สหวิริยาสตีลอินดัสตรี เผยผลดำเนินงานปี 54 ทรุดหนัก อุตสาหกรรมต่อเนื่องหยุดชะงักจากภัยธรรมชาติ-วิกฤติเศรษฐกิจอียู ทำให้ขาดทุนเฉียด 1 พันล้านบาท
สหวิริยาสตีลอินดัสตรี เผยผลดำเนินงานปี 54 ทรุดหนัก อุตสาหกรรมต่อเนื่องหยุดชะงักจากภัยธรรมชาติ-วิกฤติเศรษฐกิจอียู ทำให้ขาดทุนเฉียด 1 พันล้านบาท
รายได้รวมสูง 47,975 ล้านบาทใกล้เคียงปี 2553 อุตสาหกรรมต่อเนื่องหยุดชะงักจากภัยธรรมชาติ-วิกฤติเศรษฐกิจอียูส่งผลปี2554 ขาดทุน 981ล้านบาท ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 16 และค่าการรีด (HRC Spread) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี 2553 บริษัทฯผ่านจุดต่ำสุด-ยอดขายเหล็กแผ่นรีดร้อนกลับมาเป็นปกติในเดือนกุมภาพันธ์ โรงถลุงเหล็กเอสเอสไอทีไซด์ใกล้ผลิตเหล็กแท่ง เสริมยอดขายบริษัทไตรมาส2/2554 ราคาเหล็กปรับตัวขึ้น 10% จากปลายปี ธุรกิจเหล็กสามารถกลับมาทำกำไรได้เป็นปกติ"
บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ เอสเอสไอ เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ว่า บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการ 13,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 10,740 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ21 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 2,376 ล้านบาท เทียบกับขาดทุนสุทธิ 2,965 ล้านบาทในไตรมาส 3/2554 และกำไรสุทธิ 55 ล้านบาทในไตรมาส 4/2553
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 1 ปี2554 บริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการรวม 47,975 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 48,090 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลงเพียงร้อยละ 0.2 และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 981 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิ 2,446 ล้านบาทในปี 2553
สาเหตุที่การดำเนินของบริษัทมีผลขาดทุน เนื่องจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอียูและอุตสาหกรรมเหล็กที่มีความผันผวน ท่ามกลางภัยพิบัติต่างๆ ทั่วโลกและมหาอุทกภัยประเทศไทยในปี 2554 ส่งผลให้ลูกค้าที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องหยุดชะงักลง แต่ด้วยการกำกับดูแลกิจการตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพทำให้ธุรกิจต่างๆภายใต้กลุ่มเอสเอสไอทั้งที่ประเทศไทยและต่างประเทศ ผ่านพ้นปัญหาต่างๆเหล่านี้มาได้ และสามารถสร้างยอดขายให้อยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับปี 2553
ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน มีผลขาดทุนสุทธิ 444 ล้านบาท ลดลงจากมีกำไรสุทธิ 2,209 ล้านบาทในปี 2553 โดยมีรายได้จากการขายรวม 37,699 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21 จากงวดเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าปริมาณขายลดลงร้อยละ 30 แต่ค่าการรีด(HRC Spread)และราคาขายเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 9 และร้อยละ 16 ตามลำดับ และการขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มพิเศษ (Premium Value Product) มีสัดส่วนร้อยละ 39 จากยอดขายรวม ทั้งนี้บริษัทมีการบันทึกรายการค่าเผื่อการลดมูลค่าของสินค้าคงเหลือจำนวน 415 ล้านบาท
