เนื้อหาวันที่ : 2011-12-14 14:49:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 746 views

วิศวฯ จุฬาฯ คิดค้น SM ชุบชีวิตมอเตอร์และแผงวงจร

วิศวฯ จุฬาฯ ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยฟื้นฟูเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมหลังน้ำท่วม นำร่องนิคมฯ บางกะดี คิดค้น SM สารละลายมหัศจรรย์ลดงบประมาณฟื้นฟู

ภาพจาก www.eng.chula.ac.th

          วิศวฯ จุฬาฯ ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญช่วยฟื้นฟูเอสเอ็มอี อุตสาหกรรมหลังน้ำท่วม นำร่องนิคมฯ บางกะดี คิดค้น SM สารละลายมหัศจรรย์ลดงบประมาณฟื้นฟู

          วิศวฯ จุฬาฯ ยื่นมือช่วย “เอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรม” ที่ถูกน้ำท่วมพลิกฟื้นธุรกิจคิดค้นสารละลายมหัศจรรย์ “SM” ชุบชีวิต “มอเตอร์” และ “แผงวงจร” คืนหัวใจและสมองเพื่อเริ่มธุรกิจอีกครั้งหลังน้ำลด

          คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระดมทีมผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ และนิสิต เดินหน้าลงพื้นที่พลิกฟื้นภาคอุตสาหกรรม เริ่มแล้วที่นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จ.ปทุมธานี พบ “เอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรม” ฟื้นช้า เพราะขาดงบและบุคลากรในการฟื้นฟูเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จมน้ำ จึงได้คิดค้นสารละลายมหัศจรรย์ “SM” แจกฟรี ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชนแถมส่งทีมเข้าอบรมให้ทำเป็น เบิกทางสานต่อความรู้สู่ชุมชน

          รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยในการจัดโครงการเปิดโลกลานเกียร์ครั้งล่าสุดว่า ภายหลังจากที่คณะฯ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วย “การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย” ก็ได้เริ่มเดินหน้าสร้างความเป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่

โดยเราได้รับมอบหมายให้เข้าฟื้นฟูในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จ.ปทุมธานี โดยได้ส่งทีมคณาจารย์และนิสิต เข้าสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา พร้อมกลับมาระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน

โดยได้รับการสนับสนุนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการเข้าชมกระบวนการฟื้นฟูโดยเทคโนโลยีต่างประเทศ และนำแก่นสาระสำคัญมาพัฒนาให้สอดคล้องกับกระบวนการฟื้นฟูภายในประเทศ

ซึ่งคณะฯ ได้วางกระบวนการในการฟื้นฟูอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตลอดจน การคิดค้นสาระลายที่ชื่อว่า “SM” ซึ่งคิดค้นโดย รศ. ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนในด้านการผลิตและเผยแพร่องค์ความรู้ จาก เอไอเอส ปตท. และธนาคารกรุงไทย เพื่อแจกฟรีแก่ เอสเอ็มอีรายย่อยในภาคอุตสาหกรรม

          “เราได้ส่งทีมคณาจารย์และนิสิตออกเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อให้เอสเอ็มอีรายย่อยในภาคอุตสาหกรรมสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการฟื้นฟูเครื่องจักรและอุปกรณ์หลังอุทกภัย รวมถึงขยายองค์ความรู้ดังกล่าวไปยังโรงงานที่อยู่ใกล้เคียง โดยมุ่งเน้นไปที่การฟื้น “มอเตอร์” และ “แผงวงจรอิเลคทรอนิคส์” ซึ่งเปรียบเสมือน “หัวใจและสมอง” ของเครื่องจักร ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ

โดยอาศัยเทคนิคและสารละลาย “SM” ทั้ง 4 ขั้นตอน ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีรายย่อยในภาคอุตสาหกรรม ใช้งบประมาณในการฟื้นฟูที่น้อยลงอย่างมาก ทั้งยังสามารถสานต่อธุรกิจหลังน้ำลดได้อย่างรวดเร็ว” รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ กล่าว

          ทั้งนี้ สารละลาย “SM” ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการล้างทำความสะอาดชิ้นส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม “วิศวฯ จุฬาฯ ยินดีที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ในการฟื้นฟูเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้

โดยผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยประชาสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ โทร 0-2218-6337 หรือชมวิดีโอสาธิตในการฟื้นฟูได้ที่เว็บไซต์คณะวิศวกรรมศาสตร์ www.eng.chula.ac.th รศ. ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ กล่าวสรุป