เนื้อหาวันที่ : 2012-02-13 17:33:13 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 752 views

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง ประสบความสำเร็จอย่างสูงหลังจากการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศท่ามกลางเสียงเชียร์อันดังสนั่นจากกองเชียร์และผู้ชม

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง ประสบความสำเร็จอย่างสูง หลังจากการขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศท่ามกลางเสียงเชียร์อันดังสนั่นจากกองเชียร์และผู้ชม ทีมหุ่นยนต์หลายทีมประสบความสำเร็จในการคว้าเงินรางวัลและโล่เกียรติยศกลับสู่สถาบันการศึกษาของพวกเขา   จากทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมดจำนวน 13 ทีม

โดยทีมเมคา ไบค์  (MECHA BIKE) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) เป็นทีมที่มีคะแนนรวมสูงสุดเป็นอันดับแรกและได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 150,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ ในการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง  ทีมที่ได้รับรางวัลที่สอง ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 100,000 บาทได้แก่ทีมไอราป_อินดี้ (iRAP_Indy) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  

ส่วนทีมที่ได้รับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นรางวัลเงินสด 50,000 บาทได้แก่ทีมเอสทีอาร์ไอ (STRI) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ    และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเงินสดจำนวน 50,000 บาท ถูกมอบให้แก่ทีมไมโคร โรบ็อต  (Micro Robot) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร  โดยซีเกท ประเทศไทย เป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัลทั้งหมด

การแข่งขันอันน่าตื่นเต้นนี้ถูกจัดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)

การแข่งจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับมีวัตถุประสงค์ดังนี้
          • สนับสนุนความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพัฒนาความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนาหุ่นยนต์ของนิสิต นักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์

          • เสริมสร้างศักยภาพในการทำโครงงานวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ

          • ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนิสิต นักศึกษาจากต่างสถาบันผ่านทางการเข้าร่วมการแข่งขัน

          • สร้างแรงบันดาลใจให้นิสิต นักศึกษาไทยนำความรู้ภาคทฤษฏีมาปรับใช้ในการทำงานจริง

“การเข้าร่วมการแข่งขันทำให้ผมและเพื่อนร่วมทีมได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิศวกรรม หุ่นยนต์และเทคโนโลยี” นายเรวัต     บุญจันทร์ หัวหน้าทีมเมคา ไบค์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าว “จักรยานหุ่นยนต์ของเราเคลื่อนที่ไปบนเส้นทาง การแข่งขันได้อย่างรวดเร็วและมีความเสถียร ด้วยโปรแกรมที่เราได้กำหนดไว้อย่างดี เราจึงชนะการแข่งขัน”

หุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มากขึ้น ดังนั้น การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์  ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สอง จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะของเยาวชนไทยในศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์  เนื่องจากการแข่งขันนี้มีความเกี่ยวข้องกับการวิจัยหลากหลายสาขา ซึ่งผสมผสานการค้นพบทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกลและปัญญาประดิษฐ์  ศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์จะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตเช่นเดียวกัน

“เราทราบกันดีว่าเยาวชนต่างให้ความสนใจกับหุ่นยนต์และเทคโนโลยีหุ่นยนต์” นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง ผู้จัดการโรงงานเทพารักษ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “การศึกษาทางด้านหุ่นยนต์จะมีการเรียนรู้กันอย่างกว้างขวางในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้  นอกจากนี้  ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าการใช้หุ่นยนต์ในวงการการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ดีในการสร้างแรงบันดาลใจให้นิสิต นักศึกษา สนใจประกอบอาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่บริษัทซีเกทให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สอง  ซีเกทมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์ผ่านทางเวทีการแข่งขัน

ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย (BicyRobo Thailand Championship)
 
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์     ชิงแชมป์ประเทศไทย (BicyRobo Thailand Championship) ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกในโลก เมื่อปี 2554 จัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่สองในประเทศไทยในปี 2555 โดยซีเกทได้มอบเงินงบประมาณ จำนวน  1.7 ล้านบาท เพื่อการจัดการแข่งขันและเงินรางวัลสำหรับทีมต่างๆในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ

