เนื้อหาวันที่ : 2012-02-03 10:30:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1721 views

ส่งออก ธ.ค. 54 วูบ 2% อิเล็กฯ-เครื่องใช้ไฟฟ้า-ยานยนต์ ยังหดตัว

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยยอดส่งออกเดือน ธ.ค. 54 หดตัว 2% จากวิกฤติน้ำท่วม สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 6.7% จับตาสถานการณ์เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญกระทบส่งออกไทย

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยยอดส่งออกเดือน ธ.ค. 54 หดตัว 2% จากวิกฤติน้ำท่วม สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 6.7% จับตาสถานการณ์เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญกระทบส่งออกไทย

ในเดือนธันวาคม 2554 การส่งออกรวมของไทยหดตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการเกิดอุทกภัยที่ส่งผลกระทบมาตั้งแต่ในช่วงเดือนตุลาคม 2554 อย่างไรก็ตามการหดตัวดังกล่าวเป็นไปในอัตราที่น้อยลงเมื่อเทียบกับในเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวร้อยละ 12.4 การนำเข้ารวมกลับมาขยายตัวร้อยละ 19.1

โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกสำคัญอย่างเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ยังคงหดตัว นอกจากนี้ยังคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักสำคัญของไทยอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีนที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทย

ในเดือนธันวาคม 2554 ไทยมีมูลค่าการส่งออกรวม 17,016.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เมื่อพิจารณาการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญพบว่า สินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 6.7 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวร้อยละ 29.1 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าการส่งออก 12,214.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งมีมูลค่าการส่งออก 12,113.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 3.9

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดสำคัญ ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนธันวาคม 2554 การส่งออกไปตลาดจีน และตลาดญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 11.6 และ 4.7 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป(27) และตลาดสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 21.6 และ 8.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน(9) ในเดือนธันวาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญของไทย อาทิ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ในเดือน ธ.ค. 54 ยังมีการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง จากการได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัย อย่างไรก็ตามอัตราการหดตัวเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากในเดือน พ.ย. 54 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์

เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ในเดือน ธ.ค. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 2,122.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่มอย่างเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบหดตัวร้อยละ 33.7 การส่งออกหดตัวในทุกตลาด ทั้งตลาดจีน ตลาดสหภาพยุโรป(27) และตลาดอาเซียน(9) หดตัวร้อยละ 52.9 43.1 และ 37.7 ตามลำดับ ขณะที่แผงวงจรไฟฟ้ามีการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 44.9 การส่งออกแผงวงจนไฟฟ้าไปยังตลาดฮ่องกง และตลาดอาเซียน(9) หดตัวร้อยละ 42.2 และ 43.7 ตามลำดับ

ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบในเดือน ธ.ค. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 1,504.4  ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 12.3 จากการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียหดตัวร้อยละ 40.4 อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน(9) กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 9.7 หลังจากหดตัวต่อเนื่องนานสองเดือน

เครื่องใช้ไฟฟ้า ในเดือน ธ.ค. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 1,473.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบมีการส่งออกปรับหดตัวลงร้อยละ 12.7 ทั้งนี้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังตลาดสหภาพยุโรป(27) ตลาดสหรัฐฯ และตลาดอาเซียน(9) หดตัวร้อยละ 36.2 23.6 และ 2.6 ตามลำดับ

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในเดือน ธ.ค. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 615.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้การส่งออกเครื่องนุ่งห่ม ในเดือน ธ.ค. 54 หดตัวร้อยละ 10.6 การส่งออกไปยังสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 17.2 ขณะที่การส่งออกผ้าผืนและด้าย หดตัวร้อยละ 26.6 โดยการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน(9) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกผ้าผืนและด้ายอันดับหนึ่งของไทยหดตัวร้อยละ 19.3

เม็ดพลาสติก ในเดือน ธ.ค. 2554 มีมูลค่าการส่งออก 666.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกเม็ดพลาสติกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกไปยังจีน ขยายตัวร้อยละ 24.4

ภาพรวมการส่งออก ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกรวม 228,825.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 17.2 โดยการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 37.5 และ 32.2 ตามลําดับ ในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 167,902.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 11.9 และถ้าหักมูลค่าการส่งออกทองคําแท่งออก สินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคําแท่งมีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 12.8

การส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2554 หดตัวร้อยละ4.0 จากการที่ในไตรมาสที่4 ปี 2554 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยทําให้การส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 32.2 การส่งออกยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบปี 2554 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 หด้อยละ 26.9

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 8.5 โดยขยายตัวต่อเนื่องในช่วงเก่าเดือนแรกของปี 2554 ขณะที่ในไตรมาส 4 ปี 2554 หดตัวร้อยละ 16.5 การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยขยายตัวต่อเนื่องในช่วงเก่าเดือนแรกของปี 2554 ขณะที่ในไตรมาส 4 ปี 2554 หดตัวร้อยละ 12.9 การสางออกเม็ดพลาสติกปี2554 ขยายตัวถึงร้อยละ 38.7 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งนี้การส่งออกในปี 2555 จะยังคงขยายตัว

แต่ยังคงต้องจับตาปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างการฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมภายหลังน้ำลด รวมถึงภาวะเศรษฐกิจภายนอก อย่างวิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(27) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของตลาดจีน ซึ่งตลาดเหล่านี้คิดเป็นส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 30 ของการส่งออกรวมของไทย