MPA นิด้าชี้โยกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ช่วยลดหนี้สาธารณะได้อย่างแท้จริง แนะรัฐให้สัมปทานเอกชนลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วม ผ่าทางตันปัญหา ลดเพดานก่อหนี้
MPA นิด้าชี้โยกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ช่วยลดหนี้สาธารณะได้อย่างแท้จริง แนะรัฐให้สัมปทานเอกชนลงทุนระบบป้องกันน้ำท่วม ผ่าทางตันปัญหา ลดเพดานก่อหนี้
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หรือ MPA NIDA ชี้โยกหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ไม่ช่วยลดหนี้สาธารณะได้อย่างแท้จริง ระบุหากภาครัฐกังวลเรื่องการก่อหนี้สาธารณะ3.5 แสนล้าน ทำโครงการบริหารจัดการน้ำแบบอย่างยั่งยืน
แนะเปิดทางให้สัมปทานเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างป้องกันน้ำท่วม หรือจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานป้องกันน้ำท่วม ขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน สถานบันการเงินและนักลงทุนสถาบัน สร้างการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบยั่งยืน แถมช่วยลดภาระการก่อหนี้สาธารณะได้อีกด้วย
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า จากแนวคิดของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ (กยอ.) ที่ต้องการให้ฐานะทางเงินของประเทศ มีความมั่นคงเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จนทำให้เกิดการนำเสนอแนวคิดในการโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท
ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผู้รับผิดชอบภาระจ่ายคืนเงินต้นและกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบภาระจ่ายคืนดอกเบี้ย ไปให้ ธปท.เป็นผู้รับผิดชอบจ่ายคืนทั้งภาระเงินต้นและดอกเบี้ย โดยขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากหลายฝ่ายเกรงว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะกระทบกับฐานะของ ธปท. ทำให้การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบต้องล่าช้าออกไปโดยไม่จำเป็น ทั้งที่มีอีกหลายแนวทางในการบริหารการก่อหนี้ ประกอบกับแนวคิดการโอนหนี้ดังกล่าว ยังไม่ใช่แนวทางการลดก่อหนี้สาธารณะได้อย่างแท้จริงอีกด้วย
ทั้งนี้ หากรัฐบาลมีความกังวลต่อตัวเลขหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น ก็อาจจะเลือกแนวทางให้สัมปทานภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วมทั้งหมด หรือแนวทางการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งทาง กลต.มีระเบียบแนวทางในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ 8 ประเภท
โดยขายหน่วยลงทุนให้กับประชาชน สถาบันการเงิน นักลงทุนสถาบัน รวมถึงผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมแบบยั่งยืนได้ดีกว่า อีกทั้งสามารถสร้างทางเลือกในการลงทุนให้แก่ประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐยืนยันเดินหน้ากู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบนั้น ยังสามารถกู้เงินมาลงทุนในโครงการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกังวล เพราะปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำเพียง 40% ของจีดีพี และยังมีเพดานการก่อหนี้สาธารณะที่อยู่ในกรอบของบริหารจัดการได้จะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี โดยหากนับรวมกับการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท กับงบประมาณขาดดุลประจำปี 2555 ที่ต้องกู้เงินอีก 4 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะของไทยจะขยับเป็น 49% เท่านั้น
“ภาครัฐมีหลายแนวทางในการบริหารหนี้สาธารณะต่อการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ เช่น การให้สัมปทานเอกชนเป็นผู้ลงทุนขุดคลองเส้นใหม่ ก่อสร้างถนนเพื่อทำเป็นกำแพงกั้นน้ำ ที่สามารถเรียกเก็บค่าผ่านทางได้ หรือเลือกระดมทุนจากประชาชนที่สนใจด้วยการขายหน่วยลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 2 แนวทางข้างต้น จะไม่เป็นภาระต่อการก่อหนี้สาธารณะ แต่หากภาครัฐยืนยันกู้เงินมาลงทุนเองทั้งหมด ก็ยังสามารถทำได้เพราะหนี้สาธารณะของไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ
แต่สิ่งที่สำคัญคือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วม จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติมั่นใจว่า จะไม่มีปัญหาน้ำท่วมใหญ่เหมือนเมื่อปลายปี 2554 อีกต่อไป นักลงทุนต่างชาติจึงจะกลับมาลงทุนในไทยอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยให้เติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน ” รศ.ดร.มนตรี กล่าว