วรรณรัตน์ เผยบอร์ดบีโอไอเปิดไฟเขียว 2 มาตรการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤติอุทุกภัย เป็นของขวัญส่งท้ายปี 54
วรรณรัตน์ เผยบอร์ดบีโอไอเปิดไฟเขียว 2 มาตรการฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤติอุทุกภัย เป็นของขวัญส่งท้ายปี 54
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมและได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และส่งเสริมให้นิคมฯ ลงทุนเพิ่มเพื่อป้องกันอุทกภัยในอนาคต
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบ มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ตามข้อเสนอจากบีโอไอ
คลอบคลุมมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัย ทั้งผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่ รวมถึงบริษัทของคนไทยและต่างชาติ แบ่งเป็น 2 มาตรการ โดยกำหนดให้ยื่นขอรับส่งเสริมภายในสิ้นปี 2555 ดังนี้
1. มาตรการทั่วไปสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากอุทกภัย จะต้องเป็น ผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม ที่มีเครื่องจักร และหรืออาคารโรงงาน ได้รับความเสียหายจาก อุทกภัย และเป็นประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับส่งเสริมภายใต้หลักเกณฑ์ปัจจุบัน โดยแบ่งการให้สิทธิประโยชน์เป็น 2 กรณี
1. 1 หากเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมที่ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยจำกัดวงเงินภาษีที่ยกเว้น ให้ถือเสมือนเป็นโครงการใหม่ โดยให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ถ้าโครงการดังกล่าว ยังลงทุนในจังหวัดเดิมที่ประสบอุทกภัย จะให้ได้รับยกเว้นภาษีในอัตราร้อยละ 150 ของเงินลงทุน รวมกับวงเงินภาษีที่ได้รับอยู่เดิมที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมในการชดเชยความเสียหายของผู้ประกอบการ แต่หากย้ายไปลงทุนในจังหวัดอื่น ให้ได้รับยกเว้นร้อยละ 100 ของเงินลงทุน
1.2 กรณีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมที่ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่จำกัดวงเงินภาษีที่ยกเว้น ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มจากสิทธิและประโยชน์ที่เหลืออยู่ตามโครงการเดิมอีกไม่เกิน 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี
หากโครงการใดยังเหลือระยะเวลาการให้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่า 5 ปี ให้ได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติม คือ หากเหลือระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้มากกว่า 5 – 6 ปี ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 อีก 2 ปี หากเหลือระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้มากกว่า 6 – 7 ปี ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 อีก 4 ปี และหากเหลือระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้มากกว่า 7 – 8 ปี ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 อีก 5 ปี ทั้งนี้ผู้ได้รับส่งเสริมตามข้อ 1.2 จะเลือกรับสิทธิตามข้อ 1.1 ก็ได้
2. มาตรการสำหรับนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ทั้งที่ได้รับความเสียหายและไม่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม ให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อป้องกันอุทกภัยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เดิมหรือขยายพื้นที่เพิ่มเติมในที่ตั้งเดิม
โดยจะให้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และขยายวงเงินยกเว้นภาษีที่จะได้รับจากเดิมไม่เกินร้อยละ 100 เป็นไม่เกินร้อยละ 200 ของเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันอุทกภัย และจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการอย่างเป็นธรรม โดยสำนักงานฯ จะกำหนดรายละเอียดในภายหลัง