เนื้อหาวันที่ : 2011-12-13 16:44:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 702 views

กิตติรัตน์ เล็งใช้เวที WTO ย้ำความเชื่อมั่นกู้วิกฤติน้ำท่วมไทย

รมว.กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเข้าร่วมประชุม WTO แก้ปัญหาการเจรจารอบโดฮาพร้อมร่วมกำหนดทิดทาง WTO ในอนาคต เผยเล็งใช้เป็นเวทีสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยด้วย

          รมว.กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเข้าร่วมประชุม WTO แก้ปัญหาการเจรจารอบโดฮาพร้อมร่วมกำหนดทิดทาง WTO ในอนาคต เผยเล็งใช้เป็นเวทีสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยด้วย

          สำนักข่าวไทย รายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าในระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2554 ตนจะเป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ครั้งที่ 8

          โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเจรจารอบโดฮาที่ยืดเยื้อมากว่า 10 ปี รวมถึงจะร่วมกำหนดทิศทางในอนาคตของ WTO ในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก นอกจากนั้นจะใช้โอกาสดังกล่าวในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั่วโลก

          “การประชุมจะมีผู้แทนรัฐบาลจากสมาชิก 153 ประเทศ ผู้แทนรัฐบาลสังเกตการณ์ 37 ประเทศ ผู้แทนขององค์กรระหว่างประเทศ 76 องค์กร ผู้แทนภาคธุรกิจและสื่อมวลชนจากทั่วโลก  จึงเป็นโอกาสดีที่จะชี้แจงถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม และยุทธศาสตร์การฟื้นฟูประเทศ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและประเทศคู่ค้าของไทย หลังจากที่มีปฏิกิริยาจากบางประเทศว่า อุทกภัยครั้งนี้มีผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก และทำให้ราคาอาหารในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น”นายกิตติรัตน์กล่าว

          นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ขณะนี้กำลังชะลอตัวจากวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปและอเมริกา  ทำให้ทั้งยุโรปและอเมริกาต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดภายในประเทศ เป็นผลให้กำลังซื้อจากลูกค้าในยุโรปและอเมริกาลดลง รวมถึงการที่ภาคธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องเพิ่มทุน ซึ่งจะมีผลกระทบถึงสภาพคล่องในตลาดการเงินระหว่างประเทศ ทำให้การค้าระหว่างประเทศต้องชะลอตัว

และภาวะเช่นนี้ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ประเทศต่างๆ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการปกป้องทางการค้า มิเช่นนั้นอาจนำไปสู่ “สงครามทางการค้า” โดยการขึ้นกำแพงภาษีและมาตรการกีดกันต่างๆ ซึ่งจะทำให้วิกฤติเศรษฐกิจโลกต้องแย่ลงไปกว่าเดิม ซึ่งหากการเจรจารอบโดฮาสามารถสรุปผลได้ ก็จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจโลกได้อย่างมาก

และถือเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการค้าระหว่างประเทศ  สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักธุรกิจ ดึงดูดการลงทุน ทำให้มีการจ้างงานมากขึ้นในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของไทย

          อย่างไรก็ดี ปัจจุบันรอบโดฮากำลังชะงัก เนื่องจากสมาชิกบางประเทศไม่สามารถตกลงเรื่องการเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมได้ ในขณะที่รอบโดฮามีหัวข้อเจรจาอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์มากมาย เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าให้มีความชัดเจน โปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าหัวข้อเจรจาเหล่านี้จะสามารถหาข้อสรุปได้ หากไม่มีการเชื่อมโยงกับปัญหาในการเจรจาเปิดตลาด

ดังนั้นไทยในฐานะประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศสูงถึงร้อยละ 135 รวมถึงเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้ประโยชน์จากกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO มากที่สุด (เข้าร่วมใน 61 คดีโดยไทยเป็นผู้ฟ้องร้อง 12 คดี เป็นผู้ถูกฟ้อง 3 คดี และเป็น third party 46 คดี) ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีบทบาทในการผลักดันให้รอบโดฮาสามารถมีผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์บางอย่างในปีหน้า