ธุรกิจโรงถลุงเหล็ก มีผลขาดทุนสุทธิ 567 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2554 โรงถลุงเหล็กเอสเอสไอทีไซด์อยู่ระหว่างการดำเนินการเตรียมการผลิตเหล็กแท่งแบน ยังไม่มีรายได้จากการขายเหล็กแท่งแบน มีแต่รายได้จากการขายและรับจ้างผลิตโค้ก รวมจำนวน 9,936 ล้านบาท ทำให้เกิดเป็นค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีภาระค่าใช้จ่ายของโรงงานในส่วนที่อยู่ระหว่างการเตรียมผลิตที่ไม่เกี่ยวกับการผลิตโค้ก และการขาดทุนสินค้าคงคลัง
ธุรกิจท่าเรือน้ำลึก มีผลกำไรสุทธิ 109 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการรวม 135 ล้านบาทลดลงร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันเมื่อปีก่อน เนื่องจากปริมาณสินค้าผ่านท่าลดลง คาดว่าจะกลับมาดีหลังจากที่อุตสาหกรรมเหล็กกลับมาฟื้นตัวในปี 2555
ธุรกิจวิศวกรรมและซ่อมบำรุง มีผลกำไรสุทธิ 26 ล้านบาท มีรายได้จากการขยายการให้บริการงานโครงการจากลูกค้าในและต่างประเทศ 204 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 63
นอกจากนี้บริษัทยังรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากบริษัทร่วมทุนใน ธุรกิจเหล็กแผ่นรีดเย็น 23 ล้านบาท
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสเอสไอ กล่าวว่า "ปี 2554 เป็นปีที่ทำธุรกิจยากลำบากมาก บริษัทเหล็กใหญ่ในโลกต่างขาดทุนกันส่วนใหญ่ ประสบปัญหาหนักตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะปัญหาอุทกภัยควีนส์แลนด์เมื่อต้นปี ปัญหาแผ่นดินไหวญี่ปุ่นเดือนมีนา ปัญหามหาอุทกภัยไทยในไตรมาส 4/2554 และปัญหากลุ่มอียูที่ยํ่าแย่ลงตลอดจากต้นปีจนถึงปลายปี ส่งผลกระทบทั้งยอดขายและการขาดทุนของสินค้าคงคลัง
ผลประกอบการประจำปี 2554 ของบริษัทฯ ยอดขายกลุ่ม 47,975 ล้านบาท ลดลงเพียงร้อยละ 0.2 จากปีก่อน ถึงแม้ว่าธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศไทยยอดขายลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 21 เนื่องจากลูกค้าประสบปัญหาซัพพลายเชนหยุดชะงักในไตรมาส 2 และ 4/2554 แต่มีรายได้การขายโค้กจากธุรกิจโรงถลุงเหล็กที่อังกฤษเกือบ 10,000 ล้านบาทเข้ามาชดเชยแทน จึงสามารถรักษายอดขายให้ใกล้เคียงเดิมได้
ในส่วนธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน ขาดทุน 444 ล้านบาท ซึ่งจริงๆแล้วความสามารถในการทำกำไรค่อนข้างดี ราคาขายเฉลี่ย 769 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงขึ้นร้อยละ 16 และค่าการรีด (HRC Spread) 129 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงขึ้นร้อยละ 9 แต่เนื่องจากปริมาณการผลิตที่ตกตํ่าจากปัญหาข้างต้น ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าปกติ และมีการขาดทุนสินค้าคงคลังในช่วงปลายปี
ในส่วนธุรกิจโรงถลุงเหล็ก ตั้งแต่บริษัทได้ซื้อกิจการเข้ามาเมื่อเดือนมีนาคม 2554 บริษัทได้ดำเนินการลงทุนปรับปรุงโรงงานและเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายอายุการใช้งานเตาถลุงไปอีก 20 ปี ทั้งนี้ผลงานของปี 2554 ขาดทุน 567 ล้านบาท ถึงแม้จะมีกำไรจากการซื้อกิจการ 5,271 ล้านบาทก็ตาม เนื่องจากยังไม่มีรายได้จากการผลิตเหล็กและมีเพียงรายได้จากการผลิตโค้ก ซึ่งประสบปัญหาขาดทุนจากการที่ราคาถ่านโค้กและโค้กปรับตัวลงตลอดทั้งปีประมาณร้อยละ 30 ท่ามกลางปัญหากลุ่มอียู รวมทั้งยังมีภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุน ค่าใช้จ่ายโรงงานที่ยังไม่ได้เริ่มผลิต และมีการขาดทุนสินค้าคงคลังในช่วงปลายปี
