เนื้อหาวันที่ : 2012-05-21 11:15:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1730 views

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ชี้จับตาการเติบโต คอนโดรอบสถานศึกษา

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ชี้จับตาการเติบโต คอนโดรอบสถานศึกษา กระแสนิยมล่าสุด

พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ส่งทีมวิจัยลงสำรวจการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมย่านสถานศึกษา พบผู้ปกครอง หันมานิยมซื้อให้ลูกหลานอาศัยระหว่างศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งครองส่วนแบ่งทางการตลาด ณ ปัจจุบัน ประมาณ 15% ทั้งยังมีกลุ่มนักลงทุนที่หันมาให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเพราะมองเห็นศักยภาพการลงทุน ในระยะยาว

นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารสินทรัพย์ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คอนโดมิเนียมในย่านสถานศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและมีแนวโน้ม จะเพิ่มขึ้นในอนาคตเพื่อดูดซับกำลังซื้อที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มผู้ซื้อหลักยังคงเป็นกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัย เพราะความครบครันในเรื่องระบบสาธารณูปโภคเพราะสถานศึกษาถือเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่

รองลงมาคือ กลุ่มผู้ซื้อที่มีทุนระยะยาวและหวังจะซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อลงทุนปล่อยเช่าให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ตลอดจน บุคลากรในสถาบันการศึกษาเพื่อตัดปัญหาด้านการเดินทาง และที่สำคัญคือกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ในส่วนของ ผู้ปกครองที่เล็งเห็นความคุ้มค่ายิ่งกว่าเมื่อเทียบกับการเช่าที่อยู่อาศัยให้ลูก

 และหากลูกสำเร็จการศึกษาก็สามารถ นำห้องชุดดังกล่าวปล่อยเช่าให้แก่นักศึกษารุ่นใหม่ๆ ต่อไปได้ ซึ่งมีให้เห็นเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยปัจจัยแรกที่ทำให้ ผู้ปกครองตัดสินใจซื้อ คือ การประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการอาศัยในคอนโดมิเนียมมีความปลอดภัย สูงกว่า ทั้งยังมีส่วนสันทนาการที่มากกว่าหอพักโดยทั่วไป

"กระแสนิยมในการซื้อคอนโดมิเนียมในย่านสถานศึกษาไม่ได้มีเฉพาะในส่วนพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ได้กระจาย ไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ อาทิ ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา พิษณุโลก ซึ่งถือเป็นสัญญาณแห่งการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมในมิติใหม่และต้องจับตากระแสดังกล่าว เพราะมั่นใจ ว่าอนาคตจะเป็นกลุ่มคอนโดหลักที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มการออกแบบที่รองรับกลุ่มนักศึกษาใหม่เพิ่มขึ้น และจะเป็น ตลาดที่กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หันมาให้ความสนใจเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน" นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กล่าว

เกี่ยวกับกระแสความนิยมคอนโดมิเนียมในกลุ่มผู้ปกครองที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กล่าวแสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า "ผู้ปกครองที่มีความพร้อมมักจะมองหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้แก่ บุตรหลาน ดังนั้น การซื้อคอนโดมิเนียมใกล้กับโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็เป็นตัวเลือกในการพักอาศัยสำหรับ ครอบครัวคนรุ่นใหม่ที่ต้องการให้ลูกหลานมีเวลาเพิ่มขึ้นสะดวกสบายในการเดินทาง โดยคอนโดมิเนียมเกาะแนว รถไฟฟ้ายังได้รับความนิยมสูงสุด โดยส่วนใหญ่จะเน้นเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยและเก็บไว้เป็นทรัพย์สินที่สร้าง มูลค่าต่อได้ในอนาคต

ส่วนการเช่าจะมีบ้างแต่ไม่มากเพราะราคาค่าเช่าของคอนโดมิเนียมในเมืองหรือเขต ชุมชนใหญ่จะมีราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 10,000-25,000 บาทต่อเดือน สำหรับห้องสตูดิโอหรือห้องขนาด 1 ห้องนอน สามารถนำเงินจำนวนเดียวกันไปผ่อนโครงการใหม่หรือโครงการพร้อมอยู่ได้สบายๆ หลังจากที่ไม่ได้พักอาศัยแล้ว ยังสามารถปล่อยเช่าหรือขายต่อได้กำไรในอนาคตได้อีก ในขณะเดียวกันกลุ่มของการเช่าก็ยังมีอยู่พอสมควร ในกลุ่มของนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด พ่อแม่จึงไม่นิยมซื้อคอนโดมิเนียมให้เพราะใช้เวลาเรียนเพียง 4 ปี ดังนั้นการเช่าจึงคุ้มค่ากว่าการซื้อขาด ทั้งยังไม่มีภาระผูกพันให้พ่อแม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่เป็นการจ่าย เดือนต่อเดือน สามารถเตรียมการค่าใช้จ่ายได้อย่างดี"

“จากข้อมูลของฝ่ายวิจัย พบว่า ปริมาณของกลุ่มพ่อแม่ที่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมให้บุตรหลานอาศัยระหว่างศึกษา มีประมาณ 15% ของกลุ่มกำลังซื้อโดยรวมซึ่งมีทั้งเป็นคนกรุงเทพฯ แต่บ้านอยู่นอกเมือง และคนที่มีภูมิลำเนา อยู่ต่างจังหวัด ส่วนใหญ่มีงบประมาณสำหรับห้องขนาดเล็ก สตูดิโอ หรือ 1 ห้องนอน ราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่เน้นทำเลที่ใกล้ เดินทางสะดวกยิ่งติดสถานีรถไฟฟ้าเลยยิ่งดี ที่ผ่านมาเราได้รับการติดต่อจากพ่อแม่ที่ต้องการ ได้คอนโดใกล้จุฬาฯ และโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในย่านสาทรและสีลมค่อนข้างมากและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

 แต่นอกเหนือจากกลุ่มของนักเรียนหรือนักศึกษาที่มองหาคอนโดทำเลใกล้สถานศึกษาแล้ว ยังมีความต้องการ ของตลาดอีกกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นต้องพักอาศัยใกล้สถานที่เรียน คือ กลุ่มคนทำงานในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันจะมีกำลังซื้อจากอาจารย์สำหรับโรงเรียนนานาชาติหรืออาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัย ที่ต้องมองหา ที่พักอาศัยเองให้ใกล้กับสถานศึกษา เน้นเดินทางสะดวก

โดยส่วนใหญ่งบประมาณในการเช่าของบุคลากรกลุ่มนี้ จะอยู่ระหว่าง 15,000-35,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในส่วนนี้จะครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 10% ด้านตลาดเช่า ส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่ไม่มีครอบครัว และไม่เน้น ในเรื่องของห้องขนาดใหญ่นักเพราะต้องการใช้พักอาศัย ตอนเย็นเท่านั้นและไม่ต้องการที่จอดรถ มักจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้าหรือรถโดยสารสาธารณะเพื่อความสะดวก คนในกลุ่มนี้จะมองหาทำเลที่ใกล้รถไฟฟ้าและใกล้แหล่งความเจริญ อาทิ ห้างสรรพสินค้าหรือ Community Mall ร้านสะดวกซื้อและร้านอาหาร" นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กล่าวสรุป