เนื้อหาวันที่ : 2007-04-27 13:09:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2088 views

นโยบายพลังงานประเทศไทย แขวนอนาคตไว้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ประเทศไทยเตรียมชงแผนการพัฒนาผลิตไฟฟ้า PDP โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,800 MW ระหว่างปี 2550-2564 พร้อมทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว พม่า และจีน เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP (Power Development Plan 2550-2564) ได้ผ่านความเห็นชอบในการประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา แผนฉบับดังกล่าวได้กำหนด สมมติฐาน จากค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือ Load Forcast โดย คณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า เดือนมีนาคม 2550 แบ่งเป็น 3 กรณีคือ

.

กรณีฐาน กรณีต่ำ และกรณีสูง จากประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 กำหนดให้มีค่า "เท่ากับ" ค่าเฉลี่ยในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 คือ ร้อยละ 5.6 ในกรณีฐาน ส่วนกรณีต่ำและกรณีสูงกำหนดให้ตั้งแต่ปี 2551 มีการเติบโตของ GDP ต่ำและสูงกว่ากรณีฐานร้อยละ 0.5 ตามลำดับ

.

นอกจากนี้ในกรณีที่ใช้ความต้องการไฟฟ้าฐาน ยังได้แยกออกเป็น 3 แผนประกอบไปด้วย แผน B1 หรือ แผนที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด (Least-cost plan) แผน B2 จะพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีความเป็นไปได้ และแผน B3 จะพิจารณาปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า 10 ล้านตัน/ปี และซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

.

โดยในที่ประชุม กพช.ได้อนุมัติให้ใช้ แผน B2 หรือ พิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีความเป็นไปได้เป็นแผนหลัก ส่วน แผน B3 ถูกกันไว้เป็นแผนสำรอง เพื่อนำไปกำหนด แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ

.
ดันโรงถ่านหินเข้าระบบปี 2557

สำหรับแผน B2 ที่ถูกเลือกให้เป็นแผนหลักนั้นระบุว่า ตั้งแต่ปี 2554-2558 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้น 10,440 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น จากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติรวม 5,600 เมกะวัตต์ จากถ่านหินที่ตามแผนนี้ระบุให้ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เข้าระบบเร็วที่สุดในปี 2557 มีกำลังผลิตรวม 2,100 เมกะวัตต์ รวมถึงการผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) 800 เมกะวัตต์ และการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 1,940 เมกะวัตต์

.

โดยในช่วงปี 2558 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 35,251 เมกะวัตต์ ในขณะที่กำลังผลิตติดตั้งรวมอยู่ที่ 42,150 เมกะวัตต์ และจะมีปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ร้อยละ 15.8

.

สำหรับในช่วงปี 2559-2564 จะมีกำลังผลิตใหม่อีกประมาณ 21,350 เมกะวัตต์ มาจาก โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ที่ทยอยเข้าระบบตั้งแต่ ปี 2559 รวม 12,600 เมะวัตต์ ซึ่งในช่วงนี้ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เข้าระบบอีก 700 เมกะวัตต์ และมี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เข้าระบบในช่วงปี 2563-2564 รวม 4,000 เมกะวัตต์ รวมถึง การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีก 3,150 เมกะวัตต์

.

ส่วนกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแผน B2 ได้ และหันมาใช้แผนสำรอง B3 หากโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชนและถูกต่อต้านอย่างหนัก ก็จะต้องมีการเตรียมการนำเข้า ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) กับ การพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ซึ่งเมื่อเปรีบบเทียบกับแผน B2 ที่จะต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านทั้งจาก สปป.ลาว-สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน และจากพม่าเพียง 5,090 เมกะวัตต์ ก็จะต้องถูกปรับเพิ่มขึ้นถึง 13,490 เมกะวัตต์ ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าในประเทศจะมาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ-ถ่านหิน-นิวเคลียร์ และรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP รวม 18,300 เมกะวัตต์

