ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับจีดีพีลงเหลือ 3.8-4.8% จาก 4-5% พร้อมประเมินเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เนื่องจากการลงทุนของเอกชนแย่ตลอดปีนี้ เหตุมีความเสี่ยงด้านการเมือง
ธปท.ปรับประมาณการจีดีพีลงเหลือ 3.8-4.8% จาก 4-5% พร้อมประเมินเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ปรับจากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นได้ครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากการลงทุนของเอกชนแย่ตลอดปีนี้ เหตุมีความเสี่ยงด้านการเมืองที่กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะที่การบริโภคน่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ |
. |
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการประมาณการอัตราการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ว่า จะขยายตัวในอัตรา 3.75%-4.75% หรือหากคิดเป็นทศนิยม 1 ตำแหน่งจะขยายตัว 3.8-4.8% ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 4-5% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้จีดีพีปรับลดลงมาจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้แค่ 4-5% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ 6-7% |
. |
นายเมธี กล่าวว่า การลงทุนรวมที่ลดลงเป็นผลจากการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้นักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่นในการลงทุน เพราะยังมีความกังวลถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ ทำให้การลงทุนที่เกิดขึ้นในปีนี้จะเป็นการลงทุนแบบต่อเนื่องหรือขยายกำลังการผลิตแต่การลงทุนขนาดใหญ่ น่าจะชะลอตัวไปก่อนและฟื้นตัวได้ในปีหน้า เนื่องจากนักลงทุนจะรอให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น |
. |
"เอกชนคงลงทุนโครงการใหม่ๆ ปีหน้า หลังจากเห็นรัฐบาลและนโยบายต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยคงจูงใจให้ลงทุนได้อย่างไม่เป็นอุปสรรค ส่วนปีนี้ถ้าเป็นการลงทุนต่อเนื่องหรือการขยายกำลังการผลิตก็คงจะมีต่อแต่ถ้าโครงการใหญ่ๆ จะชะลอไปก่อนจนกว่าจะมีอะไรชัดเจนเพราะปัจจัยสำคัญของการลงทุนตอนนี้มาจากความเชื่อมั่นและแนวนโยบายมากกว่าต้นทุนของเงินกู้ยืม" นายเมธี กล่าว |
. |
ส่วนการลงทุนของภาครัฐนั้น ธปท.ปรับข้อสมมติฐานรายจ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาลในปีนี้ลงเหลือ 623,000 ล้านบาท ลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดไว้ว่ามีรายจ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาล 635,800 ล้านบาท เนื่องจากข้อมูลการเบิกจ่ายจริงในส่วนการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไตรมาสแรกของปีงบประมาณต่ำกว่าที่คาดไว้ |
. |
ขณะที่การบริโภคภาครัฐและเอกชนในปีนี้ ธปท.คาดว่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 3.5-4.5% เท่าเดิมเนื่องจากการใช้จ่ายด้านการบริโภคของภาครัฐที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจากรายจ่ายของ อปท.ที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการใช้จ่ายในประเทศในครึ่งแรกของปีนี้จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยคาดไว้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลงเนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอน ทำให้ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายสินค้าคงทนและกึ่งคงทน ซึ่งที่ผ่านมาได้บริโภคสินค้าคงทนไปมากแล้วด้วย อย่างไรก็ตามในครึ่งหลังของปีนี้ที่จะมีการเลือกตั้ง น่าจะมีการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้น ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงจะช่วยลดต้นทุนการผ่อนชำระสินค้าลงด้วย |
. |
คาด ศก.จะฟื้นตัวล่าช้าถึงไตรมาสแรกปีหน้า |
จากการชะลอตัวของการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศดังกล่าว ทำให้ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเริ่มฟื้นตัวช้าไป โดยอาจจะฟื้นตัวในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เลื่อนออกไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปีนี้ |
. |
สำหรับปัจจัยด้านต่างประเทศ นายเมธี กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 9-12% เพิ่มขึ้นจากที่เคยประมาณการไว้เดิมที่ 7.5-10.5% เนื่องจากข้อมูลการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาดีกว่าที่คาด และภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าก็น่าจะขยายตัวดีขึ้นจากที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 4.2% เป็น 4.4% ส่วนการนำเข้าปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 7.5-10.5% ใกล้เคียงกับที่เคยคาดไว้เดิมที่ 7-10% |
. |
โดยการปรับขึ้นส่วนใหญ่มาจากการปรับขึ้นทางด้านราคามากกว่าปริมาณนำเข้า การส่งออกและนำเข้าดังกล่าวทำให้ดุลการค้าในปีนี้น่าจะเกินดุล 3,000-5,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะเกินดุล 2,000-4,000 ล้านดอลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดน่าจะเกินดุล 4,000-6,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากที่เคยคาดว่าจะเกินดุล 2,500-4,500 ล้านดอลลาร์ |
. |
ทั้งนี้ ธปท.ประมาณการขยายตัวของจีดีพีปี 2551 ไว้ที่ 4.25-5.75% จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 4-5.5% โดยการบริโภครัฐและเอกชนขยายตัว 4-5% การลงทุนขยายตัว 7.5-8.5% เท่าเดิม เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกที่จะขยายตัว 5.5-8.5% เท่าเดิม ส่วนมูลค่านำเข้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 7-10% ที่เคยประมาณไว้เป็น 8-11% เนื่องจากแนวโน้มราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นและการสะสมสินค้าคงคลังที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาจะเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ดุลการค้าสมดุลหรือเกินดุล 3,000 ล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,000-4,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากที่เคยคาดไว้เดิม |
. |
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ นายเมธี กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวในอัตรา 1.5-2.5% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานจะขยายตัว 1-2% เท่ากับที่เคยประมาณการไว้ทั้งสองประเภท แต่จากการที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้ ธปท.ต้องปรับข้อสมมติฐานด้านราคาน้ำมันขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ ว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 56.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเป็น 58.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้น้ำหนักของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ค่อนไปทาง 2-2.5% มากกว่าที่จะขยายตัว 1.5-2% ส่วนในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในช่วงที่เคยคาดไว้เดิมที่ 1-2.5% และ 1-2% ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเกินไปกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท.ที่ 0-3.5% |
. |
ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่มีผลต่อเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านการขยายตัวของประเทศคู่ค้า และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจแล้ว นายเมธีกล่าวว่า ไทยยังมีความเสี่ยงด้านค่าเงินบาทที่จะแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ซึ่งหากแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่ค้าก็อาจจะกระทบต่อการส่งออกแต่ก็จะมีผลดีต่อการนำเข้า |
. |
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ |