47 โรงงานน้ำตาลผนึกกำลัง ปฏิรูปกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบ กำหนดค่าโพลมาตรฐานเดียวที่ 99.2 ดีกรี ขยายตลาดส่งออก เพิ่มรายได้ชาวไร่อ้อย
47 โรงงานน้ำตาลผนึกกำลัง ปฏิรูปกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบ กำหนดค่าโพลมาตรฐานเดียวที่ 99.2 ดีกรี ขยายตลาดส่งออก เพิ่มรายได้ชาวไร่อ้อย
โรงงานน้ำตาลทรายประกาศปฏิรูปครั้งใหญ่ 47 โรงลงนามความร่วมมือปรับปรุงกระบวนการผลิต สู่ค่าโพลมาตรฐาน 99.2 ดีกรี หวังผลักดันให้ตลาดน้ำตาลทรายดิบของไทยขยายตัวมากขึ้น ป้องกันน้ำตาลทรายดิบจากประเทศคู่แข่งแย่งตลาดในทวีปเอเชีย ช่วยชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น แถมช่วยแก้ปัญหาการจัดเก็บน้ำตาลไว้ในโกดังเดียวได้
พร้อมกันนี้ ให้ปรับเปลี่ยนสีบรรจุภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวจากสีขาวมาเป็นสีฟางข้าว ลดปัญหาความสกปรกระหว่างการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ยังประกาศเดินหน้าผลักดันยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในประเทศ เพราะไม่สอดคล้องกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เตรียมจัดงานใหญ่ Bangkok Sugar Dinner 11 มิ.ย.นี้ แลกเปลี่ยนความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนกว่า 500 คน
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก โดยกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย ให้มีความแข็งแกร่ง
ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 47 โรง จึงได้ประกาศความร่วมมือต่อการพัฒนาศักยภาพการผลิตน้ำตาลทราย โดยให้ปรับปรุงกระบวนการผลิตของทุกโรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตน้ำตาลทรายดิบของไทยให้ดียิ่งขึ้น
“ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ที่จะช่วยกันส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น รองรับความต้องการด้านผลผลิตน้ำตาลทรายดิบที่มีคุณภาพ และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในการทำตลาดน้ำตาลในตลาดโลก” นายเชิดพงษ์กล่าว
นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายที่มีความพร้อม จะเริ่มปรับปรุงกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายดิบ เพื่อปรับคุณภาพผลผลิต
โดยเพิ่มค่าความหวาน (Polarization: โพล) น้ำตาลทรายดิบมาอยู่ที่ระดับ 99.2 ดีกรี ซึ่งจะใช้เป็นค่ามาตรฐานความหวานในน้ำตาลดิบที่ใช้ส่งออก ที่จะเริ่มใช้ในฤดูการผลิตปี 2555/2556 จากเดิมที่กำหนดค่าความหวานแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ตั้งแต่ 96.00-97.99 ดีกรี ที่ใช้ส่งออกน้ำตาลทรายดิบไปยังประเทศญี่ปุ่น และค่าความหวานตั้งแต่ 98.50 ดีกรีขึ้นไป ใช้ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอื่นๆ
สำหรับการปรับมาตรฐานค่าความหวานน้ำตาลทรายดิบครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกของไทยได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากค่าความหวานน้ำตาลทรายดิบระดับ 99.2 ดีกรีนั้น ถือเป็นน้ำตาลทรายดิบที่มีคุณภาพ ที่ผู้นำเข้าสามารถนำไปรีไฟน์เป็นน้ำตาลทรายชนิดต่างๆ ในต้นทุนที่ต่ำลง ส่งผลให้น้ำตาลทรายดิบของไทยมีโอกาสส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น
“ที่ผ่านมา อินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นตลาดส่งออกน้ำตาลทรายดิบรายใหญ่ของเรา กลับโดนน้ำตาลทรายดิบจากประเทศบราซิลเข้ามาแย่งตลาด เนื่องจากมีค่าความหวานอยู่ที่ 99.2 ดีกรี ซึ่งมีคุณภาพน้ำตาลทรายดิบสูงกว่าของเรา แต่จากการปรับเกณฑ์กำหนดค่าความหวาน เพื่อยกระดับคุณภาพน้ำตาลทรายดิบมาอยู่ในระดับเดียวกัน จะทำให้เราช่วงชิงความได้เปรียบด้านการส่งออกน้ำตาลทรายดิบกลับมา และมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เรามีโอกาสส่งออกน้ำตาลทรายดิบของไทยไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปเอเซียได้มากขึ้น” นายวิบูลย์ กล่าว
รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า การปรับเกณฑ์ค่าความหวานในน้ำตาลทรายดิบเพิ่มขึ้นเป็น 99.2 ดีกรีในครั้งนี้ ยังส่งผลดีต่อการสร้างรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย ที่จะมีรายได้จากการเพาะปลูกมากขึ้น
ซึ่งหากคิดจากราคาอ้อยเฉลี่ยทั่วประเทศของฤดูการผลิตปี 2553/54 ที่ค่าความหวานของอ้อย 10 ซี.ซี.เอส. และ ณ ระดับราคาน้ำตาลทรายในปัจจุบัน ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายที่ค่าโพล 99.2 ดีกรี จะเพิ่มขึ้นอีก 4-5 บาทต่อตันอ้อย ช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีความมั่นคงทางรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังแก้ไขปัญหาการจัดเก็บน้ำตาลทรายดิบ จากเดิมที่ต้องแย่งการจัดเก็บน้ำตาลทรายดิบที่มีค่าหวานต่างกัน มาจัดเก็บไว้ในโกดังเดียวกันได้ ทำให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายได้รับความสะดวกมากขึ้น ลดความไม่พอเพียงของโกดังส่งออก ส่วนการส่งมอบน้ำตาล J-spec. จะดำเนินการโดยวิธี Spray Molasses ที่คลังสินค้าก่อนขนถ่ายลงเรือ
พร้อมกันนี้ ยังจะปรับเปลี่ยนสีกระสอบบรรจุภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวที่ใช้ในการส่งออก จากสีขาวมาเป็นสีฟางข้าว เพื่อแก้ปัญหาบรรจุภัณฑ์สกปรกในระหว่างขั้นตอนการขนส่งสินค้าทางเรือ ที่ถูกนำมาใช้ในการปฏิเสธการขนส่งสินค้า มีผลทำให้โรงงานน้ำตาลทรายต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านบรรจุภัณฑ์ในระหว่างการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า เรื่องการผลักดันให้มีการยกเลิกการควบคุมราคาน้ำตาลทรายในประเทศ ทางกลุ่มผู้ประกอบการก็จะเสนอแนวความคิดนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องนี้เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทย
อีกทั้งเราจำเป็นต้องปรับตัวรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ซึ่งการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายจะเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทราย ต้องพัฒนาตนเอง เพื่อให้พร้อมรับการแข่งขันอย่างเสรี
นอกจากนี้ ในปีนี้เราจะมีงานใหญ่ระดับนานาชาติงานหนึ่ง คืองาน บางกอก ชูก้าร์ ดินเนอร์ (Bangkok Sugar Dinner) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 11 มิถุนายน 2555 ซึ่งจะเป็นการรวมตัวของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนกว่า 500 คน เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดการค้าน้ำตาลโลกในอนาคต และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญของอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทยที่ส่งออกเป็นอันดับสองของโลก นำเงินตราเข้าประเทศปีละกว่า 1 แสนล้านบาท