.
การรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ตามตามแผน PDP ฉบับนี้ ได้กำหนดถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน ทั้งจาก สปป.ลาว-พม่า-จีน ไว้ดังต่อไปนี้ การับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน 10 โครงการ ได้แก่ 1)โครงการที่มีการลงนามซื้อ-ขายและอยู่ระหว่างการก่อสร้างคือ โครงการน้ำเทิน 2 กำลังการผลิต 920 เมกะวัตต์-โครงการน้ำงึม 2 กำลังการผลิต 597 เมกะวัตต์ 2)โครงการที่มีการตกลงซื้อ-ขายแล้วและอยู่ระหว่างพิจารณาร่างสัญญา คือ โครงการน้ำเทิน 1 กำลังผลิต 523 เมกะวัตต์ และโครงการน้ำงึม 3 กำลังผลิต 440 เมกะวัตต์ และ 3)โครงการที่เตรียมเจรจาซื้อ-ขายไฟฟ้ากับ กฟผ.คือ โครงการเทินหินบุน ส่วนขยายกำลังผลิต 220 เมกะวัตต์-โครงการน้ำเงี้ยบ กำลังผลิต 260 เมกะวัตต์-โครงการหงสา กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์-โครงการเซเปียน/เซน้ำน้อย กำลังผลิต 390 เมกะวัตต์ และโครงการทางตอนใต้ของ สปป.ลาว อีก 600 เมกะวัตต

.

การรับซื้อไฟฟ้าจากพม่า จำนวน 2 โครงการคือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัตจี (Hutgyi) กำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ที่จะส่งกระแสไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งบริเวณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท่าซาง (Tasang) กำลังผลิต 7,000 เมกะวัตต์ ส่งกระแสไฟฟ้าผ่านระบบส่งบริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงใหม่

 .

การรับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้แก่ไทย จำนวน 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 ซึ่งจีนจะเป็นผู้คัดเลือกโครงการที่เหมาะสม หลังจากนั้นร่วมกันวางแผนและก่อสร้างระบบสายส่งเชื่อมระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งจะมีการเจรจากับประเทศที่ 3 เพื่อการยินยอมในกรรมสิทธิ์ แนวสายส่ง

.
แผนสำรอง กฟผ. 6 โครงการ 4,900 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยังได้จัดทำแผนขยายกำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตในสถานที่ที่มีอยู่แล้ว ตามแผน PDP มีสถานที่ที่ กฟผ.พร้อมที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นช่วงปี 2554-2558 รวม 4,900 เมกะวัตต์ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ได้แก่

1)โรงไฟฟ้าวังน้อยชุดที่ 4 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ พร้อมเข้าระบบในปี 2554

2)โรงไฟฟ้าพระนครเหนือชุดที่ 2 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2554

3)โรงไฟฟ้าพระนครใต้ชุดที่ 4 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2556

4)โรงไฟฟ้าบางปะกงชุดที่ 6 กำลังผลิต 700 เข้าระบบปี 2556

5)โรงไฟฟ้าบางปะกงชุดที่ 7-8 กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2557-2558

6)โรงไฟฟ้าจะนะชุดที่ 2 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 2558

.
ปตท.รับบทหนัก หาก๊าซมาป้อนโรงไฟฟ้า

ด้านความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ได้ถูกประมาณการตามแผน PDP ไว้ที่ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 74 ของการใช้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือคือ การใช้ในโรงแยกก๊าซ ปัจจุบันการผลิตก๊าซธรรมชาติมาจากแหล่งในประเทศประมาณร้อยละ 72 ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าก๊าซจากแหล่งในประเทศพม่าร้อยละ 28 ซึ่งตามแผน PDP ฉบับนี้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีหน้าที่หลักในการจัดหาก๊าซ ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า สำหรับแผนจัดหาก๊าซเพื่อรองรับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP ตั้งแต่ปี 2554 นั้น จะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

.
โดยเบื้องต้นได้ลงนาม (Heads Of Agreement หรือ HOA) กับบริษัท Pars LNG อิหร่าน เพื่อรับซื้อก๊าซ LNG จำนวน 3 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มจัดส่งได้ในปี 2554 -2555 ได้ อายุสัญญาซื้อขาย 20 ปี และยังมีอีก 6 รายที่กำลังอยู่ระหว่างการจรจาการซื้อขาย LNG
.

รวมถึงการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศ ในภูมิภาค ทั้งจากพม่าในแปลง M7 M9 และจาก แหล่งนาทูน่าในประเทศอินโดนีเซีย การเร่งผลิตจากแหล่งก๊าซในบริเวณอ่าวไทยที่ คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซสำรองเพิ่มขึ้นจาก แหล่งไพลิน

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