เนื้อหาวันที่ : 2011-12-21 17:09:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1375 views

พิษน้ำท่วมผลกระทบชัดการผลิตวูบ 35.8% ส่งออกหด 7.2%

สศอ. สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2554 ชี้ภาคการผลิตเดือนตุลาคมวูบอยู่ที่ 46.42% ด้านการส่งออกลดลงกว่า 7%

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2554 ชี้ภาคการผลิตเดือนตุลาคมวูบอยู่ที่ 46.42% ด้านการส่งออกลดลงกว่า 7% 

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2554 ลดลงร้อยละ 35.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 12,322.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 เดือนตุลาคม 2554 ลดลงร้อยละ 35.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ผลกระทบโดยตรงเกิดขึ้นจากความเสียหายของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุธานี ซึ่งพบว่าเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่ผลิตสินค้าสำคัญอื่น ๆ อีกด้วย เช่น สิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก เป็นต้น

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 46.42 จากร้อยละ 63.92 ในเดือนตุลาคม 2553

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2554 ลดลงหรือหดตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่หากหักการส่งออกทองคำ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำหดตัวที่ร้อยละ 3.7

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ (ตุลาคม 2554)

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ ร้อยละ 46.3, 20.7, 32.6 และ 16.8 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้กระทบต่อการรับคำสั่งซื้ออย่างมาก

โรงงานสิ่งทอที่ได้รับความเสียหายมีกำลังการผลิตกว่าร้อยละ 40 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ขณะที่มีโรงงานที่ได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนโรงงานทั้งหมด ประกอบกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง

ในด้านการส่งออก โดยภาครวมลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 29.8, 21.1, 31.9 และ 10.2 ตามลำดับ จากการหดตัวในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า  การผลิตลดลง ร้อยละ 7.47 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลงร้อยละ 17.99 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมลดลง ร้อยละ 45.93 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 25.54 ในขณะเดียวกันเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.57 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กเส้นข้ออ้อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.15 และลวดเหล็กแรงดึงสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61

ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า โดยดัชนีราคาเหล็กปรับลดลงทุกผลิตภัณฑ์

อุตสาหกรรมรถยนต์  มีการผลิตจำนวน 49,439 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 152,689 คัน ร้อยละ 67.62 โดยเป็นการปรับลดลงของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่น ๆ) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนกันยายนต 2554 ร้อยละ 71.62 ซึ่งเป็นการปรับลดลงของรถยนต์ทุกประเภทเช่นกัน สำหรับการส่งออกมีจำนวน 54,691 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งมีการส่งออก 80,359 คัน ร้อยละ 31.94

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  การผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 44.41 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 51.25

ในส่วนของมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 23.15 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 3,563.05 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 16.74 และมูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.39

 


 

1ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

2อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)