เนื้อหาวันที่ : 2012-02-17 14:48:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2544 views

สรุปภาพรวมการติดตามแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการบริหาจัดการน้ำ

นายกรัฐมนตรี สรุปผลการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

นายกรัฐมนตรีสรุปภาพรวมการติดตามแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยืนยันรัฐบาลพร้อมช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในพื้นที่รับน้ำให้ดีที่สุด

วันนี้ (17 ก.พ. 55) เวลา 09.40 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงสรุปผลการตรวจราชการและติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ณ ศูนย์ราชการ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หลังจากที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ได้มีการสรุปกำหนดยุทธศาสตร์ และแผนแม่บทของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยยึดธรรมชาติของน้ำเป็นหลักคือ น้ำต้องมีน้ำต้องมีที่อยู่ มีที่ไป ประชาชนต้องได้รับการดูแล พื้นที่ชุมชน เศรษฐกิจสำคัญ ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศต้องได้รับการป้องกัน พื้นที่เกษตรกรรม-ทุ่งรับน้ำ (แก้มลิง) ที่อยู่นอกพื้นที่ป้องกัน รวมทั้งพื้นที่ที่นำมาใช้ผันน้ำหลาก (Floodway) จะต้อง ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งจะนำหลักการนี้ไปใช้กับทุกพื้นที่

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อ 1) ติดตามงานการแก้ไขปัญหาตามแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติงบประมาณ รวมทั้งการฟื้นฟู เยียวยา การช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบอุทกภัย 2) ทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการในพื้นที่ (Area) และส่วนราชการในระดับกระทรวง/กรม (Function) เกี่ยวกับแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำตามที่ กยน. กำหนดทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยั่งยืน

3) รับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปปรับปรุงและอนุมัติแผนงานและโครงการเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ (FlagShip) โดยแบ่งกลุ่มการติดตามงานตามแผนแม่บทออกเป็น 4 กลุ่มพื้นที่ รวม 31 จังหวัด ประกอบด้วย 1) พื้นที่ต้นน้ำ ประกอบด้วยพื้นที่ 10 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และพะเยา

2) พื้นที่กลางน้ำตอนบน ประกอบด้วยพื้นที่ 6 จังหวัด คือ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตร กำแพงเพชร และชัยนาท พื้นที่กลางน้ำตอนล่าง ประกอบด้วยพื้นที่ 8 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี และนครนายก 3) พื้นที่ปลายน้ำ ประกอบด้วยพื้นที่ 7 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำในส่วนของพื้นที่ต้นน้ำ จะมีการติดตามงาน และมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานปฏิบัติ ประกอบด้วย 1) โครงการพระราชดำริ และการดูแลป่าต้นน้ำ การปลูกป่า ฝายแม้ว การรักษาระบบนิเวศ มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดพื้นที่ปลูกป่าเพื่อปรับปรุงระบบนิเวศในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง และป่าสัก รวมพื้นที่ประมาณ 330,000 ไร่ กำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน

โดยให้บูรณาการร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สำนักงาน กปร. และกองทัพไทย ดังนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระ กำหนดพื้นที่ปลูกป่าในพื้นที่ชุมชนตามโครงการแม่ฟ้าหลวง และมูลนิธิปิดทองหลังพระ สำนักงาน กปร. กำหนดพื้นที่ปลูกป่า ในพื้นที่ชุมชนโครงการหลวง กองทัพไทย กำหนดพื้นที่ปลูกป่า ตามแนวชายแดน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประสานกระทรวงมหาดไทย กำหนดพื้นที่ปลูกป่า ในพื้นที่สูงและมีชุมชนอาศัยอยู่

2) การพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย ได้มอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งดำเนินการเชื่อมโยงระบบข้อมูลทุกหน่วยงานให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยกำหนดให้มี 3 เครื่องมือสำคัญ คือ ศูนย์ข้อมูลการจัดการน้ำแห่งชาติ ทำหน้าที่เชื่อมโยงระบบข้อมูลทุกหน่วยราชการ เป็นคลังข้อมูล และติดตามสถานการณ์แบบ Real-Time โดยการติดตั้งกล้อง CCTV

โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ระบบศูนย์เตือนภัย มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน จัดทำระบบคาดการณ์แบบจำลองสถานการณ์และเตือนภัยในเชิงพื้นที่ มีระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Smart Phone, Internet และ Social Media รวมทั้งมีศูนย์รับแจ้งข้อมูล (Call Center) เชื่อมโยงเครือข่ายสื่อกระจายข่าวหมู่บ้าน และมีการประชาสัมพันธ์โดยสื่อต่างๆ ทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และ Website ในช่วงเวลาที่เหมาะสม และ พัฒนาระบบช่วยในการตัดสินใจ (Decision Support System)

3) การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารน้ำ (Rule Curve) ของเขื่อนใหญ่ทั้ง 33 แห่ง โดยให้มีความสมดุลในช่วงฤดูฝนและแล้ง ซึ่งต้องพิจารณาถึงน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การป้องกันบรรเทาอุทกภัย การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร การอุตสาหกรรม ควบคู่กันไปให้เหมาะสม โดยเน้นเขื่อนสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น เขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 จะปรับเกณฑ์การบริหารจัดการ (Rule Curve) ใหม่ โดยให้มีปริมาณน้ำต่ำสุดอยู่ที่ 45% ซึ่งจะทำให้ ปี 2555 เขื่อนทั้ง 2 แห่ง สามารถรับน้ำได้ 12,000 ล้าน ลบ.ม. มากกว่า ปี 2554 ถึง 5,000 ล้าน ลบ.ม.

พื้นที่กลางน้ำ ได้ติดตามงานและมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานปฏิบัติ ประกอบด้วย 1) ตามยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องดำเนินการในพื้นที่กลางน้ำทั้งตอนบนและตอนล่าง คือการหาที่อยู่ให้น้ำ การจัดหาทุ่งรับน้ำ (แก้มลิง) ให้สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 5,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต้องใช้พื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และทุ่งรับน้ำธรรมชาติ โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ สามารถจัดหาพื้นที่แก้มลิง โดยการบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงาน ได้ดังนี้ พื้นที่กลางน้ำตอนบน 6 จังหวัด หาพื้นที่ทุ่งเหนือนครสวรรค์ได้แล้ว 500,000 ไร่ เช่นพื้นที่อำเภอชุมแสง อำเภอบางมูลนาก ฯลฯ รับน้ำได้ประมาณ 1,850 ล้าน ลบ.ม. และได้มอบหมายให้ทุกจังหวัดในพื้นที่เร่งดำเนินการจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมให้ได้ประมาณ 1,000,000 ไร่ โดยจะต้องให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ที่อยู่อาศัย น้อยที่สุด

พื้นที่กลางน้ำตอนล่าง 8 จังหวัด สามารถหาพื้นที่ทุ่งรับน้ำใต้นครสวรรค์ได้แล้ว ประมาณ 1 ล้านไร่ เช่นพื้นที่รับน้ำทุ่งบางบาล เป็นต้น รับน้ำได้ประมาณ 3,100 ล้าน ลบ.ม. รวมพื้นที่แก้มลิงที่จัดหาได้ในปัจจุบัน ประมาณ 1.5 ล้านไร่ รองรับน้ำได้ประมาณ 4,900 ล้าน ลบ.ม.

การดำเนินการในพื้นที่แก้มลิง ประกอบด้วย การทำคันปิดล้อมในพื้นที่จำเป็น มีการก่อสร้างทางน้ำเข้า-ออกของน้ำ ขุดลอกทางน้ำ เชื่อมโยงน้ำออกจากแก้มลิง จัดหาเครื่องสูบน้ำ เพื่อเตรียมการให้พร้อมทั้งก่อนรับน้ำหลากและหลังปัญหาอุทกภัยคลี่คลาย รวมทั้งต้องพิจารณาถึงเส้นทางคมนาคมขนส่ง และระบบ Logistics ให้สามารถใช้การได้ โดยยึดหลักเชื่อมโยงแหล่งน้ำด้วยคลอง เชื่อมคลองเล็กสู่คลองใหญ่ การเชื่อมโยงน้ำข้ามลุ่มน้ำ โดยมอบหมายให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงคมนาคม ดำเนินการจัดทำแผนและโครงการโดยด่วน

โดยให้ กยน. เป็นผู้กำกับติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะ ตลอดจนให้แต่ละจังหวัดทำการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของแต่ละจังหวัด รวมทั้งพื้นที่โบราณสถาน ให้ปลอดภัยจากน้ำท่วม และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย จัดทำแผนและโครงการขุดลอกคู-คลอง และสร้างคั้นป้องกันโบราณสถาน อย่างเร่งด่วน โดยให้ กยน. เป็นผู้กำกับติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะ

พื้นที่ปลายน้ำ ได้ติดตามงานและมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานปฏิบัติ ประกอบด้วย 1) การป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศและการผันน้ำ (Flood way) โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีงานที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน โดย กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร

และจังหวัดในกลุ่มปลายน้ำคือ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี ดำเนินการดังนี้ พื้นที่ป้องกันฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ปรับปรุงคันดินปิดล้อมริมแม่น้ำ(เจ้าพระยา ป่าสัก ถึงเขื่อนพระราม 6 และริมคลองระพีพัฒน์แยกใต้-คลอง13-คลองพระองค์ไชยานุชิต ซ่อมแซม ประตูน้ำ และติดตั้งสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม เช่น ประตูระบายน้ำปากคลองรังสิต คลองอ้อม คลองบ้านพร้าว

ปรับปรุงคลองระบายน้ำภายในคันดินปิดล้อม โดยเฉพาะคลองแนวเหนือใต้ ปรับปรุงทางน้ำหลาก (Floodway) นอกคันดินปิดล้อม ตั้งแต่แม่น้ำป่าสักมาตามคลองระพีพัฒน์แยกใต้-คลอง13-คลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่าวไทย โดยขุดลอกคลอง/กำหนดขอบเขตทางน้ำหลาก/ปรับปรุงช่องทางน้ำที่ตัดผ่านถนน ปรับปรุงย้ายแนวคันป้องกัน จากแนวคันพระราชดำริด้านทิศเหนือไปอยู่ริมคลองรังสิตและด้านทิศตะวันออกไปตามถนนนิมิตรใหม่ไปจนถึงคลองรังสิตพร้อมสร้าง ปตร./สถานีสูบน้ำชั่วคราว

สำหรับพื้นที่ป้องกันฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ปรับปรุงคันปิดล้อมริมแม่น้ำเจ้าพระยา-ริมคลอง พระยาบันลือ (ฝั่งใต้) -ริมแม่น้ำท่าจีน ซ่อมแซมประตูน้ำและติดตั้งสถานีสูบน้ำเพิ่มเติม (ริมคันปิดล้อม) เช่น ประตูระบายน้ำปากคลองมหาสวัสดิ์ ประตูระบายน้ำคลองพระพิมล ปรับปรุงคลองระบายน้ำภายในคันปิดล้อมโดยเฉพาะคลองแนวเหนือ-ใต้ ทั้งในพื้นที่ชลประทานและพื้นที่ กทม. ให้สามารถระบายน้ำไปยังพื้นที่แก้มลิงสนามชัย-มหาชัยได้

ตลอดจนการปรับปรุงทางน้ำหลาก(Floodway) นอกคันปิดล้อม ตั้งแต่พื้นที่ชลประทานเจ้าเจ็ดบางยี่หน ไปทาง บางเลน-นครปฐม-บ้านแพ้ว สมุทรสาคร-ลงสู่อ่าวไทย โดยการขุดลอกคลอง/กำหนดขอบเขตทางน้ำหลาก/ปรับปรุงช่องทางน้ำที่ตัดผ่านถนน (เช่น ถนนบางเลน-กำแพงแสน / ถนนนครชัยศรี-นครปฐม-บ้านโป่ง / ถนนเลียบคลองดำเนินสะดวก ถนนสมุทรสาคร-สมุทรสงคราม)

2) การป้องกันพื้นที่อุตสาหกรรม รัฐบาลได้มีแผนและงบประมาณจัดทำพื้นที่ปิดล้อมป้องกันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยการปรับปรุงคันที่มีอยู่แล้ว ทั้งในส่วนที่เป็นกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก และคันดิน ให้สามารถป้องกันน้ำไม่ให้เข้าสู่นิคมอุตสาหกรรม พร้อมทั้งปรับปรุง และเสริมให้แข็งแรงสามารถกันน้ำได้

รวมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในภาพรวมที่ชัดเจน ไม่ใช่การป้องกันนิคมอุตสาหกรรมแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องรวมถึงการจัดการด้านโลจิสติกส์และระบบกระจายสินค้า การจัดระบบการคมนาคมขนส่ง และการเดินทางเข้าออกนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดน้ำท่วมเป็นเวลานาน

และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการ ติดตาม และรายงานผลเป็นระยะ ในส่วนที่แต่ละนิคมฯ สร้างพนังกั้นน้ำของแต่ละนิคมฯ ถือเป็น Safety อีกชั้นหนึ่ง นอกจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้ โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้ติดตามการดำเนินงาน และรายงานผลเป็นระยะ

สำหรับการป้องกันและซ่อมแซมโบราณสถานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยจำนวน 158 แห่ง ใน 4 จังหวัด คือ อยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง และสระบุรี อนุมัติงบประมาณ จำนวน 775 ล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด สำหรับการป้องกันมอบให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันจัดทำแผนป้องกันระยะยาว โดยมอบให้ กยน. พิจารณา

สรุปภาพรวมเรื่องของการดูแลเยียวยาส่วนใหญ่รัฐบาลได้มีการดำเนินการเกือบครบแล้ว เหลือเฉพาะในส่วนของพื้นที่ปลายน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหลืออยู่ในส่วนของการที่ประชาชนอาจจะยังไม่ได้รับการติดต่อ ซึ่งตรงดำเนินการเกือบหมดแล้ว ส่วนที่ 2 คือ ได้มีการอนุมัติดำเนินการโครงการเพิ่มเติมเร่งด่วนจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ (FlagShip) ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน

สรุปโครงการ FlagShip ทั้งหมด 117 โครงการ วงเงินงบประมาณ 4,998.55 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแก้มลิง โครงการเร่งการระบายน้ำ โครงการป้องกันพื้นที่สำคัญ โครงการถนนและคมนาคม โครงการอ่างเก็บน้ำ และโครงการอื่น ๆ

และได้เน้นให้พื้นที่ในกรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการโครงการ FlagShip เพื่อเร่งการระบายน้ำ สร้างทำนบกั้นน้ำ ก่อสร้างและปรับปรุงแนวคันคอนกรีตบริเวณแนวคันพระราชดำริ เร่งทำความสะอาดท่อระบายน้ำในชุมชนส่วนที่เหลือทั้งหมด รวมทั้งการติดตั้ง Barrier กั้นน้ำที่สามารถเคลื่อนย้ายนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ได้โดยสะดวกรวดเร็ว โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไป

นายกรัฐมนตรีได้ สรุปภาพรวมการตรวจราชการและติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำตลอดระยะเวลา 5 วัน ว่า ในช่วง 3 เดือนต่อจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการ กยน. และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จะมีการติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อรัฐบาลจะได้ชี้แจงความคืบให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบต่อไป