เนื้อหาวันที่ : 2012-05-15 09:52:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2907 views

รายงานพิเศษเรื่อง โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย

โครงการความร่วมมือแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2535 ส่งเสริมการพัฒนาประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ

โครงการความร่วมมือแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ โดยผู้นำของทั้ง 6 ประเทศได้ประกาศวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะร่วมมือกันเพื่อเป็นอนุภูมิภาคที่เจริญรุ่งเรือง มีบูรณาการ บนพื้นฐานแห่งความสามัคคีปรองดอง และโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย ก็เป็นหนึ่งในความร่วมมือดังกล่าว

โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นหนึ่งในโครงการที่เป็นความร่วมมือแห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เวียดนาม และไทย ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ของไทยได้ให้ความสำคัญกับโครงการนี้อย่างมาก

โดยในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มองว่า ข้อดีของการใช้ประโยชน์ท่าเรือทวาย ก็คือ เป็นทางเลือกอีกด้านหนึ่งของไทยในการขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศเอเชีย ตะวันตก และยุโรป ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งสินค้าต่างๆ ของไทยในภาพรวมถูกลง เป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น

ซึ่งต่อมาก็ได้อนุมัติค่าใช้จ่ายเป็นค่าก่อสร้างเส้นทางจากบ้านพุน้ำร้อน – ชายแดนไทย และพม่า ระยะทาง 4 กิโลเมตร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ต่อมา ในปี 2551 ไทยและพม่าก็ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และพัฒนาถนนเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือทวายมายังจังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 130 กิโลเมตร รวมทั้งจะมีการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับท่าเรือน้ำลึกทวายด้วย


จากนั้น ในสมัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เห็นชอบแนวทางที่จะสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายของพม่า ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาทั้งในด้านกายภาพ และการพัฒนาพื้นที่หลังท่า ที่สามารถรองรับการขยายฐานอุตสาหกรรมของไทยในระยะยาว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหล็กและเหล็กกล้า และยานยนต์

นอกจากนี้ยังมีศักยภาพที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งในระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกทวาย ท่าเรือแหลมฉบัง และประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค

ปัจจุบัน โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างไทยและพม่าก็ได้มีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ โดย บริษัท อิตาเลียนไทย เป็นบริษัทของไทยบริษัทเดียวที่ได้รับสัมปทานในการพัฒนาโครงสร้างหลักของโครงการนี้ ทั้งการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงทวาย – บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 160 กิโลเมตร เป็นถนน 4 ช่องจราจร / การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก ที่ตำบลนาบูเล ห่างจากทางตอนเหนือของจังหวัดทวาย ออกไป 34 กิโลเมตร

โดยในระยะแรก จะทำการก่อสร้าง 1 ท่า ก่อน นอกจากนี้ยังมีอู่ต่อเรือที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ถึง 22 ลำในคราวเดียวกัน รวมถึงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม พื้นที่ประมาณ 4 แสนไร่ แบ่งพื้นที่เป็นโซนต่างๆ มีทั้ง ท่าเรือ อู่ต่อเรือ โรงงานอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย พื้นที่ส่วนราชการ ศูนย์การค้า และสถานพักผ่อนหย่อนใจ และการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่นๆ เพื่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน โดยแผนการก่อสร้างกำหนดไว้ 15 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 สิ้นสุดในปี 2563

ขอบคุณข้อมูลข่าว : ทีมข่าวสำนักประชาสัมพันธ์เขต 8 กาญจนบุรี