โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์แล้ว โดยเฟิร์ส โซลาร์
มิดอเมริกัน โซลาร์ (MidAmerican Solar) ซึ่งมีมหาเศรษฐี วอร์เรน บัฟเฟตต์ ควบคุมผ่านการลงทุนโดยเบิร์คไชร์ แฮธ่าเวย์ ได้ประกาศความสำเร็จร่วมกับ เฟิร์ส โซลาร์ (หรือมีชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์แนสแด็คว่า FSLR) ในการเริ่มเดินหน้าติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์แผงแรกในโซลาร์ฟาร์มโทปาซ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตซานลุยส์ โอบิสโป มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
หลังจากมีพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ โซลาฟาร์มโทปาซ คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ โซลาร์ฟาร์มโทปาซจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 550 เมกะวัตต์ โดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้นประมาณ 9 ล้านแผง
มร. เกร็ก เอเบล ประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท มิดอเมริกัน อีเนอร์จี้ โฮลดิ้งส์ พร้อมด้วย มร.วอลเตอร์ สก็อตต์ จูเนียร์ กรรมการ บริษัท เบิร์คไชร์ แฮธ่าเวย์ อิงค์ และบริษัท มิดอเมริกัน ได้ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ดังกล่าว
มร. พอล เคาดิลล์ ประธาน มิดอเมริกัน โซลาร์ กล่าวว่า “การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์แผงแรกนี้มีความหมายมากกว่า การแสดงถึงการทำงานในโครงการใหญ่ระดับโลก แต่ยังแสดงถึงความทุ่มเททำงานก่อสร้างอย่างหนักตลอดระยะเวลาเกือบ 5 เดือนที่ผ่านมาของทีมงานวิศวกรรมและฝ่ายดูแลและบริหารหน้างาน ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่จากทั้งสองส่วนเป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว พนักงานเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายในการผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ให้แก่บริษัท แปซิฟิกแก๊สแอนด์อิเล็กทริค ซึ่งเป็นลูกค้าได้อย่างปลอดภัยและมีเสถียรภาพ ทั้งยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ตามนโยบายที่วางไว้”
เมื่อเร็วๆ นี้ มิดอเมริกัน โซลาร์ ร่วมกับเฟิร์ส โซลาร์ได้จัดประชุมร่วมกับผู้บริหารจากภาครัฐทั้งจากส่วนกลางและระดับท้องถิ่น และชาวบ้านที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ เพื่อพิจารณาข้อมูลกำหนดการก่อสร้างโครงการดังกล่าว รวมถึงมาตรการรักษาสิ่งแวดล้อม และแผนการดูแลและอนุรักษ์ชุมชน
โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โทปาซจะมีการจ้างงานด้านการก่อสร้างประมาณ 400 ตำแหน่งตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นในระหว่างการก่อสร้างประมาณ 417 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอสำหรับจ่ายให้แก่ชาวแคลิฟอร์เนีย เฉลี่ย 160,000 ครัวเรือน
ด้านมร. จิม ลามอน รองประธานระดับอาวุโสด้านวิศวกรรม จัดซื้อและก่อสร้าง ปฏิบัติการและซ่อมบำรุง เฟิร์ส โซลาร์ กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การก่อสร้างโครงการโทปาซประสบความรุดหน้าอย่างรวดเร็ว และก้าวสู่ขั้นตอนการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ เรายังมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ทำงานร่วมกับบริษัทพลังงานชั้นนำอย่างมิดอเมริกัน โซลาร์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทนให้แก่ระบบสายส่งไฟของสหรัฐอเมริกา"
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โทปาซมีมิดอเมริกัน โซลาร์เป็นเจ้าของ โดยมีเฟิร์ส โซลาร์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง บริหารและซ่อมบำรุง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้เริ่มต้นในปลายปี 2554 และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2558 สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายให้แก่พีจีแอนด์อีภายใต้ข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าระยะเวลา 25 ปี ส่งผลให้รัฐแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนคิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดภายในปี 2563 ตรงตามนโยบายที่กำหนดไว้
มร. จอห์น คอนเวย์ รองประธานอาวุโส ด้านการจัดหาพลังงาน บริษัท พีจีแอนด์อี เผยว่า “บริษัทรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมมือกับมิดอเมริกัน โซลาร์และเฟิร์ส โซลาร์สร้างสรรค์ความสำเร็จครั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างโครงการโทปาซ จะทำให้เราสามารถเดินหน้าสร้างสรรค์พลังงานที่สะอาดที่สุดได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อลูกค้า ทั้งยังตอบโจทย์ความต้องการส่งเสริมพลังงานสีเขียวของภาครัฐอีกด้วย”
นวัตกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์เฟิร์ส โซลาร์สร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีฟิล์มบาง (thin film) จึงสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าโดยไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังไม่ก่อให้เกิดขยะของเสีย และไม่ต้องมีการใช้น้ำแต่อย่างใด แผงเซลล์แสงอาทิตย์ของเฟิร์ส โซลาร์มีคาร์บอนฟุตปริ้นท์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดอื่นๆ
ตัวแผงแต่ละชิ้นมีขนาดประมาณ 4’ X 2’ หนักประมาณ 12.5 กิโลกรัม การผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โทปาซแห่งนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละประมาณ 377,000 เมตริกตัน เทียบเท่ากับการนำรถยนต์ออกจากท้องถนนประมาณ 73,000 คัน
แผงเซลล์แสงอาทิตย์ของเฟิร์ส โซลาร์ทั้งหมดจะได้รับการเก็บกลับคืนโดยเฟิร์ส โซลาร์ เพื่อนำไปรีไซเคิลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นภายใต้โครงการรวบรวมเก็บกลับคืนและรีไซเคิลแผงเซลล์ที่ครบอายุการใช้งานหรือเสียหายระหว่างอายุโครงการ โดยมีการกันเงินทุนสำรองไว้ล่วงหน้า สำหรับวัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์เฟิร์ส โซลาร์เป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90