IMF เตือนจับตาราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ปตท.คาดสัปดาห์นี้ราคาราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108 - 113 ดอลล่าร์ต่อบาเรล และ 120 - 129 ดอลล่าร์ต่อบาเรล ตามลำดับ
IMF เตือนจับตาราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง ปตท.คาดสัปดาห์นี้ราคาราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108 - 113 ดอลล่าร์ต่อบาเรล และ 120 - 129 ดอลล่าร์ต่อบาเรล ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 20 – 24 ก.พ. 55 และแนวโน้มในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันสัปดาห์ที่ 20 - 24 ก.พ. 55 ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ชนิด โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.96 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 122.74 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.63 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 107.43 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.10 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 119.37 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.84 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 133.17 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล อยู่ที่ 134.90 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- อิหร่านปฎิเสธไม่ให้สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ของ UN เข้าตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ Parchin และการเจรจาระหว่างอิหร่านกับ IAEA ล้มเหลว ส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างชาติตะวันตกและอิหร่านเพิ่มสูงขึ้น
- อิหร่านประกาศระงับการส่งออกน้ำมันแก่ประเทศผู้นำเข้าในยุโรปที่ยังรับน้ำมันจากอิหร่านหากกลุ่มผู้นำเข้าไม่ต่อสัญญาระยะยาวแบบเทอม ในขณะที่ประเทศผู้ซื้อหลักในเอเชีย เช่น จีน อินเดีย ลดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านประมาณ 10% และญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดปริมาณนำเข้าลงเป็น 20% จากเดิม 10% ทั้งนี้คณะกรรมาธิการยุโรป รายงาน เบลเยี่ยม, สาธารณรัฐเชค, เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, ออสเตรีย และโปรตุเกส หยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ขณะที่ กรีซ, อิตาลี และสเปน ลดปริมาณนำเข้า
- คณะรัฐมนตรีคลังของสหภาพยุโรปสามารถหาช่องทางในการลดระดับสัดส่วน debt-to-GDP มาอยู่ที่ระดับ 120% ในปี 2563 และอนุมัติเงินกู้ (Bail-out) มูลค่า 1.3 แสนล้านยูโรแก่กรีซ ซึ่งจะทำให้กรีซไม่ผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 20 มี.ค. 55
- National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีนเปิดเผยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบประจำเดือน ม.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 4.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 2.3% จากปีก่อน
- Pemex บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโกรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือน ม.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 2.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 1.53% จากเดือนก่อน และปริมาณส่งออกอยู่ที่ระดับ 1.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 7.1% จากเดือนก่อน
- Thomson Reuters/University of Michigan รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ (Consumer Sentiment) ในเดือน ก.พ. 55 เพิ่มขึ้น 0.3 จุดจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 75.3 จุด สูงสุดในรอบ 1 ปี
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ก.พ. 55 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ระดับ 351,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี
- Ifo รายงานดัชนีชี้วัดภาคธุรกิจในเยอรมนี (German Business Climate Index) เดือน ก.พ. 55 เพิ่มขึ้น 1.3 จุดจากเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 109.6 จุด เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 1.63 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 340.71 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่จะเพิ่มเพียง 5 แสนบาร์เรล
- IEA รายงานยุโรปไม่มีปัญหาหากต้องหยุดรับน้ำมันดิบจากอิหร่าน เนื่องจากได้มีการเตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้กฎหมายของกลุ่มสหภาพยุโรปบังคับให้สมาชิกต้องสำรองน้ำมันขั้นต่ำที่ระดับ 90 วัน และยุโรปมีปริมาณสำรอง ณ ปัจจุบันที่ระดับมากกว่า 120 วัน
- Reuters รายงานไนจีเรียมีแผนส่งออกน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 2.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 6.16% จากเดือนก่อน เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Usan แหล่งใหม่เริ่มดำเนินการ
- สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ เร่งเสนอให้ประธานาธิบดี Barack Obama มีมาตรการรองรับในการปล่อยน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve) ของสหรัฐฯ เพื่อรองรับภาวะอุปทานขาดแคลน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลัง IAEA เปิดเผยว่าอิหร่านเร่งเดินหน้าเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่โรงงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นขั้นตอนและกระบวนการสำคัญในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัว หลังข้อมูลทางเศรษฐกิจออกมาแข็งแกร่ง
โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี อีกทั้งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีมติปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มยูโรโซนเป็นวงเงิน 4.70 แสนล้านยูโร (ประมาณ 6.30 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินในวันที่ 29 ก.พ. 55 ทั้งนี้เมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา ECB ได้ปล่อยเงินกู้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์จำนวน 4.89 แสนล้านยูโร (ประมาณ 6.55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่าราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบาง ในระยะสั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบ WTI และ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 108 - 113 USD/BBL และ 120 - 129 USD/BBL ตามลำดับ