เนื้อหาวันที่ : 2007-05-08 09:09:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1626 views

บีโอไอ-สรรพสามิตเร่งเคาะภาษีอีโคคาร์ เงินลงทุนไตรมาสแรกทะลุ1.29แสนล.

บีโอไอ-สรรพสามิต เร่งสรุปตัวเลขลดภาษีอีโคคาร์ก่อนหารือค่ายรถยนต์ หวังแจ้งเกิดอีโคคาร์ในเร็วๆ นี้ "สาธิต" เลขาฯบีโอไอ เผยมูลค่าลงทุนไตรมาสแรกพุ่ง 75%

บีโอไอ-สรรพสามิต เร่งสรุปตัวเลขลดภาษีอีโคคาร์ก่อนหารือค่ายรถยนต์ หวังแจ้งเกิดอีโคคาร์ในเร็วๆ นี้ "สาธิต" เลขาฯบีโอไอ เผยมูลค่าลงทุนไตรมาสแรกพุ่ง 75% มูลค่า 1.29 แสนล้านบาท พบนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มมูลค่าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ด้านบอร์ดบีโอไออนุมัติให้การส่งเสริม 7 โครงการ ทั้งโรงงานผลิตเอทานอล-ปิโตรเคมี-ผลิตไฟฟ้า มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท

..

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงประเด็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถยนต์นั่งประหยัดพลังงานขนาดเล็ก (อีโคคาร์) ว่า ขณะนี้ทางบีโอไอได้หารือกับกรมสรรพสามิต โดยสรุปตัวเลขภาษีที่กรมสรรพสามิตจะลดให้กับผู้ประกอบการที่จะลงทุนผลิตรถอีโคคาร์ในเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขของภาษีได้ในขณะนี้เพราะอยู่ในขั้นตอนการเจรจาหารือร่วมกับค่ายรถยนต์แต่ละรายอยู่ โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในเร็วๆ นี้

..

"ในส่วนของมาตรการสนับสนุนรถอีโคคาร์ที่เหมาะสม ต้องมีการลดภาษีเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนมากขึ้น เพราะการลดภาษีจะทำให้ราคารถถูกลง ความต้องการในการซื้อรถจะมีมากขึ้น ทำให้การลงทุนมีตลาดรองรับ ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ประกอบการ ซึ่งการเจรจากับค่ายรถยนต์ต่างๆ การให้สิทธิประโยชน์จะเท่ากันหมด" นายสาธิตกล่าว

..

นโยบายสนับสนุนการลงทุนอีโคคาร์ถูกผลักดันมาตั้งแต่สมัยที่นายพินิจ จารุสมบัติ เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรมในสมัยแรก จนปัจจุบันล่วงเลยมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งนโยบายดังกล่าวค่ายรถยนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโตโยต้า, ฮอนด้า, ฟอร์ด ต่างก็ให้ความสนใจที่จะลงทุน แต่เนื่องจากความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน จึงทำให้โครงการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เสียที

..
เงินลงทุน Q 1 มูลค่า 1.29 แสนล้าน

มูลค่าเงินลงทุนของโครงการที่ขอรับส่งเสริมในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2550 มีมูลค่า 129,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 75% ส่วนจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 18% จาก 302 โครงการ เป็น 356 โครงการ อุตสาหกรรมที่มีผู้สนใจลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งคือ อุตสาห กรรมปิโตรเคมี กระดาษ และพลาสติก อันดับที่สองคือ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าการลงทุนรวม 29,600 ล้านบาท อันดับสามคือ อุตสาหกรรมเกษตร อันดับสี่คือ อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีมูลค่าการลงทุน 11,500 ล้านบาท กว่าร้อยละ 72 โดยมีโครงการผลิตยางรถยนต์ โครงการผลิตรถแทรกเตอร์ โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ Mould & Die อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

..

ส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ในช่วง 3 เดือนแรกปี 2550 มีมูลค่ากว่า 74,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2549 โดยหลายประเทศมีการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มมากขึ้นกว่าไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากญี่ปุ่น ยังคงเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยสูงสุดจำนวน 81 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 39,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 51% ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด สาธารณรัฐประชาชนจีน เพิ่ม 500% เกาหลีใต้ เพิ่ม 10% อินเดีย เพิ่ม 110% อินโดนีเซีย เพิ่ม 1,600% แม้แต่การลงทุนจากออสเตรเลีย ซึ่งถูกระบุว่าขาดความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทย ยังเพิ่มขึ้น 37%

..
อนุมัติส่งเสริม 7 โครงการ 8 หมื่นล้าน

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอหามาตรการเร่งรัดส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วน โลหะ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมเกษตร รวมทั้งหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของผู้ได้รับการส่งเสริม ทั้งนี้เพื่อช่วยกระตุ้นการลงทุนและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ที่ประชุมได้อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 7 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 82,744 ล้านบาท ดังนี้

..

1)กิจการผลิตเอทานอล ของบริษัทสระแก้ว ไบโอเอทานอล ได้รับการส่งเสริมเพื่อผลิต เอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% ปีละประมาณ 165,000,000 ลิตร/ปี โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ มูลค่าเงินลงทุน 6,250 ล้านบาท

..

2)กิจการผลิตเอทานอล ของบริษัท ไท่ผิง เอทานอล จำกัด ได้รับการส่งเสริมเพื่อผลิต เอทานอล ที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% ปีละ 99,000,000 ลิตร/ปี โดยใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ มูลค่าเงินลงทุน 1,350 ล้านบาท

..

3)กิจการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 2,320 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช (มาบตาพุด) จ.ระยอง

..

4)กิจการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี นายอดิเทพ พิศาลบุตร์ มูลค่าเงินลงทุน 49,169 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) จ.ระยอง

..

5)กิจการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ของบริษัท ไทยโพลิโพรไพลีน จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 8,587.5 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ.ระยอง

..

6)กิจการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ของบริษัท ไทยโพลิเอททิลีน จำกัด ได้รับการส่งเสริมในการผลิต HIGH DENSITY POLYETHYLENE (HDPE) โดยมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 400,000 ตัน มูลค่าเงินลงทุน 7,312.5 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ.ระยอง

..

7)กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือไอน้ำ ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ได้รับ ส่งเสริมในการขยายกิจการผลิตไฟฟ้า 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 100 ตัน/ชั่วโมง มูลค่าเงินลงทุน 7,755 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด จ.ระยอง โครงการนี้จะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก

..

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