สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยสถานการณ์ภาคการผลิตธ.ค. 54 หดตัว 25.8% รวมทั้งปี 54 หดตัว 9.3% ด้านอุตฯ น้ำตาล เบียร์ เม็ดพลาสติก โตโดดเด่น
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยสถานการณ์ภาคการผลิตธ.ค. 54 หดตัว 25.8% รวมทั้งปี 54 หดตัว 9.3% ด้านอุตฯ น้ำตาล เบียร์ เม็ดพลาสติก โตโดดเด่น
การผลิตภาคอุตสหกรรมในเดือนธันวาคม 2554 หดตัวร้อยละ 25.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนกันยายน อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบในการผลิต ส่งผลให้การผลิตปี 2554 หดตัวร้อยละ 9.3
การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวในเดือนธันวาคม 2554 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 25.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการขาดแคลนชิ้นส่วนวัตถุดิบในการผลิต
ถึงแม้ว่าในเดือนธันวาคม 2554 โรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนสามารถฟื้นฟูซ่อมแซมเครื่องจักรได้แล้วและเริ่มทำการผลิต แต่ระดับการผลิตก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ อุตสาหกรรมที่ขยายตัวมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการน้ำตาล เบียร์ และเม็ดพลาสติก โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล ในเดือนธันวาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 78.7 เนื่องจากปริมาณผลผลิตอ้อยที่เพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2554 และโรงงานสามารถเปิดหีบได้เร็วกว่าปีก่อน
อุตสาหกรรมเบียร์ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเบียร์ในเดือนธันวาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 34.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องเร่งผลิตเพื่อให้ทันจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ หลังจากประสบปัญหาการหดตัวจากช่วงที่เกิดอุทกภัยซึ่งไม่สามารถผลิตและขนส่งสินค้าได้ตามปกติ
อุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติก ดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติกในเดือนธันวาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากหลาย ๆ บริษัทกลับมาผลิตได้ตามปกติ
การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวในเดือนธันวาคม 2554 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย จึงทำให้การผลิตหดตัว อย่างไรก็ตามการผลิตในเดือนธันวาคม 2554 ก็เริ่มฟื้นตัวจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในเดือนธันวาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 1.9
การจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2554 ดัชนีการส่งสินค้าหดตัวร้อยละ 27.2 สอดคล้องกับการผลิตและการส่งออกที่หดตัว
สำหรับการใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2554 ยังคงหดตัวต่อเนื่องและสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 9.4
การผลิตภาคอุตสาหกรรมปี 2554 กลับมาหดตัวหลังจากที่ขยายตัวดีในปี 2553 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปี 2554 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้การผลิตหดตัวมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นเมื่อต้นปี และอุทกภัยในประเทศไทยช่วงปลายปี ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ 58.17
อุตสาหกรรมสำคัญ ๆ มีการผลิตหดตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่มีโรงงานผลิตอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
โดยดัชนีผลผลิตรถยนต์เฉลี่ยทั้งปี 2554 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ 14.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะไตรมาส 2 ของปี 2554 ดัชนีหดตัวร้อยละ 18.37 และไตรมาส 4 หดตัวถึงร้อยละ 61.61 แม้ว่ามีโรงงานผลิตรถยนต์เพียงโรงงานเดียวที่ถูกน้ำท่วม แต่โรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจึงทำให้ไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนให้กับโรงงานรถยนต์แห่งอื่นได้
สำหรับอุตสาหกรรมอื่นก็ได้เช่นเดียวกัน ทั้งการผลิต Hard Disk Drive การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์การผลิตเครื่องปรับอากาศ และการผลิตสิ่งทอต้นน้ำ มีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเฉลี่ยทั้งปี 2554 หดตัวร้อยละ 16.29 12.69 5.42 และ 17.31 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาส 4 ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวหดตัวร้อยละ 54.95 59.99 57.12 และ 39.31 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
การจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมของปี 2554 กลับมาหดตัวเช่นเดียวกับการผลิต โดยดัชนีการส่งสินค้าเฉลี่ยปี 2554 หดตัวร้อยละ 7.9 และเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในแต่ละไตรมาสแล้วพบว่า ดัชนีการส่งสินค้าในไตรมาส 2 และ 4 ของปีมีการหดตัวร้อยละ 5.77 และ 32.81 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม
สำหรับการใช้แรงงานในภาคการผลิตปี 2554 หดตัวเช่นกัน โดยดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยของปี 2554 หดตัวร้อยละ 3.5 ลดลงจากปีก่อน ที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตที่หดตัวทำให้การใช้แรงงานในภาคการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน