กสิกรไทย สบโอกาสธุรกิจพลังงานฉายแววรุ่ง 10 ปีมูลค่าการลงทุนโตกว่า 1 ล้านล้านบาท ดันสินเชื่อโต 9%
กสิกรไทย สบโอกาสธุรกิจพลังงานฉายแววรุ่ง 10 ปีมูลค่าการลงทุนโตกว่า 1 ล้านล้านบาท ดันสินเชื่อโต 9%
กสิกรไทยตั้งเป้าหมายเติบโตสินเชื่อประมาณ 8-9% เพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 5% โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนเพื่อฟื้นฟูประเทศจากน้ำท่วมและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตโดยรวมของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงาน ทั้งพลังงานทั่วไป และ พลังงานทดแทนกว่า 1,000,000 ล้านบาทในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า
นายวศิน วณิชย์วรนันต์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคากสิกรไทย เปิดเผยว่า ความต้องการของพลังงานไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 5-6% ต่อปี โดยจากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ประมาณ 33,000 – 34,000 MW (เมกกะวัตต์) จะเพิ่มขึ้นถึง 48,000 MW ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือหมายถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มอุปทานของพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบที่ 23,000 MW ทั้งนี้ ประมาณ 4,000 MW จะมาจากการลงทุนของภาครัฐโดย EGAT และส่วนที่เหลือ 19,000 MW จะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุนที่ประมาณ 1,020,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากแนวทางของภาครัฐที่ต้องการลดการพึ่งพิงพลังงานจากแก๊ส จาก 70% ให้เหลือประมาณ 45-50% ในช่วงเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทน ดังนั้น ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของภาคเอกชนจำนวน 19,000 MW จะเป็นส่วนที่เป็นพลังงานทดแทน 6,500 MW หรือคิดเป็นการลงทุนประมาณ 520,000 ล้านบาท
ซึ่งเมื่อหักส่วนที่เป็นพลังงานทดแทนชีวมวล 2,000 MW แล้ว จะพบว่าเป็นพลังงานทดแทนประเภทพลังงานจากแสงแดด จากลม และจากน้ำ เป็นส่วนใหญ่ ที่มีโครงการที่กสิกรไทยประเมินความเป็นไปได้แล้วประมาณ 2,000 MW ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ 160,000 ล้านบาท ซึ่งทางธนาคารตั้งเป้าถือครองสัดส่วนตลาดที่ 80% ที่จะทำให้ธนาคารสามารถยืนหยัดเป็นเบอร์ 1 ของธุรกิจพลังงานทดแทนได้ โดยมีเป้าสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าวที่ประมาณ 25,600 ล้านบาท
ส่วนของพลังงานไฟฟ้าทั่วไปที่เหลือนั้น ที่มีปริมาณความต้องการกำลังการผลิตเพิ่ม 12,500 MW กสิกรไทยได้เข้าร่วมให้การสนับสนุนประมาณ 8,000 MW โดยมีประมาณกว่า 40 โครงการที่ยังไม่สรุปผล ซึ่งทางธนาคารตั้งเป้ากินส่วนแบ่งตลาดพลังงานทั่วไปนี้ที่ 75% หรือคิดเป็นสัดส่วนการลงทุนประมาณ 180,000 ล้านบาทซึ่งน่าที่จะทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อพลังงานส่วนนี้ประมาณ 27,000 ล้านบาท
โดยปัจจุบัน ธนาคารมีสัดส่วนการให้กู้แก่ธุรกิจพลังงานประมาณ 11% จากยอดเงินสินเชื่อรวมของธุรกิจขนาดใหญ่ โดยคาดว่าจะมีการเติบโตในปีนี้มากกว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมของ Port ที่ประมาณ 10 -12%
นายวศิน กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารเชื่อมั่นว่าความรู้ความเข้าใจ ในอุตสาหกรรมพลังงาน และ พลังงานทดแทนของทางทีมงานจะเป็นกุญแจสำคัญในการที่ทำให้ธนาคารได้ก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในตลาดนี้ โดยมีรางวัลระดับโลกเป็นการยืนยันผลงาน ทั้งในส่วนของ พลังงานแสงแดด ที่ได้รับจาก Project Finance Asia จากโครงการ NED และ พลังงานน้ำ ที่ได้รับจาก The Banker จากโครงการเทินหินบุญ
โดยเราหวังว่าจะได้รับความเชื่อถือเช่นกันนี้จากโครงการพลังงานลมในเร็วๆ นี้ด้วยเช่นกัน ผ่านทางทีมงานที่มีศักยภาพ การส่งมอบคำตอบแบบองค์รวมให้แก่ลูกค้า รวมทั้งการพัฒนาคำตอบในรูปแบบใหม่ๆ อย่าง Infrastructure Fund เพื่อให้ธนาคารได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจพลังงานให้แก่ประเทศและภูมิภาคต่อไปได้อย่างยั่งยืน