วุฒิสภา รับเรื่องเครือข่ายภาคประชาชนฯ จี้การท่าฯ เร่งตรวจสอบเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ในท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้ง ก่อนเปิดให้บริการ
วุฒิสภา รับเรื่องเครือข่ายภาคประชาชนฯ จี้การท่าฯ เร่งตรวจสอบเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ในท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้ง ก่อนเปิดให้บริการ
ตามที่ เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อคุ้มครองสิทธิ ได้ร้องเรียนถึงกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภาว่า ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) จะเริ่มทดลองบินในวันที่ 2 มีนาคม 2555 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 6 มีนาคม 2555
นางภารดี จงสุขธนามณี ประธานอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา เปิดเผยว่า จะเรียกผู้รับผิดชอบมาชี้แจง และลงตรวจสอบพื้นที่โดยเร่งด่วน เพราะการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้ประชาชนและผู้โดยสารมั่นใจได้ว่า เมื่อเข้าไปใช้บริการในอาคารที่พักผู้โดยสาร อาคารอื่นๆ รวมทั้งอาคารจอดรถยนต์แล้ว จะไม่ถูกปนเปื้อนด้วยเชื้อโรคที่มากับน้ำท่วมขัง เพราะท่าอากาศยานดอนเมือง ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลาเกือบ 1 เดือน
เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว บ้านเรือน หรือสถานที่ที่ถูกน้ำท่วมขังย่อมต้องมีเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เกาะติดอยู่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในท่อแอร์ ท่อ ระบายอากาศต่างๆ ซึ่งในกรณีท่าอากาศยานดอนเมืองก็คงเช่นกัน ซึ่งต้องมีการฆ่าเชื้อโรคด้วยก๊าซโอโซน หรือคลอรีนต่างๆ เป็นต้น ตามระเบียนของกระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานของสนามบิน การทำความสะอาดเพียงบริเวณพื้น หรือผนังห้องไม่เพียงพอ ที่จะป้องกันโรคที่อาจมาจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน
การที่การท่าจะเชิญสื่อมวลชนมาทดสอบในวันที่ 2 มีนาคม และเปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองในวันที่ 6 ขณะที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อชีวอนามัยของผู้โดยสาร จะเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในระยะยาว ดังนั้น ประธานอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ
วุฒิสภา จึงได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข ให้เข้าไปทำการติดตามตรวจสอบเชื้อโรค เชื้อราก่อน และต้องตรวจมาตรการทางชีวอนามับของการท่าอากาศยานฯ ให้มีมาตรการในการกำจัดเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของพนักงานและผู้โดยสาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อการเข้าไปใช้ประโยชน์อาคารดังกล่าว ทั้งนี้ภาคประชาชนฯ และ อนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ วุฒิสภา จะเฝ้าติดตามดูการดำเนินการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
หากการท่าอากาศยานฯ ไม่ดำเนินการให้เป็ฯไปตามหลักสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในระดับสากล และหากมีผู้โดยสารหรือพนักงานใดๆ ได้รับเชื้อโรคเข้าไปจากการเข้าไปใช้ประโยชน์ในอาคารที่เคยถูกน้ำท่วม ภาคประชาชนอาจจะฟ้องร้องทั้งต่อศาลปกครองและศาลอาญาต่อไป