กระทรวงการคลัง เผย เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพ.ย. 54 บ่งชี้ เศรษฐกิจไทยหดตัวชัดเจนจากผลของวิกฤติอุทกภัยที่กระทบต่อการผลิต
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างชัดเจน จากผลของภาวะวิกฤติอุทกภัย
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีการหดตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากผลของวิกฤติอุทกภัยที่กระทบต่อการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันได้ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออกหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวร้อยละ -1.0 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.3
ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวสูงถึงร้อยละ -62.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -38.8 จากโรงงานผลิตรถยนต์ค่ายต่าง ๆ หยุดการผลิต เนื่องจากขาดชิ้นส่วนในการผลิตในช่วงเหตุอุทกภัยและชิ้นส่วนในเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยต้องหยุดการผลิต สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -71.5 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -41.8
ขณะที่การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวลง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -12.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าส่งออกที่หดตัวลงมากมาจากสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -26.7 ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรยังคงขยายตัวต่อเนื่อง”
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2554 สะท้อนว่า ปัญหาอุทกภัยส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรและภาคบริการหดตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้า
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงค่อนข้างแรง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ที่หดตัวถึงร้อยละ -48.6 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -30.1 ขณะที่เครื่องชี้ด้านการผลิตภาคเกษตรกรรมหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -7.2 โดยเป็นการหดตัวจากผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญ
สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ามีการหดตัวเช่นกัน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.21 ล้านคน หดตัวร้อยละ -17.9 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2553”
“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีสัญญาณการหดตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์อุทกภัยทำให้ภาคการผลิตโดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกิดภาวะชะงักงัน ทำให้ สศค. ทำการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 1.1” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุป