เนื้อหาวันที่ : 2012-02-08 16:52:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1074 views

กำหนดช่วงราคาหุ้นไอพีโอ ปัญจวัฒนาพลาสติก 3.58-3.68 บาท

ปัญจวัฒนาพลาสติก กำหนดช่วงราคาขาย IPO ที่ 3.58-3.68 บาท เตรียมเปิดจอง 20-22 ก.พ.นี้

ปัญจวัฒนาพลาสติก กำหนดช่วงราคาขาย IPO ที่ 3.58-3.68 บาท เตรียมเปิดจอง 20-22 ก.พ.นี้

PJW - ‘ปัญจวัฒนาพลาสติก’ ได้กำหนดช่วงราคาขาย IPO ที่ 3.58-3.68 บาท โดยจะสรุปราคาขายที่แน่นอนในวันที่ 16 ก.พ. ก่อนเปิดให้ประชาชนจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ. นี้ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ในฐานะผู้จัดการ     การจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายมั่นใจจะได้รับการตอบรับที่ดี ด้านผู้บริหารย้ำจุดแข็งของธุรกิจ  ทั้งวิสัยทัศน์ผู้บริหาร ความเชี่ยวชาญของบุคลากร และเทคโนโลยีที่จัดอยู่ในชั้นแนวหน้าของโลก ทำให้ลูกค้าแบรนด์ดังระดับโลกให้ความไว้วางใจบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์  กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW เปิดเผยว่าทางผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายและบริษัทฯ ได้กำหนดช่วงราคาขายหุ้น PJW ที่ 3.58-3.68 บาท

ซึ่งพิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ของตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอและ บริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกับบริษัทฯ สำหรับราคาที่แน่นอนนั้นจะสรุปได้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ก่อนจะเปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 20-22 กุมภาพันธ์ พร้อมทั้งคาดว่าหุ้นของ PJW จะเริ่มทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอได้ประมาณวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้

นายสมภพ เชื่อว่าหุ้น PJW จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างแน่นอน เนื่องจาก PJW เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบ การวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ PJW ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ซึ่งจะไม่จำกัดอยู่เพียงตลาดในประเทศไทยเท่านั้น การลงทุนในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก บริษัทฯ ก็เพิ่งเริ่มเข้าไปทำธุรกิจได้ไม่ถึง 1 ปี จึงยังมีโอกาส ต่อยอดการเติบโตได้อีกมาก

นายสาธิต  เหมมณฑารพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW  ผู้ผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับน้ำมันหล่อลื่นรายใหญ่ของประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจของ PJW มิใช่เพียงแค่ผลิตสินค้าตามคำสั่งของลูกค้า แต่เราได้ร่วมออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจของลูกค้า เช่น มีดีไซน์ที่สวยงาม ทันสมัย จูงใจผู้บริโภค

อีกทั้งยังลดต้นทุนการบรรจุหีบห่อและการขนส่งอีกด้วย PJW จึงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับลูกค้าแต่ละรายอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ได้รับความไว้วางใจและความเชื่อถือจากลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันหล่อลื่นชั้นนำของไทย เช่น ปตท. ไปจนถึงแบรนด์ชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น คาลเท็กซ์ เอ็กซอน-โมบิล คาสตรอล ปิโตรนาส

นอกจากนี้ PJW ยังผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับนมและนมเปรี้ยว มีลูกค้าเช่น โฟร์โมสต์  ซีพี-เมจิ  ดัชมิลล์  ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับยานยนต์ เช่น ของมิตซูบิชิ ฮอนด้า นิสสัน จีเอ็ม ทาทา ฮีโน่  ยามาฮ่า วอลโว่ คาวาซากิ และยังผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค สารเคมีสำหรับการเกษตร อีกด้วย

“การที่เราจะออกแบบและผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด และมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรม มีความเข้าใจในธุรกิจอย่างลึกซึ้ง และมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  อีกทั้งต้องลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีที่เราใช้ อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของโลก” นายสาธิตกล่าว

นายประเสริฐ ภัทรดิลก กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ PJW กล่าวว่า การเติบโตของยอดขายและกำไรของปัญจวัฒนาพลาสติกอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริหารของ PJW มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  สามารถวางทิศทางการเติบโตของธุรกิจได้อย่างถูกต้อง มีการกระจายกลุ่มลูกค้าไปในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย โดยมุ่งอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง รวมทั้งการเปิดธุรกิจในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงมาก โดยผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ที่ผ่านมา บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้รวม          1,244.43  ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 112.11 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทฯ จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งสิ้น 112 ล้านหุ้น โดยแบ่งเป็นการเสนอขายให้แก่ประชาชน 108 ล้านหุ้น และการเสนอขายให้แก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ 4 ล้านหุ้น

โดยบริษัทฯ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานส่วนต่อขยาย  รวมถึงซื้อเครื่องจักรสำหรับการผลิต เพื่อรองรับการขยายตัวและความต้องการของบรรจุภัณฑ์ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินธุรกิจ