ยิ่งลักษณ์ ชู 5 เหตุผลสร้างความเชื่อมั่น ชวนอินเดียเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ย้ำไทยมีศักยภาพด้านที่ตั้ง การเชื่อมต่อ และนโยบายเอื้อการลงทุน
ภาพข่าวจาก www.thaigov.go.th
ยิ่งลักษณ์ ชู 5 เหตุผลสร้างความเชื่อมั่น ชวนอินเดียเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ย้ำไทยมีศักยภาพด้านที่ตั้ง การเชื่อมต่อ และนโยบายเอื้อการลงทุน
นายกรัฐมนตรีให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทย แก่สมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย สมาพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเหตุผลและเชิญชวนให้ภาคเอกชนของอินเดียเข้ามาลงทุน เพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-อินเดีย ระหว่างการเยือนสาธารณรัฐอินเดียอย่างเป็นทางการ
วานนี้ (25 ม.ค.55) เวลา 12.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีร่วมหารือระหว่างงานเลี้ยงอาหารกลางวัน (Buiness Luanch Talk) โดยมีสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเดีย (Federation of Indian Industry) สมาพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย และสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดียเป็นเจ้าภาพ ณ ห้อง Shah Jahan Ballroom โรงแรม Taj Palace ซึ่งในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์แก่นักธุรกิจและนักลงทุนชั้นนำของอินเดีย
นางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สาธารณรัฐอินเดียถือเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งต่อไปจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก และในส่วนของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่ความมั่นคงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ไทยและอินเดียจึงถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในประชาคมอาเซียน และกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบัน
ซึ่งในการเดินทางเยือนสาธารณรัฐอินเดียครั้งนี้ จะได้หารือกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดียเพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ และขอถือโอกาส กล่าวแสดงเหตุผลและเชิญชวนให้ภาคเอกชนของอินเดียเข้ามาลงทุน เพื่อพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-อินเดีย ดังต่อไปนี้
ประการแรก ไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เป้าหมายของไทยคือการเป็นจุดเชื่อมต่อของภูมิภาคไปสู่ประเทศต่างๆในประชาคมอาเซียน และกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรัฐบาลไทยมีแผนการลงทุนด้านการคมนาคม ด้วยการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการเปิดโอกาสการค้า การลงทุนใหม่ๆ และยังมีแผนการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างท่าเรือเชนไน ท่าเรือทวายของเมียนมาร์ และท่าเรือแหลมฉบังของไทย
ประการที่สอง ความตกลง FTA ไทย-อินเดีย ทำให้การค้าระหว่างไทย - อินเดียขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยหลังจากมีการเจรจาความตกลง FTA ในปี 2544 (2001) จาก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็นกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในการเดินทางเยือนอินเดียครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไทยและอินเดียจะเร่งรัดการเจรจาความตกลง FTA ให้แล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มตัวเลขการค้าขายทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศให้เป็น 14 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2014
ประการที่สาม ประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และคาดว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 5 ในขณะเดียวกัน ตลาดการอุปโภคบริโภคในปัจจุบันยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สถานะทางการเงินการคลังอยู่ในระดับที่ดี โดยรัฐบาลควมคุมหนี้สาธารณะต่อ GDP ให้ไม่เกินร้อยละ 40 และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอีกกว่า 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประการที่สี่ ไทยมีนโยบายเป็นมิตรทางธุรกิจต่อนักลงทุน ปัจจุบัน อัตราภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ร้อยละ 23 และจะลดลงเหลือร้อยละ 20 ในปีหน้า และไทยยังมีตลาดแรงงานที่มีคุณภาพไว้รองรับการเข้ามาดำเนินธุรกิจของบริษัทนานาชาติ
ประการสุดท้าย : รัฐบาลไทยได้ลงทุนกว่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและธุรกิจว่าจะปลอดภัยจากอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงมีการจัดระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ เพื่อป้องกันเขตเศรษฐกิจและเขตอุตสาหกรรม การสร้าง Floodways และ Floodplains การปรับปรุงระบบการเตือนภัย และการใช้ระบบ Single command เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารสถานการณ์
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีความเชื่อมั่นว่า ความเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-อินเดีย จะยิ่งทำให้ภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศเติบโตมากขึ้น และยังเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนสำหรับความร่วมมือในสาขาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐานในภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการด้านการแพทย์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนให้มีการจัด CEO Forum เพื่อเร่งส่งเสริมการลงทุนระหว่างสองประเทศ และเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อขยายความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจต่อไป