เนื้อหาวันที่ : 2012-03-19 10:45:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3085 views

วิทยาศาสตร์ไร้หัวใจ

ความสุขยังเป็นวิธีตีความโลก เราอาจเปลี่ยนโลกได้ยาก แต่การเปลี่ยนวิธีการมองโลกนั้นเราทำได้ตลอดเวลา

พระมหาประสิทธิ์ ญาณปฺปทีโป

ในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวิทยาการสมัยใหม่หลายเล่มซึ่งน่าสนใจมาก มีทั้งที่เป็นหนังสือแปลและที่คนไทยเขียนเอง บางเล่มก็มีสถิติขายดีหรือพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง อ่านแล้วได้มุมมองใหม่ๆ เยอะเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ตนเองมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์น้อยเกินไป ทำให้ขาดความลึกซึ้งในบางประเด็น จนไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกต้องหรือเปล่า   

หลายเดือนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพบปะกับนักเรียนในโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และนักเรียนสายวิทย์- คณิตในโครงการห้องเรียนพิเศษ ซึ่งมุ่งเน้นผลิตนักเรียนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะหลากที่ต่างโรงเรียนกัน แต่ไม่น่าเชื่อว่าลักษณะอารมณ์ของเด็กกลุ่มนี้คล้ายกันมาก จากการนั่งสนทนากันทำให้มีวลีหนึ่งผุดแว้บขึ้นมาในใจว่า “วิทยาศาสตร์ไร้หัวใจ” ด้วยความที่เป็นกลุ่มคนเรียนเก่ง คิดเก่ง กล้าแสดงออก และถูกวางมาตรฐานไว้สูง   ภาวะกดดันก็มากตาม ทำให้หลายคนเกิดความเครียด

บางครั้งเข้ากับเพื่อนทั่วไปไม่ได้ เพราะต้องทำงานให้เสร็จ และต้องรักษาระดับเกรดจึงต้องขยันอ่านหนังสือ เลยไม่ค่อยได้เข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ ครั้นพอจะเข้ากลุ่มกับเพื่อนระดับเดียวกันก็ยากอีก เพราะต่างคนก็ต่างปลีกตัวแปลกแยก จนบางครั้งเด็กหลายคนรู้สึกโดดเดี่ยวจนไม่อยากเรียนให้เก่ง อยากตกบ้างแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะครูจะกดดัน ผู้ปกครองก็บังคับ เพื่อนไม่เข้าใจ พอหนักๆ เข้าก็เลยกลายเป็นคนที่ไม่อยากจะเอาอะไรเลย  เฉยเมยต่อผู้คน ไม่สนใจใคร ทำอะไรห่ามๆ เล่นอะไรเสี่ยงๆ และแสดงออกทางอารมณ์รุนแรง เศร้าก็มาก ยามสุขก็สนุกเกิน คนฉลาดอาจจะพลาดก็ตรงนี้แหละ

ต่อให้เรียนวิทย์แต่ใช้ชีวิตแบบไร้เหตุผล ความอับจนก็จะบังเกิด เป็นเรื่องที่น่ากังวลเพราะผลอาจมีในระยะยาว เมื่อโตขึ้นพวกเขาจะเป็นสมองของชาติ ถ้าสมองของชาติขาดทักษะทางสังคม และมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์น้อย ไม่น่าจะต่างอะไรกับเครื่องจักรไร้วิญญาณ แค่นึกดูก็หดหู่แล้ว

เมื่อนึกถึงคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่บอกว่า The worlds in the future depend on moral force and moral stand. “เมื่อโลกเจริญมาก วิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามาก ชะตากรรมของโลกในอนาคต จะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางศีลธรรมของมวลมนุษย์” (โลกในอนาคตจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งทางศาสนา อยู่ที่ศีลธรรมของมวลมนุษย์) เมื่อนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกพูดอย่างนี้ ก็เหมือนเสียงสะท้อนเตือนเราว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นหลักประกันต่อความมั่นคงของโลก แต่เป็นหลักศีลธรรมในหัวใจมนุษย์ต่างหากที่จะรักษาความสุขสันติของโลกนี้ไว้ได้   

การที่โรงเรียนได้สนับสนุนให้นักเรียนที่เน้นเฉพาะด้านไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือวิทย์-คณิต ได้มีประสบการณ์ทางศาสนาและงานอาสาเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์ ถือว่าเป็นแนวทางที่บ่มเพาะความดีงามความอ่อนโยนและความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ช่วยผ่อนคลายความเครียดและสร้างจิตสำนึกที่ดีให้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนได้เรียนรู้มา และพัฒนาทักษะชีวิต เมื่อแก้สูตรคณิตได้ ก็ต้องคิดแก้ไขปัญหาหัวใจตนเองได้เหมือนกัน

ในภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับวิกฤติโลกไม่ว่าวิกฤตินั้นจะเกิดจากธรรมชาติ ภัยคุกคามนอกโลกหรือแม้แต่น้ำมือมนุษย์เอง คนที่ช่วยแก้วิกฤติส่วนใหญ่ก็จะเป็นเหล่านักวิทยาศาสตร์ หรือไม่ก็เป็นกลุ่มคนที่รู้วิธีรับมือ และรู้ว่าจะทำอะไรเพื่อให้รอดพ้น หรือบรรเทาหายนะให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีหายนะบางส่วนที่เกิดจากนักวิทยาศาสตร์ที่ใช้ความฉลาดอย่างฉ้อฉล

ผลจากการคิดและการกระทำของนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้น สร้างความแตกต่างระหว่างบวกกับลบอย่างชัดเจน การสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่เปรื่องปราชญ์และทรงธรรม จึงน่าจะเป็นความหวังของชาติได้ ไม่ใช่แค่สร้างชื่อด้วยเหรียญทองโอลิมปิกวิทยาศาสตร์แล้วหายไป แต่ควรสร้างให้พวกเขาเป็นผู้สร้างสรรค์พัฒนาความมั่นคงของชาติได้อย่างภาคภูมิ 

หากเราปลูกฝังให้เด็กๆ ที่เรียนวิทยาศาสตร์เอาแต่ท่องสูตรได้แต่ใช้ไม่เป็น หรือเน้นสอบไม่มุ่งสร้างก็น่ากลัวว่าจะได้คนฉลาดที่โฉดชั่วแทน

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่มีความรู้สึก ถ้าคนใช้มีอารมณ์รักหรือเกลียดมันก็จะเป็นเครื่องมือที่มีพลานุภาพมาก ความรู้จึงเป็นอำนาจที่อาจจะสร้างหรือทำลายก็ได้ แต่ศีลธรรมจะอำนวยช่วยให้คนๆ นั้นครอบครัว ชุมชนและสังคมมีความสุข สร้างสรรค์สิ่งดีงาม 

ถ้านักวิทยาศาสตร์เป็นผู้มีหัวใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความโอบอ้อมอารี ภาวะจิตเบิกบานแจ่มใส แยบยลเมื่อใช้คิดไตร่ตรอง ดำเนินชีวิตไปในครรลองของความถูกต้อง ก็จะเรียกได้ว่าเป็น “คนดีที่โลกรอ”

ไอน์สไตน์ พูดว่า “อย่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียว แต่จงเป็นคนที่มีคุณค่าด้วย”

ค่าภายนอกบอกได้ถึงมูลค่า แต่ค่าภายในคือคุณค่า คนที่มีคุณค่า คือคนที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือส่วนรวม การประพฤติตนเป็นประโยชน์ทางพระเรียกว่า “อัตถจริยา” เป็นหนึ่งในหมวดสังคหวัตถุ คุณเครื่องสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข    

ในเมื่อความสุขคือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา เป็นภาวะทางจิตที่มีความรู้สึกสบาย แช่มชื่น สงบร่มเย็น ไม่ใช่เพียงเพลิดเพลินชั่วคราว ท่านมาติเยอ ริการ์ พระสายธิเบตชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ความสุขยังเป็นวิธีตีความโลก เราอาจเปลี่ยนโลกได้ยาก แต่การเปลี่ยนวิธีการมองโลกนั้นเราทำได้ตลอดเวลา ท่านผู้นี้เป็นนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ที่ผันตนเองมาเป็นพระ ผสานความรู้วิทยาการสมัยใหม่ให้กลมกลืนกับภาวะจิตที่เปี่ยมเมตตาลุ่มลึกเป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ผ่องใส ทรงพลัง  

ทำให้นึกถึงนักวิทยาศาสตร์ไทยหลายท่าน ที่แน่นหนักในหลักวิชาการและผ่านการฝึกฝนพัฒนาตนจนชัดเจนในความเข้าใจตน เข้าใจคน เข้าใจธรรมชาติและการเป็นไปที่งดงามมีคุณค่า ผลงานและการดำเนินชีวิตของท่านเหล่านั้น จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน เป็นแบบอย่างที่ดีให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ และแสดงให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ไร้หัวใจ  

คิดถึงทีไรก็ทำให้รู้สึกอุ่นใจขึ้นมาว่า วิกฤติการณ์ทั้งหลายที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้นยังมีหวังที่จะแก้ไขได้ แต่ไม่รู้ว่าผู้เขียนจะอยู่ถึงตอนนั้นหรือเปล่า?

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Add Free Magazine