คนรุ่นใหม่ ยกให้อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายเป็นอีกปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต เช่นเดียวกับ อากาศ อาหาร และน้ำ
ผลการศึกษาของซิสโก้เผย “อินเทอร์เน็ตและเครือข่าย” กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต เช่นเดียวกับ อากาศ อาหาร และน้ำ เน้นสำรวจคนรุ่นใหม่และผลกระทบต่อความต้องการในอนาคต รวมถึงพฤติกรรมการเข้าถึงเครือข่ายและข้อมูลในสภาพแวดล้อมการทำงาน
ซิสโก้เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเครือข่ายมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อชีวิตของคนเรา โดยหนึ่งในสามของนักศึกษาและคนทำงานรุ่นใหม่มองว่าอินเทอร์เน็ตคือปัจจัยพื้นฐานสำหรับมนุษย์ โดยมีความสำคัญเทียบเท่ากับอากาศ น้ำ อาหาร และที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ รายงาน Cisco Connected World Technology ประจำปี 2554 ยังชี้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าตนเองไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งระบุว่าอินเทอร์เน็ตเป็น “ส่วนสำคัญของชีวิต” และในบางกรณี มีความสำคัญมากกว่ารถยนต์ การออกเดท และงานสังสรรค์อีกด้วย
ข้อมูลเหล่านี้เกี่ยวกับทัศนคติ ความคาดหวัง และพฤติกรรมที่มีอิทธิพลต่อทุกๆ สิ่งของคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่การสื่อสารทางธุรกิจและไลฟ์สไตล์แบบโมบิลิตี้ไปจนถึงการจ้างงาน ระบบรักษาความปลอดภัยขององค์กร และขีดความสามารถด้านการแข่งขันของบริษัท
รายงานฉบับนี้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมของมนุษย์ การใช้อินเทอร์เน็ต และความแพร่หลายของการใช้เครือข่าย โดยใช้ความสัมพันธ์นี้จุดประกายแนวคิดในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของบริษัทท่ามกลางอิทธิพลของไลฟ์สไตล์โมบิลิตี้ รายงานอ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาและคนทำงานอายุไม่เกิน 30 ปีใน 14 ประเทศทั่วโลก
โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาท้าทายที่บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบันขณะที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของพนักงานและธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ท่ามกลางความสามารถทางด้านโมบิลิตี้ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และเทคโนโลยีที่ใช้ในทุกๆ ที่ ตั้งแต่ดาต้าเซ็นเตอร์แบบเวอร์ช่วลไลซ์และคลาวด์คอมพิวติ้ง ไปจนถึงเครือข่ายพื้นฐานและเครือข่ายไร้สาย
อินเทอร์เน็ตคือปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต
• อากาศ น้ำ อินเทอร์เน็ต: หนึ่งในสามของนักศึกษาและพนักงานทั่วโลกที่ตอบแบบสอบถาม (33%) เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตคือปัจจัยพื้นฐานสำหรับมนุษย์ เช่นเดียวกับอากาศ น้ำ อาหาร และที่อยู่อาศัย และประมาณครึ่งหนึ่ง (49% ของนักศึกษา และ 47% ของพนักงาน) เชื่อว่ามีความสำคัญในระดับที่ “ใกล้เคียงกัน” และโดยรวมแล้ว นักศึกษาและพนักงานรุ่นใหม่สี่ในห้าคนเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญอย่างมากและเป็นปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต
• ปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิต: กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (55% ของนักศึกษา และ 62% ของพนักงาน) กล่าวว่าพวกเขาไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งระบุว่าอินเทอร์เน็ตเป็น “ส่วนสำคัญของชีวิต”
• รูปแบบใหม่ของการเดืนทาง: ถ้าหากต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง นักศึกษาทั่วโลกส่วนใหญ่ราวสองในสาม (64%) จะเลือกการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแทนที่จะเลือกรถยนต์
การเข้าสังคมรูปแบบใหม่: อินเทอร์เน็ตสำคัญกว่าความรักและมิตรภาพจริงหรือ?
• รักครั้งแรก: สองในห้าของนักศึกษาทั่วโลกที่ตอบแบบสอบถาม (40%) กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญมากกว่าการออกเดท การไปเที่ยวกับเพื่อน หรือการฟังเพลง
• โซเชียล ไลฟ์ 2.0: ขณะที่คนรุ่นก่อนชื่นชอบการพบปะพูดคุยเป็นการส่วนตัว แต่คนรุ่นใหม่กลับใช้การติดต่อสื่อสารทางออนไลน์เป็นหลัก โดยกว่าหนึ่งในสี่ของนักศึกษาทั่วโลก (27%) กล่าวว่าการอัพเดตข่าวคราวผ่านทางเฟซบุ๊คมีความสำคัญมากกว่าการไปงานเลี้ยง การออกเดท การฟังเพลง หรือการไปเที่ยวกับเพื่อนๆ
การใช้อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่เพื่อเข้าถึงข้อมูล ทำให้โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ถึงกาลอวสาน?
• ความสำคัญของอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่: นักศึกษาสองในสามคน (66%) และพนักงานกว่าครึ่งหนึ่ง (58%) ระบุว่าอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ (แลปท็อป, สมาร์ทโฟน, แทบเล็ต) เป็น “เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในชีวิต”
• การเติบโตอย่างต่อเนื่องของสมาร์ทโฟนและโมบิลิตี้: สมาร์ทโฟนมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าเดสก์ท็อปในฐานะเครื่องมือที่แพร่หลายที่สุดในทุกที่ทั่วโลก โดยนักศึกษา 19% เชื่อว่าสมาร์ทโฟนคืออุปกรณ์ที่ “สำคัญที่สุด” ที่ใช้งานเป็นประจำทุกวัน เปรียบเทียบกับ 20% สำหรับเดสก์ท็อป ซึ่งนับเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับสมาร์ทโฟน
และคาดว่านักศึกษารุ่นใหม่จะใช้งานเพิ่มมากขึ้นเมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ข้อมูลนี้เกี่ยวเนื่องกับประเด็นเรื่องความจำเป็นของออฟฟิศเมื่อเทียบกับความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและทำงานได้ในทุกๆ ที่ เช่น ที่บ้านหรือในที่สาธารณะ จากผลการศึกษาเมื่อปี 2553 พบว่า สามในห้าของพนักงานทั่วโลก (60%) ระบุว่าออฟฟิศไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกต่อไป
• ความนิยมในการรับชมโทรทัศน์ลดลง: ผลการสำรวจทั้งสองปีชี้ว่า โทรทัศน์มีความสำคัญน้อยลงสำหรับนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ ขณะที่อุปกรณ์พกพาอย่างเช่นแลปท็อปและสมาร์ทโฟนมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้นักศึกษาเพียงไม่ถึงหนึ่งในสิบคน (6%) รวมถึงพนักงาน (8%) กล่าวว่าโทรทัศน์เป็นอุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ได้รับการเผยแพร่ผ่านอุปกรณ์พกพาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าโทรทัศน์จะเสื่อมความนิยมลงอย่างต่อเนื่อง
• หนังสือพิมพ์จะถึงกาลอวสาน? ในบรรดานักศึกษาและพนักงานที่ตอบแบบสอบถาม มีเพียงหนึ่งใน 25 คน (4%) เท่านั้นที่ระบุว่าหนังสือพิมพ์คือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับการเข้าถึงข้อมูล
• การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: หนึ่งในห้าของนักศึกษา (21%) ไม่ได้ซื้อหนังสือจากร้านขายหนังสือในช่วงเวลากว่าสองปี (ยกเว้นตำราเรียนที่จำเป็นต้องใช้ในชั้นเรียน) หรือไม่เคยซื้อมาก่อนเลย
อิทธิพลของโซเชียลมีเดีย – และสิ่งล่อใจในชีวิตประจำวัน
