เนื้อหาวันที่ : 2012-03-27 12:35:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1730 views

ซีเกทเฮ เพิ่มความหนาแน่นจัดเก็บข้อมูล 1 เทราบิตต่อตารางนิ้วสำเร็จ

ซีเกท เผยความสำเร็จในการเพิ่มความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลเป็น 1 เทราบิตต่อตารางนิ้ว

ซีเกท เผยความสำเร็จในการเพิ่มความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลเป็น 1 เทราบิตต่อตารางนิ้ว             

ซีเกทบรรลุเป้าหมายสร้างสถิติในการเพิ่มความหนาแน่นของการจัดเก็บข้อมูลฮาร์ดไดรฟ์ถึง 1 เทราบิตต่อตารางนิ้ว พร้อมการสาธิตเทคโนโลยีใหม่

ซีเกท (NASDAQ: STX) ประกาศความสำเร็จเป็นผู้ผลิตฮาร์ดไดรฟ์รายแรกที่สร้างประวัติศาสตร์โดยการเพิ่มความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลเป็น 1 เทราบิต (หนึ่งล้านล้านบิต) ต่อตารางนิ้ว และสาธิตเทคโนโลยีที่ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มความจุในการจัดเก็บข้อมูลของฮาร์ดไดรฟ์รุ่นปัจจุบันเป็นสองเท่าซึ่งจะเปิดตัวในช่วงปลายทศวรรษนี้  ทำให้ฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้วมีความจุสูงขึ้นเป็นพิเศษถึง 60 เทราไบต์ตลอดระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า   ในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้ จำนวนบิตที่อยู่ในพื้นที่ดิสก์ขนาดหนึ่งตารางนิ้ว มีจำนวนมากกว่าดวงดาวในทางช้างเผือก ซึ่งนักดาราศาสตร์บอกว่ามีจำนวนประมาณ 200,000 ล้านถึง 400,000 ล้านดวง

ซีเกทบรรลุเป้าหมายในด้านความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบเอชเอเอ็มอาร์  (heat-assisted  magnetic recording (HAMR)) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลรุ่นถัดไป  ส่วนเทคโนโลยีของฮาร์ดไดรฟ์ในปัจจุบัน คือ การจัดเก็บข้อมูลแม่เหล็กในแนวตั้งฉาก (Perpendicular Magnetic Recording (PMR)) ถูกนำมาใช้เพื่อบันทึก ข้อมูลดิจิตอลที่หลากหลาย ตั้งแต่ เพลง ภาพนิ่งและวิดีโอที่ถูกจัดเก็บไว้ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและเครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปภายในบ้านจนถึงข้อมูลทางธุรกิจที่ถูกจัดเก็บไว้ในศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ    บนแผ่นดิสก์แบบหมุนที่อยู่ภายในฮาร์ดไดรฟ์ทุกตัว  

เทคโนโลยีพีเอ็มอาร์ถูกเปิดตัวในปี พ.ศ. 2549 เพื่อใช้แทนที่การจัดเก็บข้อมูลในแนวนอน (longitudinal recording) ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่มีการเริ่มมีการใช้ฮาร์ดไดรฟ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลในคอมพิวเตอร์เมื่อปี พ.ศ. 2499 และคาดว่าจะมีความจุสูงถึงขีดจำกัดด้านความจุในระดับใกล้เคียงกับ 1 เทราบิตต่อตารางนิ้วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

“การเติบโตของสื่อสังคมออนไลน์ (social media) เซิร์ชเอ็นจิน (search engines) คลาวด์ คอมพิวติ้ง (cloud computing)  ริช มีเดีย (rich media) และระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ที่ต้องการพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูลสูง ยังคงเพิ่มปริมาณความต้องการความจุในการจัดเก็บข้อมูลที่สูงขึ้น” นายมาร์ค เร รองประธานอาวุโส  ฝ่ายวิจัยและพัฒนาหัวอ่านและมีเดียบันทึกข้อมูลของซีเกท กล่าว “นวัตกรรมใหม่สำหรับฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อย่างเช่นอชเอเอ็มอาร์จะนำมาซึ่งการพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ต้องจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากในอนาคต  และเพิ่มวิธีการที่ธุรกิจและผู้บริโภคทั่วโลก ใช้ จัดการและจัดเก็บข้อมูลดิจิตอล”

ผู้ผลิตฮาร์ดไดรฟ์เพิ่มความหนาแน่นและความจุในการจัดเก็บข้อมูลโดยการทำให้บิตของข้อมูลที่อยู่ในแพล็ทเตอร์มีขนาดเล็กลงเพื่อจัดเก็บข้อมูลมากขึ้นภายในพื้นที่ดิสก์แต่ละตารางนิ้ว  นอกจากนี้ พวกเขายังบีบอัดตำแหน่งของข้อมูล ที่เป็นวงกลมซึ่งมีจุดศูนย์กลางอยู่บนพื้นผิวของดิสก์ ยึดติดอยู่กับบิตต่าง ๆ  หัวใจของการเพิ่มความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลคือการทำทั้งสองอย่างโดยไม่ทำให้วงจรแม่เหล็กของบิตเกิดการสะดุด อันเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้ข้อมูลบิดเบือน 

จากการใช้เทคโนโลยีเอชเอเอ็มอาร์ ซีเกทสามารถเพิ่มความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลได้ประมาณ 2 ล้านบิตต่อตารางนิ้ว ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้  ส่งผลให้มีความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลสูงกว่า 1 ล้านล้านบิต หรือ 1 เทราบิตต่อตารางนิ้ว สูงกว่าความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลสูงสุดในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 620 กิกะบิตต่อตารางนิ้ว ถึงร้อยละ 55

ความจุสูงสุดของฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้ว รุ่นปัจจุบันคือ 3 เทราไบต์ (ทีบี) ซึ่งมีความหนาแน่นประมาณ 620 กิกะบิตต่อตารางนิ้ว ในขณะที่ไดรฟ์ขนาด 2.5 นิ้ว มีความจุสูงสุด 750 กิกะไบต์ (จีบี) หรือมีความหนาแน่นประมาณ 500   กิกะบิตต่อตารางนิ้ว ไดรฟ์เอชเอเอ็มอาร์รุ่นแรก ซึ่งมีความหนาแน่นสูงกว่า 1 เทราบิตต่อตารางนิ้ว น่าจะเพิ่มความจุเหล่านี้ให้สูงถึงกว่าสองเท่า นั่นคือ 6 เทราไบต์สำหรับไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้วและ 2 เทราไบต์สำหรับรุ่นที่มีขนาด 2.5 นิ้ว 

เทคโนโลยีนี้นำเสนอการเพิ่มขึ้นของความจุที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ด้วยทฤษฏีขีดจำกัดของความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่ 5 ถึง 10 เทราบิตต่อตารางนิ้ว นั่นคือ ความจุ 30 เทราไบต์ถึง 60 เทราไบต์สำหรับไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้วและความจุ 10 เทราไบต์ถึง 20 เทราไบต์สำหรับไดรฟ์ที่มีขนาด 2.5 นิ้ว

การสาธิตความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูล 1 เทราบิตต่อตารางนิ้วแสดงให้เห็นประวัติความเป็นมาอันยาวนานของการพัฒนาเทคโนโลยีที่ซีเกทพัฒนาขึ้นเป็นรายแรก ประกอบด้วย

• ปี พ.ศ. 2523 ฮาร์ดไดรฟ์รุ่นเอสที-506 (ST-506) ซึ่งเป็นฮาร์ดไดรฟ์รุ่นแรก ขนาด 5.25 นิ้ว มีขนาดเล็กพอที่จะถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแรก ๆ ก่อนที่จะมีเครื่องพีซีอันทันสมัย  ไดรฟ์ขนาด 5 เมกกะไบต์มีราคา 1,500 เหรียญสหรัฐ

• ปี พ.ศ. 2535 ฮาร์ดไดรฟ์รุ่นแรกที่หมุนด้วยความเร็ว 7200 รอบต่อนาทีคือไดรฟ์บาราคูดา (Barracuda®)

• ปี พ.ศ. 2539 ฮาร์ดไดรฟ์รุ่นแรกที่หมุนด้วยความเร็ว 10,000 รอบต่อนาทีคือไดรฟ์ชีต้า (Cheetah®)

• ปี พ.ศ. 2543 ฮาร์ดไดรฟ์รุ่นแรกที่หมุนด้วยความเร็ว 15,000 รอบต่อนาทีคือไดรฟ์ชีต้า (Cheetah®) เช่นเดียวกัน

• ปี พ.ศ. 2549  ไดรฟ์รุ่นโมเมนตัส 5400.3 (Momentus® 5400.3) เป็นไดรฟ์ขนาด 2.5 นิ้ว สำหรับเครื่องแล็ปท็อปและเป็นไดรฟ์รุ่นแรกของโลกที่มีเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแม่เหล็กในแนวตั้งฉาก (perpendicular magnetic recording technology)

• ปี พ.ศ. 2550 ไดรฟ์โมเมนตัส เอฟดีอี   (เข้ารหัสอย่างสมบูรณ์) หรือ Momentus FDE (Full Disk Encryption) เป็นฮาร์ดไดรฟ์ที่เข้ารหัสด้วยตนเองรุ่นแรกของอุตสาหกรรม

• ปี พ.ศ. 2553 ไดรฟ์โมเมนตัสเอ็กซ์ที (Momentus XT) เป็นโซลิดสเตทไฮบริดฮาร์ดไดรฟ์รุ่นแรก ที่ผสมผสานระหว่างสปินนิ่งมีเดีย (spinning media)รุ่นดั้งเดิมกับแนนแฟลช (NAND flash) เพื่อนำมาซึ่งความเร็วที่เทียบเท่ากับโซลิดสเตทไดรฟ์ (เอสเอสดี)

ซีเกทประสบความสำเร็จในการเพิ่มความหนาแน่นในการจัดเก็บข้อมูลเป็น 1 เทราบิตต่อตารางนิ้วในฝ่าย         วัสดุศาสตร์และฝ่ายเนียร์-ฟีลด์ ออพติกส์ (near-field optics) ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาหัวอ่านและมีเดียบันทึกข้อมูล        ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบลูมิงตัน รัฐมินเนโซตาและเมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย