เนื้อหาวันที่ : 2012-02-21 15:31:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1400 views

เดอะแวลลูฯ รุกขยายธุรกิจรับมือการแข่งขันรุนแรง

เดอะแวลลูฯ เร่งขยายขนาดธุรกิจรับมือตลาดสินค้าไอทีแข่งขันรุนแรง มั่นใจสามารถรักษาการเติบโตระดับ 5% ได้

เดอะแวลลูฯ เร่งขยายขนาดธุรกิจรับมือตลาดสินค้าไอทีแข่งขันรุนแรง มั่นใจสามารถรักษาการเติบโตระดับ 5% ได้

สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช
ประธานกรรมการบริหาร
บริษัท เดอะแวลลู ซิสเตมส์ จำกัด

“ธุรกิจค้าส่งไอทีตอนนี้ เป็นช่วงที่ทำเล็กไม่ได้ เพราะเล็กแล้วใครจะคุยด้วย” สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะแวลลู ซิสเตมส์ จำกัด ฉายภาพดิสทริบิวเตอร์ที่เกิดขึ้นในวันนี้

แม้ปัจจุบันผู้ค้าส่งไอทีรายใหญ่จะมี 4 ราย แต่การเข้ามาของยักษ์โมเดิร์นเทรด และการที่เชนค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าหันมาจำหน่ายสินค้าไอทีมากขึ้น ทำให้การแข่งขันรุนแรง

การทำธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น ถือเป็นแนวทางการปรับตัวของเดอะแวลลูฯ ที่วางไว้ในปีนี้ โดยความใหญ่ในที่นี้ ไม่ใช่การขยายในแง่ขนาดองค์กร ทว่าเป็นสินค้าที่จะนำเข้ามาขายในร้านต้องมีความหลากหลายและไม่หยุดนิ่ง เพราะหากหยุดเมื่อไหร่เท่ากับหยุดการเติบโต

สินค้าใหม่ที่เดอะแวลลูฯ จะให้น้ำหนักในปีนี้ เพื่อเสริมไลน์กับสินค้าเดิมๆ ในกลุ่มโน้ตบุ๊ก คอมพิวเตอร์พีซี เซิร์ฟเวอร์ และการให้บริการที่ปรึกษา ก็คือ สมาร์ทโฟน เนื่องจากเป็นตลาดที่มีการเติบโตน่าสนใจ โดยปีนี้คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 7-8 ล้านเครื่อง เติบโตจากปีที่แล้วที่ตลาดอยู่ประมาณ 3-4 ล้านเครื่อง กอปรกับพฤติกรรมผู้บริโภคยอมที่จะจ่ายเงินซื้อสมาร์ทโฟนมากกว่าโน้ตบุ๊ก จึงทำให้อัตราการเติบโตของโน้ตบุ๊กเริ่มลดลง อีกทั้งมาร์จิ้นยังน้อยลง

ที่ผ่านมา เดอะแวลลูฯ เคยชิมลางสมาร์ทโฟน โดยขายให้ค่ายเดลล์รายเดียว แต่ไม่หวือหวามากนัก โดยปีนี้กำลังมอง 2 แบรนด์ ได้แก่ ซัมซุง และโนเกีย เพื่อจะขยายฐานตลาดให้กว้างขึ้น

“แม้แบรนด์ด้านคอมพิวเตอร์จะมีการผลิตสมาร์ทโฟนออกมาขายบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด เนื่องจากยังไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค อีกทั้งบริษัทไอทียังมีความเข้าใจสภาพตลาดมือถือไม่มาก ส่วนแบรนด์มือถือเองมีความได้เปรียบในเรื่องฟีเจอร์มือถือมากกว่า”

การปรับตัวอีกอย่างที่จะเห็นได้ชัด ก็คือ การขยายตลาดบริการคลาวด์คอมพิวติ้ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรง ทั้งในส่วนของพลับลิก คลาวด์ และไพรเวต คลาวด์ โดยล่าสุด ได้ตกลงร่วมกับ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือไอเน็ต เพื่อเตรียมให้บริการระบบวีเอ็มแวร์ คลาวด์ ในรูปแบบพลับลิก คลาวด์สำหรับลูกค้าต่างๆ พร้อมตั้งทีมเพื่อศึกษาเทรนด์ และการพัฒนาของเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง ไม่ให้ตกกระแส

โมเดลการทำตลาดนี้ แวลลูฯ จะวางตัวในลักษณะเอเยนต์ เชื่อมระหว่างผู้ให้บริการและลูกค้า โดยรูปแบบการขายจะเป็นการเข้าไปนำเสนอผลิตภัณฑ์ แพกเกจค่าบริการต่างๆ ที่มีอยู่ และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เลือก บริษัทจะได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือนแทนตามสัดส่วนการใช้งาน (Pay per use) ส่วนการให้บริการจะเป็นเรื่องของบริษัทเจ้าของซอฟต์แวร์กับดาต้าเซ็นเตอร์หรือผู้ให้บริการโทรคมนาคม

“เราไม่ได้คาดหวังรายได้ เป็นการทดลองตลาด อีกทั้งกระแสคลาวด์กำลังมา เราต้องหาโอกาสให้เจอ”

ช่องทางการขายที่เข้าถึงและขยายฐานลูกค้าในวงกว้างจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญสำหรับการเพิ่มยอดขาย โดยปีนี้เดอะแวลลูฯ จะเน้นรุกออกต่างจังหวัดเพื่อให้สินค้าเข้าไปใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น เนื่องจากสินค้าไอทีมีราคาต่ำลง สามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายขึ้น อีกทั้งตลาดยังเติบโตต่อเนื่อง โดยจะเน้นเจาะผ่าน 4 ช่องทางหลัก คือ ไอทีชอป ห้างไอที โมเดิร์นเทรด และร้านเชนสโตร์เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่

พร้อมกันนี้ ยังต้องการเติบโตในส่วนเอนเตอร์ไพรส์มากขึ้นด้วย เพราะปีที่ผ่านมาเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโตมากสุด เฉลี่ย 40% และปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว ขณะที่คอนซูเมอร์เติบโตเพียง 5% โดยได้เป็นพันธมิตรกับออราเคิล เพื่อเป็นผู้แทนจำหน่ายระบบเฮกซะดาต้า (Hexadata) สำหรับใช้ในระบบฐานข้อมูลของออราเคิล หลังจากปีที่ผ่านมาทดลองทำตลาด โดยคาดว่าปีนี้จะขายได้ไม่ต่ำกว่า 6 เครื่อง คิดเป็นยอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท

จากแนวทางการปรับตัวดังกล่าว ทำให้ เดอะแวลลูฯ มั่นใจว่าจะรักษาการเติบโตในระดับ 5% แม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่จากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ตอนนี้จึงไม่ได้มุ่งเรื่องยอดขายเป็นหลัก แต่จะให้ความสำคัญกับการทำกำไรให้ดีขึ้นกว่าตลาด