เนื้อหาวันที่ : 2012-03-30 09:42:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1457 views

ส.อ.ท. ชี้ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเริ่มฟื้น

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้น เดือน ก.พ. 55 ทะลุ 100 ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะที่ความเชื่อมั่นของเอสเอ็มอียังต่ำ

          ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้น เดือน ก.พ. 55 ทะลุ 100 ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะที่ความเชื่อมั่นของเอสเอ็มอียังต่ำ

          นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 จำนวน 1,016 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 100.9 ปรับเพิ่มจากระดับ 99.6 ในเดือนมกราคม โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับ 100

แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเริ่มกลับมาดีขึ้น และการที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการที่ปรับตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวหลังจากภาวะน้ำท่วมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงาน

          สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.3 ลดลงจาก 107.7 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ดังนี้

อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 98.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 94.7 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร (ผลิตภัณฑ์ประเภท สบู่ ยาสีฬา แชมพู ที่ทำจากสมุนไพร มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศยุโรป),

อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์, หัตถอุตสาหกรรม (สินค้าประเภทบาติก ของตกแต่ง มียอดการส่งออกไปญี่ปุนและตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น, ผลิตภัณฑ์ประเภทของที่ระลึก ของชำร่วย เช่น ผ้าไหมทอมือ งานแกะสลักไม้ มียอดส่งออกไปอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.2 ลดลงจากระดับ 108.1 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 97.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 97.3 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (หินก่อสร้าง หินอ่อน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (แก้วเจียระไนและขวดแก้วขึ้นรูป มียอดการส่งออกไปประเทศอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแท่ง ยางแผ่นดิบ และยางรมควัน มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.9 ลดลงจากระดับ 103.2 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 108.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สินค้าประเภท แผงวงจรและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น, เครื่องใช้ไฟฟ้ามียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 113.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ภาคกลาง และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม และภาคตะวันออกมีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ทรงตัวจากเดือนมกราคม

          ภาคกลาง มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 97.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.7 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ การฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการผลิต และความต้องการสินค้าของประชาชนที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนหรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สินค้าประเภท แผงวงจรและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

เครื่องใช้ไฟฟ้ามียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และอุตสาหกรรมยา ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 99.8 ลดลงจากระดับ101.8 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ สถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในหลายจังหวัดของภาคเหนือส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาค โดยเฉพาะภาคการค้า และการท่องเที่ยว

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (ขาดแคลนแรงงานฝีมือในด้านการออกแบบและผลิตสินค้า ทองคำขาว เครื่องเงิน มียอดการส่งออกไปตะวันออกกลาง ยุโรปและอเมริกาลดลง), อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ มียอดขายและยอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.0 ปรับลดลงจากระดับ 109.6 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 104.1 ลดลงจากระดับ 110.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการปรับลดลงของค่าดัชนีฯ คือ ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น จากราคาพลังงาน วัดถุดิบ และค่าจ้างแรงงาน ประกอบกับปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำใช้เพื่ออุปโภคบริโภค และเพื่อใช้ในภาคเกษตร

สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์จาน ถ้วยเซรามิก มียอดขายไปประเทศอเมริกาและยุโรปลดลง), อุตสาหกรรมก๊าซ, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ (ผลิตภัณฑ์ประเภทกล่องกระดาษ สิ่งพิมพ์การศึกษา มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.8 ลดลงจากระดับ 115.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 105.7 ทรงตัวจากระดับ 105.6 ในเดือนมกราคม สถานการณ์โดยรวมทั้งในภาคการผลิต และบริการ ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และปัญหาขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อการส่งมอบสินค้า ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.3 ลดลงจากระดับ 112.1 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 101.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.7 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ เศรษฐกิจภาคใต้ขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อรายได้ของประชาชนในภาค สะท้อนจากอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแท่ง ยางแผ่นดิบ และยางรมควัน มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น), อุตาสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูป มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มมีการส่งออกขยายตัวสูง เนื่องจากตลาดหลัก เช่น เอเชียใต้ จีน และอาเซียนมีความต้องการเพิ่มขึ้น) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 102.6 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 101.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่

อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (หินก่อสร้าง หินอ่อน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (ยอดขายเครื่องจักรอุตสาหกรรม เช่น เครื่องตัดโลหะ และเครื่องพ่นสีโลหะในประเทศเพิ่มขึ้น, ยอดคำสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมเครื่องจักรในประเทศเพิ่มขึ้น),

อุตสาหกรรมพลาสติก (ผลิตภัณฑ์ประเภทขวดพลาสติก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น, ท่อพีวีซีมียอดขายในประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.5 ลดลงจากระดับ 108.0 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

          และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 99.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 96.2 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแท่ง ยางแผ่นดิบ และยางรมควัน มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (แก้วเจียระไนและขวดแก้วขึ้นรูป มียอดการส่งออกไปประเทศอเมริกาและยุโรปเพิ่มขึ้น),

อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติกมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น, โพลิเอทิลีนและโพลิอะซิทัลเป็นเม็ดพลาสติก มียอดส่งออกไปประเทศจีน และตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น)

ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 106.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

          สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในเรื่องราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ ตามลำดับ

          อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ คือ ผู้ประกอบการอยากให้ภาครัฐหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั่วไปและแรงงานมีฝีมือ หามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ควบคู่กับการลดค่าครองชีพของประชาชนด้วย