เนื้อหาวันที่ : 2011-12-19 12:11:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2977 views

ชีวิตออนไลน์ทำให้คนสมองทื่อจริงหรือ ?

หลายคนอาจไม่ทันสังเกตุว่า ความหลากหลายสะดวกรวดเร็วของเทคโนโลยีนั้น ส่งผลให้การประมวลผลทางสมองของผู้ใช้อย่างเราๆ ท่านๆ สั้นลง

ได้ไปอ่านเจอพาดหัวบทความ เรื่อง Does life online give you 'popcorn brain'? จากเว็บไซต์ของ CNN แล้วก็รู้สึกสงสัยเล็กๆ ว่าออนไลน์มากๆ แล้วสมองเราจะเป็นป๊อปคอร์นจริงๆ หรือ? ต่อเมื่ออ่านและค้นคว้าอีกครั้งก็รู้ว่า..อ๋อ 'popcorn brain' เป็นสำนวนที่ใช้กล่าวถึงคนที่ไม่ค่อยได้ใช้ความคิดไม่ค่อยเรียนรู้จนสมองทื่อ หรือคนโง่ (an airhead) นั่นเอง !!

ในบทความเขาโปรยหัวเรื่องที่น่ากังวลสำหรับมนุษย์ออนไลน์ว่า 
• ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกังวลว่า เทคโนโลยีอันหลากหลายอาจทำให้มนุษย์ใช้ศักยภาพของตัวเองได้ไม่เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น

• แว้บแรกของสมองจะติดเรียกหา พึ่งพาแต่เทคโนโลยี (ใช้เทคโนโลยีให้คิดแทน)

• และจากการศึกษาพบว่า ความหลากหลายของอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เราลืมไปว่าเราสามารถสังเกตุสีหน้าและควรใส่ใจต่อความรู้สึกของผู้อื่นอย่างไร

อย่างเวลาที่เรากลับบ้านหลังจากเลิกงานมานั้น ควรจะเป็นเวลาที่ร่างกายได้ยืดพักผ่อนบ้างจากที่นั่งอยู่หน้าจอคอมฯ มาทั้งวัน แต่บางคนกลับไม่สามารถจัดสรรเวลา ยังคงต้องการออนไลน์ต่อตลอดเวลา และพบว่ามันยากมากที่จะสั่งตัวเองให้ผละออกมาจากโลกออนไลน์ได้เป็นเวลานานๆ

อย่างที่เราพอจะเห็นได้จากการรายงานข่าวอยู่บ้างว่าบางคนติดคอมฯ หนักถึงขั้นละทิ้งการดูแลลูกจนลูกน้อยเสียชีวิต ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้และทำร้ายร่างกายกัน หรือติดเล่นจนช็อคคาจอคอมพิวเตอร์ไปเลยก็มี

ใจความตอนหนึ่งยังนำเสนอถึงกรณี ที่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนเคยทำและยังทำ คือเวลาที่เราควรจะให้ความสนใจกับคนในครอบครัว คนที่อยู่เคียงข้าง กับคนหรือสิ่งสำคัญที่อยู่ตรงหน้าเราให้มากที่สุด แต่เราก็กลับให้ความสนใจอยู่กับจอสี่เหลี่ยมในมือไปด้วยในขณะเดียวกัน ซึ่งบางคนไม่เคยรู้ตัว และหลายคนรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อมีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว เช่น ทำให้คนที่รักเราเสียความรู้สึก ทำให้เสียงาน หรือแม้กระทั่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุ 

พักหลังมานี้ หลายท่านคงสัมผัสได้เหมือนๆ กันว่า สมัยนี้คนเราเอาชีวิตไปผูกติดกับเทคโนโลยีมากๆ มากซะจนแทบจะเรียกได้ว่าตลอดเวลา หลายคนอาจไม่ทันสังเกตุว่า ความหลากหลายสะดวกรวดเร็วของเทคโนโลยีนั้น ส่งผลให้การประมวลผลทางสมองของผู้ใช้อย่างเราๆ ท่านๆ สั้นลง

