3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดหีบอ้อยครึ่งทางได้น้ำตาล 68.18 ล้านกระสอบ ชี้สัดส่วนอ้อยไฟไหม้สูง ผลผลิตน้ำตาลต่ำ
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดข้อมูลหีบอ้อย 104 วัน ได้น้ำตาล 68.18 ล้านกระสอบ ตัวเลขชี้ชัดยิ่งสัดส่วนอ้อยไฟไหม้สูง ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยยิ่งต่ำ
‘3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย’ เผยความคืบหน้าหลังเปิดหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 54/55 กว่าครึ่งทางหรือ 104 วัน ผลิตน้ำตาลทรายทรายได้แล้ว 68.18 ล้านกระสอบ จากปริมาณอ้อยเข้าหีบ 66.62 ล้านตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยิลด์สูงสุดตามด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก
สวนทางกับสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ที่สูงสุดในภาคตะวันออก สูงถึง 76.43% รวมทั้งประเทศ สัดส่วนอ้อยไฟไหม้เฉลี่ยถึง 60.32% ของปริมาณอ้อยที่เข้าหีบทั้งหมด ลุยสร้างความรู้ความเข้าใจถึงผลเสียของอ้อยไฟไหม้ให้แก่เกษตรชาวไร่อย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์อ้อยเพื่อให้ได้ค่าความหวานเพิ่มขึ้น
นางวัลยารีย์ ไพสุขศานติวัฒนา เลขานุการคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยความคืบหน้าการหีบอ้อยประจำฤดูการผลิตปี 2554/2555 ว่า นับตั้งแต่วันที่โรงงานน้ำตาลทรายบางแห่งเริ่มเปิดหีบอ้อยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2554 จนถึง 26 กุมภาพันธ์ 2555 รวม 104 วัน หรือกว่าครึ่งทางของระยะเวลาหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 2554/2555 พบว่า
โรงงานน้ำตาลทรายรับผลผลิตอ้อยเข้าหีบแล้ว 66.62 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ทั้งสิ้น 68.18 ล้านกระสอบ คิดเป็นอัตราผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย (ยิลด์) เฉลี่ยอยู่ที่ 102.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ยิลด์สูงสุดที่ 106.58 กิโลกรัมต่อตันอ้อย รองลงมาได้แก่ ภาคกลางได้ยิลด์ 100.99 กิโลกรัมต่อตันอ้อย ภาคเหนือได้ยิลด์ 98.41 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และภาคตะวันออก ได้ยิลด์ 98.34 กิโลกรัมต่อตันอ้อย
“จะเห็นว่า ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยของแต่ละภาค สวนทางกับปริมาณอ้อยไฟไหม้ โดยพื้นที่เพาะปลูกอ้อยที่มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้มากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออก 76.43% ภาคเหนือ 67.96% ภาคกลาง 67.59% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 47.02% ซึ่งในภาพรวมของฤดูการผลิตปี 2554/2555 นั้น พบว่า ยังมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่สูงมาก คือประมาณ 40.18 ล้านตันอ้อย หรือเฉลี่ย 60.32% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบ” เลขานุการคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าว
ทั้งนี้ หากเทียบผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายในระยะเวลาหีบอ้อยกับฤดูการผลิตของปีที่ผ่านมาพบว่า อัตราการผลิตน้ำตาลทรายต่อกิโลกรัมปีนี้ใกล้เคียงกับปีก่อนคือ 102.36 กิโลกรัมต่อตันอ้อย เทียบกับ 102.56 กิโลกรัมต่อตันอ้อยของปีก่อน ขณะที่ค่าความหวานเฉลี่ยของผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปีนี้เท่ากับปีก่อน คือ 11.79 ซี.ซี.เอส.
นางวัลยารีย์ กล่าวด้วยว่า จากสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อการเพาะปลูกอ้อยในฤดูการผลิตปี 54/55 ทำให้ค่าความหวานอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แต่ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยน่าจะสูงกว่านี้ได้อีก ถ้าสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ลดลง ซึ่งสาเหตุที่ชาวไร่อ้อยยังเลือกใช้วิธีการจัดเก็บผลผลิตด้วยการเผาอ้อยเกิดจากปัญหาขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ทั้งนี้ การนำอ้อยไฟไหม้เข้าหีบจะมีสิ่งปนเปื้อนมากกว่าอ้อยสด ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยต่ำ
เลขานุการคณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวด้วยว่า นอกจากเรื่องของการลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ที่จะช่วยให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเพิ่มขึ้นแล้ว ยังขึ้นอยู่กับพื้นที่เพาะปลูกและพันธุ์อ้อยด้วย ซึ่งทางฝ่ายไร่ของแต่ละโรงงานก็พยายามจะส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาพันธุ์อ้อยที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพมีค่าความหวาน (ซี.ซี.เอส) สูงขึ้น และสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเอง
ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลทรายจะพยายามทำความเข้าใจถึงผลเสียของการเผาอ้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้ตระหนักว่าเรื่องนี้สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายโดยรวม อีกทั้งยังจะผลักดันมาตรการต่างๆ ที่เอื้อต่อการจัดเก็บอ้อยสด เพื่อลดปัญหาผลผลิตอ้อยไฟไหม้ลงให้ได้