เนื้อหาวันที่ : 2007-05-03 10:31:02 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1765 views

ผวาตัด GSP ส่งออกวูบแสนล้าน อุตฯไฟฟ้า-อัญมณี จี้รัฐแก้ปม PWL

ลิขสิทธิ์-สิทธิบัตรยาพ่นพิษ สหรัฐลงดาบไทยขึ้นบัญชีถูกจับตามองเป็นพิเศษ ผู้ส่งออกผู้ส่งออกสินค้าอัญมณี-เครื่องประดับ-เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กฯผวา ร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาก่อนถูกตัดสิทธิ

ศึกสิทธิบัตรยา-ปัญหาลิขสิทธิ์พ่นพิษ สหรัฐลงดาบเลื่อนไทยสู่บัญชีถูกจับตามองเป็นพิเศษ (priority watch list หรือ PWL) ผู้ส่งออกสินค้าอัญมณี-เครื่องประดับ-เครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ผวา ร้องรัฐเร่งแก้ปัญหาก่อนถูกตัดสิทธิจีเอสพี เผยไทยใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ รมว.พาณิชย์ร่อนหนังสือแจงผู้แทนการค้าสหรัฐ อ้างปราบปรามเต็มที่แล้ว ด้าน "หมอมงคล" เตรียมบินไปสหรัฐชี้แจงปัญหา CL ต้น พ.ค.นี้ "โฆสิต" มั่นใจไม่กระทบเศรษฐกิจ

.

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2550 ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศผลการทบทวนมาตรา 301 Special ประจำปี 2550 โดยเลื่อนสถานะประเทศไทย จากบัญชีที่ถูกจับตามอง (watch list หรือ WL) ขึ้นสู่บัญชีถูกจับตามองเป็นพิเศษ (priority watch list หรือ PWL) ทั้งนี้มาตรา 301 Special เป็นกฎหมายทางการค้าที่สหรัฐนำมาใช้ตอบโต้ทางการค้ากับประเทศที่สหรัฐเห็นว่ามีกฎระเบียบหรือการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือกีดกันการค้ากับสหรัฐ

.

สำหรับเหตุผลที่สหรัฐนำมาอ้างเพื่อเลื่อนไทยเข้าสู่บัญชี PWL คือ การบังคับใช้กฎหมายและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของไทยไม่มีประสิทธิภาพพอในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้อัตราการละเมิดแผ่น ซีดีเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ.2548 ยังมีจุดอ่อนที่ไม่สามารถควบคุมการผลิตแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ยังพบปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือ เคเบิลทีวีเถื่อน การละเมิดซอฟต์แวร์บันเทิงและธุรกิจ การละเมิดเครื่องหมายการค้าในสินค้าเสื้อผ้าและรองเท้า

.

นอกจากนี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2549-ต้นปี 2550 รัฐบาลไทยประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตร (compulsory license หรือ CL) กับยารักษาโรค หลายรายการ ซึ่งสหรัฐทราบดีว่า ไทยสามารถทำได้ภายใต้หลักขององค์การการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ทางสหรัฐกลับมองว่าการกระทำของไทยขาดความโปร่งใส และกระบวนการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยน่าห่วงใยอย่างยิ่ง

.
ผู้ส่งออกจี้รัฐแก้ หวั่นถูกตัดจีเอสพี

นายวีระศักดิ์ เลอวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการดูแลด้านนโยบาย WTO, GSP สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทางสมาคมเตรียมจะส่งหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับนักลงทุนไทยและต่างชาติ หากมีการตัดสิทธิจีเอสพีไทย เพื่อส่งไปให้รัฐบาลสหรัฐพิจารณาในวันที่ 16 พ.ค.นี้ ทั้งนี้ยอมรับว่า กรณีการบังคับใช้สิทธิบัตรยา เป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงสูง อาจทำให้ไทยถูกตัดจีเอสพีได้

.

ด้านนางประพีร์ สรไกรกิติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สินค้าอัญมณีมีค่าและเครื่องประดับเงินเป็นสินค้าหลักสำคัญของไทย และสหรัฐเป็นตลาดคู่ค้าหลัก มีปริมาณยอดการส่งออกถึง 30% ในแต่ละปี ดังนั้นหากไทยถูกสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีจริง จะต้องจ่ายภาษีนำเข้า 6% ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อการแข่งขันของไทยอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาผู้ส่งออกของไทยก็พยายามพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ทันสมัยพร้อมกับพยายามสร้างฐานตลาดใหม่ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลา

.

นายขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานกลุ่มอุตสาห กรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่สหรัฐได้พิจารณาให้ไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มจับตามองพิเศษ ในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็ก ทรอนิกส์ ตอนนี้ยังไม่มีประเด็นหรือสัญญาณที่เชื่อมมาในเรื่องของการตัดสิทธิจีเอสพี แต่ทาง ผู้ประกอบการก็เฝ้าระวังอยู่ หากสหรัฐส่งสัญญาณว่าจะมีการตัดจีเอสพี คงต้องขอให้ทูตพาณิชย์ไปเจรจากับสหรัฐว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน

.

สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิจีเอสพีในปี 2549 มีมูลค่า 4,252 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.03% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปสหรัฐ สินค้าที่ใช้สิทธิจีเอสพีส่งไปสหรัฐสูงสุดได้แก่ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงเครื่องรูปพรรณที่ทำด้วยโลหะเงิน เครื่องใช้ไฟฟ้า และยางเรเดียล

.
รมต.สธ.แจงประกาศซีแอลโปร่งใส

นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การจัดหรือการลดอันดับดังกล่าวถือเป็น สิทธิที่ยูเอสทีอาร์สามารถจะทำได้ แต่ก็ไม่ทราบว่าเหตุผลที่ยูเอสทีอาร์อ้างนั้น กรณีของการบังคับใช้ ซีแอลจะเป็นเหตุผลหลักหรือเหตุผลรอง และอีกกรณีหนึ่งก็คือ การละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะทราบว่าบริษัทยาในสหรัฐนั้นมีอิทธิพลสูงมาก อย่างไรก็ตาม ในปลายเดือนพฤษภาคมนี้จะไปสหรัฐ เพื่อชี้แจงกรณีการประกาศบังคับใช้สิทธิบัตร (CL) และโดยหลักๆ จะเป็นการไปอธิบายว่าการประกาศบังคับใช้ซีแอลนั้นมีความโปร่งใส และมีเป็นการทำตามหลักขององค์การการค้าโลก (WTO) และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ประกาศไป 3 ตัว และบังคับใช้เพียง 1 ตัว ส่วนอีก 2 ตัวยังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร

.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ติดต่อสัมภาษณ์ไปยังนายธีระ ฉกาจวโรดม นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ซึ่งเพิ่งได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเลื่อนสถานะของไทยเป็น PWL จึงขอเวลาเพื่อประเมินผลกระทบจากการพิจารณาเลื่อนสถานะว่าจะมีผลกระทบต่อการพิจารณาลงทุนด้านยาในประเทศไทยหรือไม่ ส่วนท่าทีของสมาคมก่อนหน้านี้ที่ต้องการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยาอันมีสิทธิบัตรก็จะยังคงดำเนินการต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง

.
โฆสิตมั่นใจไม่กระทบเศรษฐกิจ

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ครม. น.พ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ชี้แจงว่าจะเดินทางไปสหรัฐในช่วงต้นพฤษภาคม เพื่อทำความเข้าใจในความจำเป็นที่ผู้ป่วยในประเทศไทยต้องเข้าถึงการใช้ยา ขณะที่นาย

.

เกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่า สถานะประเทศไทยเคยอยู่ใน PWL มาแล้ว เข้าๆ ออกๆ หลายครั้ง เรื่องนี้ยังไม่กระทบกับเศรษฐกิจและยังไม่มีมาตรการตอบโต้ในตอนนี้ ส่วนที่ไทยเข้าไปอยู่ใน PWL นั้น ไม่ได้ถูกขึ้นบัญชีประเทศเดียว แต่ยังมีอีก 12 ประเทศที่อยู่ในบัญชีเดียวกับไทย หากต่อไปข้างหน้าถ้ามีการปรับระดับขึ้นไปอีกเราก็มีสิทธิจะตอบโต้แต่ภายใต้กรอบ เวลาตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ต้องคุยกัน การจะปรับขึ้นหรือลงนั้นเป็นไปได้ทุกอย่าง

.

นายสกล หาญสุทธิวารินทร์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมที่จะส่งหนังสือไปยังนางซูซาน ชวาบ ผู้แทนการค้าสหรัฐ เพื่อชี้แจงถึงปัญหาสถานะการละเมิด ซึ่งไทยได้พยายามที่จะลดปัญหาการละเมิดอย่างเต็มที่แล้ว

.

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในช่วง มกราคม-มีนาคม 2550 ว่า มีคดีที่เกิดจากการละเมิดทั้งหมด 1,914 คดี โดยเป็นคดีละเมิดลิขสิทธิ์ 1,078 คดี ละเมิดเครื่องหมายการค้า 823 คดี ละเมิดสิทธิบัตร 1 คดี และละเมิดควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ 12 คดี ขณะที่การละเมิดของปี 2549 ทั้งปีมีคดีรวม 9,575 คดี โดยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ 6,459 คดี ละเมิดเครื่องหมายการค้า 3,100 คดี ละเมิด สิทธิบัตร 4 คดี และละเมิดกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ 12 คดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการละเมิดกิจการด้านเทปและวัสดุโทรทัศน์ถือว่าสูงขึ้น

.
ทูตสหรัฐแจงไม่ได้ตอบโต้เรื่องยา

หลังจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือยูเอสทีอาร์ ประกาศปรับระดับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย เป็นประเทศ ที่อยู่ในกลุ่ม "จับตามองเป็นพิเศษ" นายราล์ฟ แอล.บอยซ์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงในสถานะของประเทศไทยในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ได้เป็นการตอบโต้การที่ไทยดำเนินการบังคับใช้สิทธิบัตรยา หรือ compulsory liscensing ดังที่สื่อมวลชนได้ "พยากรณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้"

.

เอกอัครราชทูตบอยซ์ยังยืนยันว่า แม้ประเด็นดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในความวิตกกังวลหลายๆ ประการในด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย แต่ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ทำให้ไทยติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ อีกทั้งสหรัฐจะไม่มีการลงโทษหรือมีมาตรการตอบโต้ในเรื่องนี้แต่อย่างใด

.

อย่างไรก็ตาม นายบอยซ์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสถานะของประเทศไทย ได้สะท้อนถึงความกังวลของสหรัฐต่อมาตรการปกป้องลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศ ที่มีมาตรฐานอ่อนด้อยลง เห็นได้จากสินค้าหลายประเภท อาทิ ภาพยนตร์ เพลง หนังสือ สินค้าแบรนด์เนม ถูกละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอย่างมาก

.

ยิ่งกว่านั้น การที่ไทยติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยของสหรัฐและนานาประเทศ ที่มีต่อนโยบายของเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของกระแสเงินทุน (capital control) หรือร่างกฎหมายค้าปลีก

.

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้คำกล่าวของเอกอัคร ราชทูตในประเด็นข้างต้นจะได้รับการชี้แจงในเวลาต่อมาว่าเป็นเพียงการสะท้อนถึงบรรยากาศโดยรวมๆ ที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ในเอกสารมาตรา 301 พิเศษ ยูเอส ทีอาร์ ได้ระบุถึงการตัดสินใจบังคับใช้สิทธิต่อสิทธิบัตรของบริษัทยาหลายแห่ง ในช่วงปลายปี 2549 ถึงต้นปี 2550 ว่าเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การเคารพสิทธิบัตรของไทยมีความหย่อนยานลง

.
ต่อประเด็นนี้ เจนนิเฟอร์ เนสส์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ ประจำสถานทูตสหรัฐ ชี้แจงว่าเป็นการกระทำโดยขาดความโปร่งใส และวิถีทางที่ถูกต้องว่าเป็นเพราะรัฐบาลไทยไม่มีการเจรจากับบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตรยาก่อนประกาศ ซึ่งภายใต้กติกาขององค์การการค้าโลก รัฐบาลที่จะบังคับใช้สิทธิต้องหารือกับบริษัทยาก่อน ยกเว้นกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือเกิดโรควิกฤตร้ายแรง
.

ตัวอย่างที่มีการหยิบยกถึงการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส คือ แม้แต่สถานทูตสหรัฐยังไม่ทราบเรื่องการบังคับใช้สิทธิมาก่อน และมาทราบเรื่องภายหลังจากที่ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์

.

ในส่วนของข้อซักถามที่ว่า ในระหว่างที่มีการพิจารณาจัดทำรายชื่อตามมาตรา 301 พิเศษ มีบริษัทยาได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิบัตรในไทยหรือไม่ เนสส์ยอมรับว่ามีคำร้องเรียนเข้า มา แต่เป็นในนามของกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ สมาพันธ์เภสัชกรแห่งสหรัฐ ไม่มีการร้องเรียนเป็นรายบริษัท และเป็นการร้องเรียนการละเมิดที่มีอยู่

ทั่วโลก ซึ่งในส่วนของไทย เป็นข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับความล่าช้าในการออกกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองข้อมูลที่เป็นสูตรยา

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