ฮอนด้า ออโตโมบิล เริ่มต้นการทำลายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมย้ำดำเนินการทุกขั้นตอนภายในโรงงานเท่านั้น
ฮอนด้า ออโตโมบิล ยืนยันคุณภาพผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นการทำลายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2554 ย้ำดำเนินการทุกขั้นตอนภายในโรงงานเท่านั้น และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มทำลายรถยนต์ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ววันนี้ ที่โรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้า ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวนรวม 1,055 คัน โดยแบ่งเป็นรุ่นบริโอ้ 217 คัน, แจ๊ซ 213 คัน, ซิตี้ 353 คัน, ซีวิค 150 คัน, แอคคอร์ด 91 คัน, ซีอาร์–วี 30 คัน และฟรีด 1 คัน โดยทุกขั้นตอนคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นสำคัญ คาดภารกิจนี้จะแล้วเสร็จโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นของลูกค้าในเรื่องคุณภาพรถใหม่ของฮอนด้า
นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “ฮอนด้าได้พยายามอย่างเต็มที่ในการป้องกันพื้นที่โรงงาน แต่ก็ไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำเชี่ยวและมวลน้ำมหาศาลได้ ทำให้น้ำเข้าท่วมโรงงานตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับในส่วนรถยนต์ใหม่ที่พร้อมส่งมอบ บริษัทฯ ได้มีการเคลื่อนย้ายรถส่วนใหญ่ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่ยังมีจำนวน 1,055 คันที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายทันจึงได้รับความเสียหาย”
“ฮอนด้ามีนโยบายชัดเจนด้านการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สูงสุด ทั้งยังมีขั้นตอนที่เข้มงวดในการทำลายชิ้นส่วน อะไหล่ และรถยนต์ที่เสียหายทั้งหมด โดยจะไม่มีการนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้าอย่างแน่นอน เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจและคลายกังวลว่าจะไม่มีชิ้นส่วนใดๆ ออกไปจากโรงงาน หรือถูกนำไปใช้ใหม่ เราจึงดำเนินการทุกขั้นตอนภายในโรงงานเท่านั้น”
การทำลายรถยนต์ที่เสียหายจากน้ำท่วมในวันแรกนี้ จัดขึ้นที่ศูนย์ส่งมอบรถยนต์ใหม่ของฮอนด้า ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ โดยได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นสักขีพยาน ชมระบบการบริหารจัดการ ที่ได้มาตรฐาน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สถาบันยานยนต์ สื่อมวลชน และผู้จำหน่ายรถยนต์ฮอนด้า
กระบวนการทำลายรถยนต์ฮอนด้าที่เสียหายจากน้ำท่วม มี 6 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: ถอดชิ้นส่วนด้านบนห้องเครื่อง จุดนี้จะมีการถอดฝากระโปรงหน้า แว็กซ์น้ำยาแอร์
ถอดกรองอากาศ ดูดน้ำมันเกียร์ ดูดน้ำมันเพาเวอร์ ดูดน้ำมันเบรค ถอดแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนพลาสติกภายนอก (กันชน) และกระจกมองข้าง โดยแยกไว้เพื่อนำมาบริหารจัดการอย่างถูกวิธีต่อไป
ขั้นตอนที่ 2: ถ่ายสารเหลว ถอดชิ้นส่วนด้านล่าง ถอดเครื่องยนต์ จุดนี้จะมีการถ่ายน้ำมันเครื่อง น้ำในหม้อน้ำ น้ำมันเพาเวอร์ น้ำมันเบรก ถอดล้อหน้า-หลัง ถอดท่อไอเสีย ถอดถังน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และยกเครื่องยนต์ออกจากตัวถัง โดยสารเหลวจะนำมากำจัดตามกระบวนการ
ขั้นตอนที่ 3: ถอดชิ้นส่วนพลาสติกภายใน ถอดโช้คอัพ จุดนี้จะมีการถอดชิ้นส่วนพลาสติกภายในรถ โช้คอัพ หม้อน้ำ แผงทำความเย็น สายไฟ และล้ออะไหล่
ขั้นตอนที่ 4: แยกชิ้นส่วนเครื่องยนต์และเกียร์
