มาต่อกันด้วยภาคที่ 2 ของยาสามัญธรรมดา (ที่ไม่ธรรมดา) ว่าด้วยเรื่องการใช้ยาพาราเซตามอลในเด็กเล็ก และการเก็บรักษายาน้ำพาราเซตามอล
ภก. ศรายุทธ ทัฬหิกรณ์
มาต่อกันด้วยภาคที่ 2 ของยาสามัญธรรมดา (ที่ไม่ธรรมดา) กันต่อดีกว่าครับ ทีแรกว่ากะจะเขียนให้เป็นไตรภาคเหมือนนิยายหรือภาพยนตร์ไปเสียเลยแต่เกรงว่าผู้อ่านจะรับไม่ไหวดังนั้นเอาสั้นๆ แค่ 2 ตอนก็พอละกันครับ
ข้อเท็จจริงประการที่ 3
การใช้ยาพาราเซตามอลในเด็กเล็ก แนะนำกันไปหลายครั้งแล้วทีเดียวกับการใช้ยาน้ำลดไข้ในเด็กแต่ก็ยังมีคนที่ใช้ไม่ถูกต้องกันอยู่ดี เพราะฉะนั้นวันนี้ตั้งใจอ่านกันให้ดีๆ นะครับ แล้วนำไปใช้ในชีวิตจริงด้วยเพื่อที่ลูกๆ หลานๆ ของเราจะได้รับประทานยาไม่เกินขนาดกัน
สำหรับการให้ยาพาราเซตามอลในเด็กก็มีหลักเกณฑ์การคำนวณการใช้ยาเช่นเดียวกันครับคือ ให้เอา 10 คูณด้วยน้ำหนักตัวซึ่งถ้าเด็กหนักประมาณ 20 กิโลกรัม ก็ให้รับประทานเท่ากับ 200 มิลลิกรัม ของยาพาราเซตามอลต่อครั้ง (10 x20) ซึ่งความยากมันอยู่ต่อจากตรงนี้นี่แหละครับ เพราะยาน้ำพาราเซตามอลมีหลายขนาดทั้ง 120, 160 และ 250 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนชา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องดูข้างกล่องกันให้ดีๆ นะครับ เพราะถ้าคำนวณผิดไปละก็เรื่องใหญ่เลยทีเดียว ทางที่ดีเพื่อความปลอดภัยของลูกหลานของท่านผมแนะนำว่าควรปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้านท่านดีกว่าครับ
ข้อเท็จจริงประการที่ 4
การเก็บรักษายาน้ำพาราเซตามอล ซึ่งโดยทั่วไปผู้ปกครองหลายๆ ท่านมักเข้าใจกันวาควรเก็บยาในตู้เย็นจะเป็นการดีที่สุด แต่ทว่าในความเป็นจริงนั้น เนื่องจากตัวยาพาราเซตามอลมีความขมมาก ทำให้ต้องใช้น้ำตาลมาเป็นส่วนประกอบในสูตรเพื่อลดความขมของตัวยา ซึ่งเมื่อเก็บยาอยู่ในตู้เย็น อุณหภูมิที่ต่ำของตู้เย็นนั้นจะทำให้น้ำตาลสามารถละลายน้ำได้น้อยลงจึงตกตะกอนออกมา และทำให้ยาขวดนั้นดูเหมือนยาหมดอายุซึ่งในความเป็นจริงยานั้นยังสามารถใช้ได้เพียงแต่ต้องนำมาตั้งไว้ที่อุณหภูมิห้องซักพักเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดซึ่งอาจส่งผลทำให้สิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุ คุณผู้ปกครองทั้งหลายควรเก็บยาน้ำพาราเซตามอลไว้ในตู้ยา ตามหลักการที่ได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ก็เพียงพอแล้วครับ
อีกประเด็นที่ควรระวังของยาน้ำพาราเซตามอลก็คือบางตำรับของยาจัดเป็นยาน้ำแขวนตะกอนซึ่งต้องมีการเขย่าขวดก่อนใช้ทุกครั้งครับ มิเช่นนั้นแล้วจะส่งผลให้เมื่อรับประทานในตอนแรกไข้จะไม่ลดเนื่องจากความเข้มข้นของยาต่ำเกินไป ในขณะที่เมื่อรับประทานไปถึงก้นขวด ยาก็จะมีความเข้มข้นที่สูงเกินไปทำให้เป็นอันตรายได้
เป็นอย่างไรบ้างครับ ยาธรรมดาๆ ที่เราเข้าใจกันว่าใช้ได้อย่างง่ายดายกลับมีข้อควรระวังมากมายถึงขนาดนี้ดังนั้นพึงระลึกถึงความจำเป็นของการใช้ยาอย่างถูกต้องและอันตรายที่อาจเกิดตามมาในทุกครั้งก่อนการใช้ยานะครับ
ด้วยความปรารถนาดีจาก มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา และ เว็บไซต์ yaandyou.net ครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Armstrong, L., Goldman, P., Lacy, F., Lance, L.,2003, Drug Information Handbook, Lexi-Comp’s Canada
2. นายแพทยสุรเกียรติ อาชานุภาพ, ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป,บริษัท พิมพ์ดี จำกัด, กรุงเทพมหานคร
ค้นหาข้อมูลเรื่องยาและสุขภาพได้ที่ www.YaAndYou.net
“ยากับคุณ” (www.YaAndYou.net) เป็นเว็บไซต์สำหรับสืบค้นและบริการข้อมูลความรู้ด้านยาและสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการใช้ยาและการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม ร่วมกันพัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยากับคุณเป็นเว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลด้านยาที่ใหญ่ที่สุดของไทย เปิดให้บริการฟรี 24 ชั่วโมง สืบค้นไว อุ่นใจเมื่อใช้ยา