ลองเทียบง่ายๆ จากเมื่อก่อน เวลาเราจะโทรหาใครสมองจะนึกประมวลผลหาเบอร์โทรศัพท์จากที่เราจำไว้ได้นับเป็นสิบๆ เบอร์ อยากพักเบรคสมองเพียง 10-15 นาที สมองก็จะเริ่มหาวิธีพักมาให้เลือกมากมายหลายแบบ จะกินอะไร จะไปไหน สมองจะประมวลผลหาวิถีทางอย่างสนุกสนาน คือสมองจำได้และประมวลผลเร็วด้วย แต่เมื่อมิตรภาพและโลกทั้งใบถูกย่ออยู่แค่ในกำมือ เราก็แทบไม่ต้องจำ ไม่ต้องหาหนทาง หรือวิธีอะไรอีก

เรากลายเป็นคนที่เหมือนจะชอบอยู่โลกส่วนตัวอันสันโดษ แต่ความจริงแล้วเรากลับอยู่แบบสันโดษเงียบๆ วางเฉยได้ไม่นาน ก็จะรู้สึกเบื้อเบื่อ จนต้องหยิบอุปกรณ์คู่กายขึ้นมาคลายเหงาตามจริต หาข้อมูล, เช็คอีเมล์,  เล่นเกม, ฟังเพลง, Chat, Share, check in หรือ Update Status กันแบบตลอดเพื่อเป็นการฆ่าความรู้สึกเบื่อเหงา

แถมในช่วงท้ายเขาทิ้งคำแนะนำไว้ว่า หากไม่อยากขึ้นชื่อว่าเป็นพวกสมองป๊อปคอร์น ให้ลองจดบันทึกการออนไลน์ ว่าในแต่ละวันเราใช้เวลาไปกับการออนไลน์วันละกี่ชั่วโมง, ทำอะไรบ้าง, ก่อนและระหว่างเล่นคุณรู้สึกอย่างไร จำกัดและกำหนดเวลาในการใช้งาน เช่น สองชั่วโมงออนไลน์สำหรับทุกสิ่ง ครบแล้วก็ต้องตัดใจออฟไลน์ปิดเครื่อง แล้วพาเอาร่างกายขยับไปทำอย่างอื่นที่น่าจะได้สาระประโยชน์มากกว่า บางเวลาก็ควรทอดสายตามองออกไปนอกหน้าต่างเพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายบ้าง ฯ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้สิ่งแรกที่น่าเห็นด้วยอย่างยิ่ง คือปัจจุบันไม่ว่าจะทำอะไร แว้บแรกของสมองเรามักเรียกหาแต่เทคโนโลยีก่อนเสมอ เป็นไปได้ว่าส่งผลให้สมองเราเกิดการคิด ประมวลผล จดจำสิ่งต่างๆ น้อยลง และเมื่อสมองเราจดจ่อกังวลอยู่กับโลกออนไลน์(สิ่งใดสิ่งหนึ่ง)มากเกินไป เราก็จะเปิดรับหรือเรียนรู้สิ่งอื่นๆ ได้น้อยลง เป็นไปได้ว่าอาจทำให้พลาดการเรียนรู้ทักษะอื่นๆ ไปโดยไม่รู้ตัว

ข้อกังวลนี้อาจไม่ใช่ปัจจัยใหญ่ที่สุดที่มีผลต่อกระบวนการทางความคิดหรือสมอง แต่ก็เป็นอีกข้อกังวลหนึ่งที่เป็นเหตุเป็นผลไม่ควรปล่อยให้ผ่านเลยไป จึงเก็บมาสะกิดผู้อ่านทุกเพศทุกวัยให้ได้ขบคิดร่วมกัน

ขอบคุณบทความดี ๆ จาก Add Free Magazine