การจัดการแข่งขัน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญ ในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและวิศวกรรมควบคุม  ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและสนับสนุนการทำกิจกรรมนอกหลักสูตรแก่นิสิตนักศึกษาไทย และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาหุ่นยนต์ให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ เป็นการแข่งขันออกแบบ และพัฒนาจักรยานที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลแบบสองล้อหน้าหลังได้ด้วยตัวเองโดยไม่ล้มไปด้านข้างโดยใช้การควบคุมทางพลศาสตร์  นอกจากนี้  จักรยานหุ่นยนต์
จะต้องมีความสามารถของรถอัจฉริยะในการวิ่งได้ด้วยตัวเอง จากจุดเริ่มต้นผ่านเส้นทางที่กำหนดให้ไปถึงจุดหมายโดยไร้คนบังคับ  นักศึกษาที่ผ่านการแข่งขันนี้ จะได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถในสาขาวิศวกรรมควบคุมควบคู่ไปกับวิศวกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 รอบคือ รอบคัดเลือก และรอบชิงชนะเลิศ  ในการแข่งขันรอบคัดเลือก ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดไว้  เส้นทางการแข่งขันจะไม่มีเส้นชัย จะเป็นการวิ่งวนไปจนยุติการแข่งขันตามเวลา โดยเวลาที่ใช้ในการแข่งขันสูงสุดของแต่ละทีมคือ 10 นาที  ผู้เข้าแข่งขันสามารถขอยุติการแข่งขันของทีมตัวเองก่อนเวลาการแข่งขันสูงสุดได้  ในช่วง 5 นาทีนี้ผู้เข้าแข่งขันสามารถขอเริ่มต้นใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ผลของการแข่งขันรอบคัดเลือกจะพิจารณาจากการวิ่งครั้งที่ได้คะแนนสูงสุด

ทีมที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด 15 ทีมแรกจะได้รับเงินสนับสนุน ทีมละ 20,000 บาท  โดยคะแนนรวม คำนวณจาก ระยะทางที่วิ่งได้ (เมตร) บวกด้วย (0.2 x เวลาที่จักรยานหุ่นยนต์สามารถทรงตัวอยู่ได้โดยไม่ล้ม (วินาที))

ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ  ผลของการแข่งขันจะพิจารณาจากการวิ่งครั้งสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ให้วิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ ในลักษณะของตำแหน่งต่าง ๆ ที่จักรยานหุ่นยนต์จะต้องวิ่งผ่านตามลำดับ วิ่งวนไป จนหมดเวลา หรือจนได้ผู้ชนะจากการวัดระยะทางหรือการกำลังถูกแซง  ในรอบชิงชนะเลิศ คณะกรรมการสนามจะทำการปล่อยจักรยานหุ่นยนต์ครั้งละ 2 คันพร้อมกัน

โดยจุดที่ปล่อยห่างกันครึ่งหนึ่งของระยะทางเส้นทางการแข่งขัน ทีมที่ถูกตามหลังด้วยระยะห่างสั้นกว่า 20 เมตรจะถือว่ากำลังถูกแซง จะแพ้ในการแข่งขันต่อทีมที่กำลังจะแซงทันที  ในกรณีที่ไม่มีการแพ้ชนะแบบมีการแซงกันเกิดขึ้น  การตัดสินทีมที่ชนะ จะพิจารณาจากทีมที่วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุด 

รางวัลสำหรับจักรยานหุ่นยนต์มีดังนี้ รางวัลชนะเลิศ 150,000 บาท  รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 50,000 บาท และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ 50,000 บาท  15 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คน
บังคับได้รับเงินรางวัลทีมละ 20,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถจักรยานหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 

ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ

เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ  ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยได้ที่ โทร.  0-2470-9713,  0-2470-9720 หรือ เว็บไซต์ www.trs.or.th

ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที)
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกผ่านการศึกษาขั้นสูง การทำวิจัย และ กิจกรรมต่อยอดอื่น ๆ สถาบันเอไอทีซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2502 ได้กลายเป็นสถาบันบัณฑิตชั้นนำของภูมิภาคเอเชียและกำลังทำงานอย่างกระตือรือร้นร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐบาลและเอกชนทั่วพื้นภูมิภาค และกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

สถาบันฯซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านความเป็นนานาชาติและหลากวัฒนธรรม ดำเนินการในลักษณะประชาคมนานาชาติที่มี สิ่งอำนวยความสะดวกพรั่งพร้อมภายในบริเวณสถาบันฯ ซึ่งตั้งอยู่บน กม.ที่ 40 ทางเหนือของกรุงเทพฯ ประเทศไทย
นอกเหนือจากห้องปฏิบัติการและอาคารเรียนต่างๆ บริเวณของสถาบันฯประกอบด้วยที่พัก สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ ศูนย์การประชุม และห้องสมุดที่มีหนังสือกว่า 230,000 เล่ม วารสารแบบพิมพ์เป็นเล่มและแบบออนไลน์จำนวน 830 รายการ ทุกอย่างมีส่วนช่วยทำให้พันธกิจหลักของสถาบันเอไอทีบรรลุเป้าหมาย

ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูล  ท่านสามารถพบข้อมูลเกี่ยวกับซีเกทได้ที่ http://www.seagate.com

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันและ
อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)
โทรศัพท์ 0-2524-5229 Email: manukid@ait.ac.th
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์  ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์  บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com