ทั้งนี้ บริษัทฯได้ผ่านจุดตํ่าสุดไปแล้ว บริษัทสามารถผลักดันยอดขายเหล็กแผ่นรีดร้อนกลับมาเป็นปกติในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากการฟื้นตัวของประเทศไทยหลังนํ้าท่วม ซึ่งจะทำให้ระดับสินค้าคงคลังและหนี้สินเงินทุนหมุนเวียนลดลงสู่ปกติ นอกจากนั้น โรงถลุงเหล็กที่อังกฤษจะเริ่มผลิตเหล็กแท่งแบนในเร็วๆนี้ ซึ่งจะทำให้ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการผลิตหมดไปและจะสามารถเข้ามาเสริมยอดขายของบริษัทฯจากไตรมาส 2/2555 เป็นต้นไป
ปัจจุบัน ตลาดเหล็กในโลกได้ปรับตัวหลังจากปัญหากลุ่มอียูแล้ว มีการลดการผลิตเหล็กทั่วโลกเพื่อปรับสมดุล ปริมาณการผลิตเหล็กดิบในโลกเดือนมกราคมเหลือ 116.7 ล้านตัน ลดลง 7.8% จากเดือนเดียวกันปีก่อน ซึ่งการลดการผลิตหลักๆมาจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีและกลุ่มอียู ส่งผลให้ราคาเหล็กปรับตัวขึ้นมาประมาณ 10% จากปลายปี และราคาแร่เหล็กอยู่ในระดับ140 เหรียญสหรัฐต่อตันซึ่งตํ่ากว่าปีก่อนที่160-180 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ธุรกิจเหล็กสามารถกลับมาทำกำไรได้เป็นปกติ" นายวินกล่าว
บริษัทคาดการณ์ว่า ในปี 2555 ปริมาณการบริโภคเหล็กจะปรับตัวสูงขึ้น หลังอุตสาหกรรมเหล็กได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 4 ไปแล้ว สมาคมเหล็กโลกประเมินความต้องการใช้เหล็กของโลกในปี 2555 เติบโตขึ้นร้อยละ 4.5 หรือประมาณ 1,460 ล้านตัน โดยประเทศเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ สำหรับประเทศไทยผลของนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มงบประมาณซ่อมแซมสาธารณูปโภคและฟื้นฟูอุตสาหกรรม การเพิ่มค่าแรง นโยบายรถคันแรก และบ้านหลังแรก จะเป็นตัวเร่งเพิ่มอุปสงค์โดยรวมและอัตราการบริโภคเหล็กในปี 2555 ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว
นายวินกล่าวว่าบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานที่สำคัญคือ 1. โครงการปรับปรุงโรงถลุงเหล็ก SSI UK ซึ่งกำลังเร่งให้เปิดดำเนินการได้โดยเร็วในไตรมาส 1 ปี 2555 โดยเป้าหมายการผลิตเหล็กแท่งแบนในปี 2555 คือ 2.5 ล้านตัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับ 3.6 ล้านตันต่อปีในไตรมาส 4/2555 ส่วนอุปกรณ์ Pulverized Coal Injection (“PCI”) ที่จะช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ประมาณ 30 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน จะเริ่มใช้งานได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2555 และ 2. โครงการเครนหน้าท่า PPC ของ
ธุรกิจท่าเรือน้ำลึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนถ่ายเหล็กแท่งแบน และผลิตภัณฑ์เหล็กอื่นๆ ของบริษัทฯ ที่ขนส่งด้วยเรือ Panamax ช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งได้ประมาณ 7.5 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน ซึ่งจะติดตั้งพร้อมใช้งานเดือนเมษายน 2555