ปตท.เผยสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยลดลง น้ำมันดีเซล ลดลง 3.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 กลับเพิ่มขึ้น 0.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ปตท.เผยสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยลดลง น้ำมันดีเซล ลดลง 3.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 กลับเพิ่มขึ้น 0.27 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันเฉลี่ย สัปดาห์ที่ 12-16 ธ.ค. 54 น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวลดลง 3.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 105.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 3.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 105.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 4.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 96.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ น้ำมันดีเซล ลดลง 3.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 122.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 113.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคา ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- 14 ธ.ค. 54 ที่ประชุม OPEC มีมติเพิ่มเพดานการผลิตรวมของกลุ่ม 12 ประเทศ รวมอิรัก สู่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน (โดยไม่ระบุโควตาการผลิตของแต่ละประเทศ ) เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับ 28.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่ใช้มา 2 ปีครึ่ง ปัจจุบัน OPEC ผลิตที่ระดับ 30.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ Oil Movement รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบทางเรือของ OPEC-10 (ไม่รวม Angola และ Ecuador) เฉลี่ยสี่สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 54 จะเพิ่มขึ้น 1.4 แสนบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 23.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันลิเบียประกาศปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปัจจุบันอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะเพิ่มเป็น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 1/55 และเพิ่มเป็น 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในครึ่งหลังปี 55 และ
- China Petroleum Daily ของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ PetroChina ปี 54 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน (+2% Y-O-Y) และธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) รายงานยอดปล่อยสินเชื่อรายใหม่ของระบบธนาคารจีนเดือนใน พ.ย. 54 อยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากเดือนก่อน 12.5% ลดลงสูงสุดตั้งแต่ปี 2544
- Standard & Poor's (S&P) ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือหนี้ของเบลเยียมมาอยู่ที่ Aa3 จาก Aa1 และ Fitch Rating ปรับลดความอันดับน่าเชื่อถือของธนาคาร 7 แห่ง ในสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากปัญหาสภาพคล่องของสถาบัน
ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- 13 ธ.ค. 54 เกิดเหตุการณ์วินาศกรรมท่อขนส่งน้ำมันในอิรัก โดยผู้ก่อการร้ายวางระเบิดจำนวน 3 ลูกส่งผลให้ท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่ง Rumaila ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ได้รับความเสียหาย ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงจาก 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7 แสนบาร์เรลต่อวัน
- เกาหลีใต้เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยการห้ามการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและก๊าซ อย่างไรก็ตามยังไม่ห้ามการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน เนื่องจากอาจกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
- Federation of Electric Power Companies ของญี่ปุ่นรายงานอุปสงค์น้ำมันดิบในเดือน พ.ย. 54 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 0.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 8 แห่ง อยู่ระหว่างการซ่อมแซมความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและซึนามิตั้งแต่เดือน มี.ค. 54 ที่ผ่านมา
- กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ของเดือน พ.ย. 54 ทรงตัวจากเดือน ต.ค. 54 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.1% และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ธ.ค. 54 ต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี โดยลดลงจากสัปดาห์ก่อน 19,000 ราย อยู่ที่ 366,000 ราย
แนวโน้มราคาน้ำมัน ในสัปดาห์นี้ (19-23 ธ.ค. 54)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงจากผู้ค้าเห็นว่าอุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะปรับเพิ่มสูงขึ้นตามมาตรการเพิ่มเพดานการผลิตของโอเปค และ International Energy Agency (IEA) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 55 ลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ประมาณ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 90.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ประกอบกับ นักลงทุนกังวลต่อภาวะหนี้สาธารณะของยุโรปที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ อีกทั้งธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่าเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปจะเข้าสู่สภาวะถดถอยภายในปี พ.ศ. 54 นี้ ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาหนี้ยากลำบากขึ้นเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการคลี่คลายปัญหาหนี้ นอกจากนี้ นักลงทุนยังทยอยขายเพื่อทำกำไรก่อนหยุดการดำเนินงานช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ทำให้การถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลดลง
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัว หลังข้อมูลทางเศรษฐกิจออกมาแข็งแกร่งเกินคาด โดย JP Morgan และ Morgan Stanley ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของสหรัฐฯ ในไตรมาส 4/54 จากเดิม 2.5% และ 3% มาอยู่ที่ 3% และ 3.5% ตามลำดับ ให้จับตามอง ยอดขายบ้านมือสองเดือน ต.ค. 54 ของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในกลางสัปดาห์ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อราคาน้ำมัน