• การติดต่อสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ค: ประมาณเก้าในสิบ (91%) ของนักศึกษาและพนักงาน (88%) ทั่วโลกระบุว่าตนเองมีบัญชีเฟซบุ๊ค และในจำนวนนั้น 81 เปอร์เซ็นต์ของนักศึกษา และ 73% ของพนักงานตรวจเช็คหน้าเฟซบุ๊คของตนเองอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง และหนึ่งในสาม (33%) ระบุว่าตนเองตรวจเช็ควันละห้าครั้งเป็นอย่างน้อย
• การหยุดชะงักทางออนไลน์? นักศึกษาเปิดเผยว่ามักจะถูกขัดจังหวะทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องขณะที่กำลังทำโครงงานหรือการบ้าน เช่น ระบบรับส่งข้อความ (Instant Messaging), โซเชียลมีเดียและการติดต่อทางโทรศัพท์ โดยในเวลาหนึ่งชั่วโมง
นักศึกษาสี่ในห้าคน (84%) ระบุว่าตนเองถูกขัดจังหวะทางออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง และนักศึกษาประมาณหนึ่งในห้าคน (19%) กล่าวว่าตนเองถูกขัดจังหวะทางออนไลน์อย่างน้อยหกครั้ง หรือโดยเฉลี่ยทุกๆ 10 นาทีเป็นอย่างน้อย และหนึ่งในสิบ (12%) กล่าวว่าตนเองไม่ได้นับจำนวนครั้งที่ถูกขัดจังหวะทางออนไลน์ขณะที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาทำโครงงาน
• งานคือชีวิต: พนักงานเจ็ดในสิบคน “เป็นเพื่อน” กับผู้จัดการและ/หรือเพื่อนร่วมงานผ่านทางเฟซบุ๊ค ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวใกล้จะเลือนหาย เมื่อพิจารณาในทางวัฒนธรรมแล้ว พบว่าในสหรัฐอเมริกา พนักงานที่เป็นเพื่อนกับผู้จัดการและเพื่อนร่วมงานมีสัดส่วนน้อยกว่า คือเพียงหนึ่งในสี่คน (23%) และสองในห้าคนเป็นเพื่อนกับเพื่อนร่วมงาน (40%)
• ช่องทางการสื่อสารในที่ทำงาน: สองในสามของพนักงานที่ใช้ทวิตเตอร์ (68%) ติดตามกิจกรรมทวิตเตอร์ของผู้จัดการหรือเพื่อนร่วมงาน, 42% ติดตามทั้งสองส่วน ขณะที่หนึ่งในสาม (32%) ต้องการรักษาความเป็นส่วนตัว
อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับมนุษย์เราจริงเหรอ?
เพื่อแสดงให้เห็นถึงบทบาทของเครือข่ายในชีวิตของคนเรา ซิสโก้มอบหมายให้ทำการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรทั่วโลกเกือบ 3,000 คน และผลการสำรวจเปิดเผยว่าหนึ่งในสามของพนักงานและคนทำงานรุ่นใหม่มองว่าอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญเทียบเท่ากับอากาศ น้ำ อาหาร และที่อยู่อาศัย
ทัศนคติของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต
ในปีนี้ รายงาน Cisco Connected World Technology ประจำปี 2554 สำรวจกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่ม ได้แก่:
• นักศึกษา
• นักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเข้าทำงาน โดยส่วนมากทำงานประจำเป็นครั้งแรก
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจบ่งบอกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งระบุว่าอินเทอร์เน็ตเป็น “ส่วนสำคัญของชีวิต” และในบางกรณี มีความสำคัญมากกว่ารถยนต์ การออกเดท และการไปงานเลี้ยงเสียด้วยซ้ำ
อิทธิพลต่อบุคลากรรุ่นใหม่
ข้อมูลที่ได้รับจากรายงานนับเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับทัศนคติ ความคาดหวัง และพฤติกรรมของบุคลากรคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้:
• การสื่อสารทางธุรกิจ
• ไลฟ์สไตล์แบบโมบายล์
• แนวทางการจ้างงาน
• การรักษาบุคลากร
• ระบบรักษาความปลอดภัยขององค์กร