ขั้นตอนที่ 5: ทำลายชิ้นส่วน และบีบอัดตัวถัง จุดนี้จะตัดทำลายชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ตัดทำลายส่วนประกอบเครื่องยนต์ ตัดชิ้นส่วนช่วงล่าง เจาะทำลายยาง ตัดล้ออัลลอย ย่อยพลาสติก ตัดหมายเลขตัวถังรถยนต์ ตัดส่วนหน้าของตัวถัง และอัดตัวถังด้วยเครื่องบีบอัด เมื่อบีบอัดเสร็จแล้ว จากนั้นทำการบันทึกหมายเลขรถไว้เป็นหลักฐาน
ขั้นตอนที่ 6: การจัดเก็บแยกประเภทเพื่อส่งเข้ากระบวนการรีไซเคิล ชิ้นส่วนที่ถูกทำลายทั้งหมดจะนำไปสู่กระบวนการแยกและรีไซเคิล โดยชิ้นส่วนที่ถูกทำลายแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
ก้อนอัด จะถูกนำไปแยกโดยใช้รถ Backhoe เพื่อคลายก้อนอัด ก่อนส่งเข้าเครื่อง Shredder ซึ่งจะแยกออกมาได้ 3 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นเหล็ก สามารถนำไปหลอมใหม่ได้ ส่วนที่เป็นวัตถุที่ไม่ใช่เหล็ก สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ โดยแยกเป็นอลูมิเนียม ทองแดง โฟม พลาสติก และยาง และส่วนที่เป็นฝุ่นและเศษกากต่างๆ จะส่งบริษัทที่ได้รับอนุญาตนำไปฝังกลบ
ชิ้นส่วนรีไซเคิล เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ที่ถูกทำลายจนเสียรูปแล้ว แต่ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ล้ออลูมิเนียม ชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนที่เป็นอลูมิเนียม พลาสติก และยาง
วัตถุอันตราย ได้แก่ แบตเตอรี่และของเหลว จะส่งไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาตเพื่อนำไปบำบัดและ รีไซเคิลต่อไป
เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอีกทางหนึ่ง บริษัทฯ ยังมีการบันทึกหมายเลขตัวถังและหมายเลขเครื่องยนต์ที่ถูกทำลายทุกคัน โดยการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.honda.co.th ให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบได้
นายพิทักษ์ กล่าวสรุปไว้ในตอนท้ายว่า “ฮอนด้าจะทุ่มเทความพยายามในการบริหารจัดการอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อให้โรงงานกลับมาดำเนินการผลิตรถยนต์ได้โดยเร็วที่สุด ตลอดจนเราจะเดินหน้าดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ฮอนด้ายังคงเป็นบริษัทที่สังคมต้องการให้ดำรงอยู่ และก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับสังคมไทย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง”
ในช่วงอุทกภัย ฮอนด้าตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนหลายประการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงาน ความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการแบ่งปันความช่วยเหลือให้กับผู้ประสบอุทกภัย
อาทิ การจ่ายค่าแรงพนักงานตามปกติแม้ว่าโรงงานจะหยุดการผลิต การให้เงินกู้ฉุกเฉินวงเงินสูงสุด 100,000 บาทสำหรับพนักงานที่ประสบอุทกภัย การกำจัดคราบน้ำมันก่อนน้ำลดเพื่อให้มั่นใจว่าน้ำที่สูบออกจากโรงงานไม่เป็นอันตรายต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ฮอนด้ายังได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน 100 ล้านบาท เพื่อไปในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยผ่านสภากาชาดไทย การมอบเครื่องมืออุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านหน่วยงานต่างๆ รวมกว่า 7 ล้านบาท การลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องยนต์และให้คำแนะนำแก่เจ้าของรถยนต์ฮอนด้าที่ถูกน้ำท่วม รวมไปถึงบริการ Honda Help Line เพื่อให้ข้อมูลเชิงเทคนิคกับลูกค้า การจัดพนักงานจิตอาสาไปช่วยทำความสะอาดชุมชนและพื้นที่สาธารณะต่างๆ