เนื้อหาวันที่ : 2011-12-29 14:16:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1911 views

บีโอไอไฟเขียว 18 โครงการรวดส่งท้ายปี 54

บีโอไอเผยอนุมัติส่งเสริมการลงทุนส่งท้ายปี ไฟเขียวรวด 18 โครงการ เงินลงทุนเฉียด 30,000 ล้านบาท

          บีโอไอเผยอนุมัติส่งเสริมการลงทุนส่งท้ายปี ไฟเขียวรวด 18 โครงการ เงินลงทุนเฉียด 30,000 ล้านบาท

          บีโอไออนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนส่งท้ายปี รวม 18 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 29,692 ล้านบาท ชี้นักลงทุนเร่งเดินหน้ากิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวด 8 กิจการมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ด้านกิจการบริการคึกคัก การบินไทย เร่งจัดซื้อเครื่องบินเพิ่มรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

          นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการต่างๆ รวม 18 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 29,692 ล้านบาท โดยการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทน และกิจการบริการและสาธารณูปโภคยังขยายตัว มีนักลงทุนกลุ่มใหญ่เดินหน้าลงทุนต่อเนื่อง ดังนี้

          1.บริษัท โตไก รับเบอร์ คอมเพาน์ดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตยางผสม (COMPOUNDED RUBBER) กำลังการผลิตปีละ 16,600 ตัน มูลค่าเงินลงทุน 1,320 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง

          2.บริษัท ปาร์ติเกิ้ล แพลนเนอร์ จำกัด ขยายกิจการผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดปาร์ติเกิลบอร์ด (PARTICLE BOARD) โดยใช้เศษไม้ยางพารา เป็นวัตถุดิบหลัก กำลังการผลิตปีละ 240,000 ลูกบาศก์เมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,250 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ชลบุรี

          3.Mr. LIU JIANER ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตท่อเหล็กไร้ตะเข็บ (SEAMLESS STEEL PIPE)สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมเคมี งานเจาะและสูบน้ำมัน ก๊าชและงานหม้อน้ำ กำลังการผลิตปีละ 252,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,095.2 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง

          4.บริษัท อาอิชิ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนเหล็กทุบขึ้นรูป (FORGING PARTS)และชิ้นส่วนโลหะกลึงแต่ง (MACHINING) ที่ทุบขึ้นรูปเอง ซึ่งใช้สำหรับป้อนอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก กำลังผลิตปีละประมาณ 10,020 ตัน หรือ 9,360,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,263 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง จ.ชลบุรี

          5.บริษัท ยู-ชิน (ประเทศไทย) จำกัด ขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนสำหรับยานพาหนะและเครื่องจักร ได้แก่ สวิทซ์ชนิดต่างๆ สำหรับเครื่องจักรเพื่อการเกษตร กำลังการผลิตปีละ 758,400 ชุด อุปกรณ์ปรับอุณหภูมิสำหรับยานพาหนะ (HEATER CONTROL) ปีละ 3,792,000 ชุด ชุดกุญแจสำหรับยานพาหนะ (KEY SET) ปีละ 4,358,400 ชุด และชิ้นส่วนพลาสติก ปีละ758,400 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,678 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด จ.ระยอง

          6.บริษัท เอ็มเอ็มทีเอช เอ็นจิ้น จำกัด ขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนตัวถังสำหรับยานพาหนะ เช่น โครงตัวถังด้านข้าง (Panel Side Outer) พื้นรถด้านหน้า/หลัง (Panel Front/Rear Floor) แก้มรถ (Front Fender) เป็นต้น กำลังผลิตปีละ 3,993,290 ชิ้น หรือ 11,750 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,502 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

กิจการพลังงานแรงส่งท้ายปี มูลค่ารวมกว่า 7,577 ล้านบาท
          ที่ประชุมยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 8 กิจการ มูลค่ารวมกว่า 7,577 ล้านบาท ได้แก่

          7. บริษัท บางเขนชัย จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต รวม 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 937 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.นครราชสีมา

          8.บริษัท กันกุล พาวเวอร์เจน จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 880 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์

          9.บริษัท อินฟินิท อัลฟา แคปปิตอล จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ กำลังการผลิตแห่งละ 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุน ทั้งสิ้น 960 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ตาก

          10.บริษัท เชียงใหม่ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอยี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ กำลังการผลิตแห่งละ 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุน ทั้งสิ้น 960 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.ตาก

          11.บริษัท บึงสามพัน โซล่า จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ กำลังการผลิตแห่งละ 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุน ทั้งสิ้น 960 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.กำแพงเพชร

          12.บริษัท ชินนะปัญจะ เอ็นเนอยี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ กำลังการผลิตแห่งละ 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุน ทั้งสิ้น 960 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.กำแพงเพชร

          13.บริษัท โซล่าเทค จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ กำลังการผลิตแห่งละ 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุน ทั้งสิ้น 960 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.กำแพงเพชร

          14.บริษัท ไนน์ เอ โซล่า จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงาน แสงอาทิตย์ กำลังการผลิตแห่งละ 8 เมกะวัตต์ เงินลงทุน ทั้งสิ้น 960 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จ.กำแพงเพชร

กิจการบริการและสาธารณูปโภค ลงทุนเกือบ 10,000 ล้านบาท
          สำหรับกิจการทางด้านบริการและสาธารณูปโภค ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน 5 โครงการ รวมเงินลงทุนกว่า 12,157 ล้านบาท ได้แก่

          15.บริษัท พรีเชียส แพลนเนตส์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการขนส่งทางเรือ โดยกิจการจะมีเรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Carrier) 1 ลำ ซึ่งเป็นเรือต่อใหม่จากประเทศจีน ขนาด 56,847 เดทเวทตันเพื่อบรรทุกสินค้าเทกอง เช่น สินค้าเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน สินแร่ และอื่น ๆ เงินลงทุนทั้งสิ้น 795 ล้านบาท

          16.บริษัท พรีเชียส เม็ททัลซ์ จำกัด ขยายกิจการขนส่งทางเรือ โดยกิจการจะมีเรือบรรทุกสินค้า เทกอง (Bulk Carrier) 1 ลำ เป็นเรือต่อใหม่จากประเทศจีน ขนาด 56,847 เดทเวทตัน เพื่อบรรทุกสินค้าเทกอง เช่น สินค้าเกษตร เหล็ก ปุ๋ย ถ่านหิน สินแร่ และอื่น ๆ เงินลงทุนทั้งสิ้น 795 ล้านบาท

          17. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด ขยายการลงทุนในกิจการขนส่งทางอากาศ โดยจัดหาเครื่องบินใหม่แบบ AIRBUS A 319 และ AIRBUS A 320 มีความจุผู้โดยสารรวม 300 ที่นั่ง และมีระวาง บรรทุกสินค้ารวม 31.5 ตัน เพื่อรองรับเส้นทางบินระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และเสริมเส้นทางการบินภายในประเทศสำหรับเที่ยวบินที่มีจำนวนผู้โดยสารมาก เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,499 ล้านบาท

          18. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขยายการลงทุนในกิจการขนส่งทางอากาศ โดยจัดหาเครื่องบินใหม่แบบ AIRBUS 330-343 จำนวน 2 ลำ มีความจุผู้โดยสารรวม 598 ที่นั่ง และมีระวางบรรทุกสินค้ารวม 90 ตัน เพื่อเพิ่มการให้บริการเส้นทางในภูมิภาค และเสริมเส้นทางในประเทศ เงินลงทุนทั้งสิ้น 6,918 ล้านบาท