สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยฐานะการคลังของภาครัฐบาล ตามระบบ สศค. ปีงบประมาณ 2554 ขาดดุล 2.07 แสนล้านบาท เป็นไปตามนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยฐานะการคลังของภาครัฐบาล ตามระบบ สศค. ปีงบประมาณ 2554 ขาดดุล 2.07 แสนล้านบาท เป็นไปตามนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ฐานะการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามระบบ สศค. ไตรมาสที่ 4 (กรกฎาคม – กันยายน 2554) และปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 – กันยายน 2554)
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าฐานะการคลังของภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามระบบ สศค. (Government Finance Statistics : GFS) ในปีงบประมาณ 2554 ขาดดุล 2.07 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 1.55 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2554 (กรกฎาคม - กันยายน 2554) ดุลการคลังภาครัฐบาลเกินดุลจำนวน 42,050 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่เกินดุล 63,698 ล้านบาท โดยมีรายได้ทั้งสิ้น 749,063 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15,071 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.0 เนื่องจากกองทุนนอกงบประมาณมีรายได้ลดลง ขณะที่รายจ่ายภาครัฐบาลมีจำนวน 707,013 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6,576 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9
ปีงบประมาณ 2554 ภาครัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้น 2,822,694 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 222,325 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาก ขณะที่รายจ่ายภาครัฐบาลมีจำนวน 3,030,264 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 377,169 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.2
เนื่องจากภาครัฐบาลได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของรัฐบาลและกองทุนนอกงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 23.7 และ 20.6 ตามลำดับ ถึงแม้การเบิกจ่ายจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจะลดน้อยลงก็ตาม แต่ก็ส่งผลให้ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุลจำนวน 207,569 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 154,844 ล้านบาท (ปีที่แล้วขาดดุล 52,726 ล้านบาท)
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สรุปว่า “การขาดดุลการคลังของภาครัฐบาลในปีงบประมาณ 2554 เป็นการขาดดุล ในส่วนของรัฐบาลจากรายจ่ายที่ขยายตัวในอัตราที่สูงเพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลผ่านมาตรการเพื่อการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน”