทุนพัฒนาไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี 1 กองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดสระบุรี กองทุนพัฒนาไฟฟ้าบริษัท ไตร เอน เนอจี้ จำกัด จังหวัดราชบุรี กองทุนพัฒนาไฟฟ้าบริษัท ด่านช้างไบโอ-เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น เพื่อให้คณะกรรมการในพื้นที่นำไปใช้ในการจัดทำแผนประจำปีของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศสำหรับการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารนี้จะมีสัดส่วน 5-15 เปอร์เซ็นต์ ของงบที่ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี
ส่วนงบประมาณอีก 85 เปอร์เซ็นต์ จะถูกนำไปใช้ในการดำเนินโครงการชุมชนตามความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ผ่านการประชาคมในระดับหมู่บ้านหรือตำบลภายใต้กรอบการดำเนินงานที่ กกพ.กำหนดใน 11 ด้าน ได้แก่ โครงการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะ พัฒนาอาชีพ พัฒนาการเกษตร พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาด้านการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น ด้านการพัฒนาชุมชน ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กรณีฉุกเฉิน และช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากเดือดร้อน ด้านการพัฒนาศักยภาพ และสุดท้ายแผนงานอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับชุมชน เป็นต้น
ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่ประกาศรอบโรงไฟฟ้า สามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าได้ในทุกขั้นตอน นับตั้งแต่การรับสมัครและคัดเลือกผู้แทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า การเสนอโครงการชุมชนเพื่อขอรับการสนับสนุนจากเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ทั้งนี้เพื่อให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าได้ตรงใจ ตรงกับความต้องการของชุมชน มีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้จากทั้งประชาชนรอบโรงไฟฟ้าและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่ง กกพ.คาดว่าจะเริ่มพิจารณาอนุมัติแผนงานประจำปีที่คณะกรรมการฯ ในระดับพื้นที่เสนอภายในกลางปีนี้