เนื้อหาวันที่ : 2011-12-13 10:03:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1353 views

ครม.อนุมัติงบประมาณกว่า 2 หมื่นล้านบาทเพื่อฟื้นฟู เยียวยาจากภัยน้ำท่วม

ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อฟื้นฟู เยียวยา จากสถานการณ์อุทกภัย จำนวนกว่า 2 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการที่ดำเนินการได้ทันทีภายใน ม.ค. 55

ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อฟื้นฟู เยียวยา จากสถานการณ์อุทกภัย จำนวนกว่า 2 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการที่ดำเนินการได้ทันทีภายใน ม.ค. 55

ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณการฟื้นฟู เยียวยา จากสถานการณ์อุทกภัย สำหรับโครงการที่ดำเนินการได้ทันทีภายในเดือนมกราคม 2555 เป็นเงิน 20,110.5572 ล้านบาท และรับทราบผลการดำเนินงานของสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

วานนี้ (12 ธ.ค. 54) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (นัดพิเศษ)  เรื่องเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย สรุปสาระสำคัญดังนี้

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณการฟื้นฟู เยียวยา จากสถานการณ์อุทกภัย สำหรับโครงการดำเนินการได้ทันทีภายในเดือนมกราคม 2555 เป็นเงิน 20,110.5572 ล้านบาท และรับทราบผลการดำเนินงานของสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1) ส่วนราชการจัดส่งข้อมูลตัวเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ของประชาชนที่จะได้รับเงินชดเชยให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลของประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ต้องการรับความช่วยเหลือจากรัฐ

2) กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรมติดตามสถานประกอบการที่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐให้สามารถกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติโดยเร็ว

3) ทุกส่วนราชการดำเนินการเกี่ยวกับแบบรูปรายการ คุณลักษณะเฉพาะ การกำหนด TOR การจัดทำ EIA/HIA และกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้เป็นการล่วงหน้า แต่จะลงนามในสัญญาได้ ต่อเมื่อได้รับจัดสรรงบประมาณจากสำนักงบประมาณแล้ว

4) ให้ส่วนราชการที่ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณจัดส่งข้อมูล ในระบบ GIS ให้สำนักงบประมาณเพื่อบูรณาการข้อมูล จัดการวางแผนติดตามตรวจสอบ การใช้จ่ายงบประมาณ

5) กรณีที่โครงการตามคำขอของจังหวัด มีความซ้ำซ้อนในด้านภารกิจและเป้าหมายกับโครงการที่นำเสนอโดยกระทรวงและส่วนราชการ สำนักงบประมาณจะส่งโครงการดังกล่าวให้กระทรวงและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอีกครั้งก่อนดำเนินการต่อไป

6) ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการ ผู้ตรวจราชการของ ทุกกระทรวงเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของส่วนราชการ

ความเป็นมา
1. คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนงาน / โครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวมเป็นเงิน 60,983.2027 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2554 มอบหมายให้สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดำเนินการรวบรวมและพิจารณาแผนงาน/โครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย และนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

2. ส่วนราชการสามารถใช้จ่ายจาก งบกลาง รายการ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ไปพลางก่อน ภายในกรอบวงเงิน 47,600 ล้านบาท   การดำเนินการร่วมกันของสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

1. สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตระหนักถึงการพิจารณาแผนงาน/โครงการ เพื่อให้สามารถฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว จึงได้กำหนดเป้าหมายและหลักเกณฑ์ ดังนี้

1.1 เป้าหมายสำคัญเร่งด่วน ได้แก่ (1) การช่วยเหลือประชาชน สถานประกอบการ และแรงงานภาคเกษตร/อุตสาหกรรมให้สามารถกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยเร็ว (2) การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้สามารถตั้งหลักได้โดยเร็ว และ (3) การซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาใช้การได้ เป็นต้น อนึ่ง แผนงาน/โครงการควรมีลักษณะการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมด้วย

1.2 หลักเกณฑ์การพิจารณาแผนงาน/โครงการ ได้แก่ ความสอดคล้องกับเป้าหมายสำคัญเร่งด่วน มีความพร้อมในการดำเนินการ และความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ

2. ผลการพิจารณา
2.1 แผนงาน/โครงการที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาแผนงาน/โครงการตามข้อ 1.2 และสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในเดือนมกราคม 2555 คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 20,110.5572 ล้านบาท

2.2 แผนงาน/โครงการส่วนที่เหลืออีกจำนวน 40,872.6455 ล้านบาท เห็นควรทบทวนในรายละเอียดอีกครั้ง โดยให้ส่วนราชการประสานงานและตรวจสอบกับจังหวัด เพื่อพิจารณายืนยันความจำเป็นในการดำเนินโครงการ แล้วนำเสนอคณะกรรมการ ทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน ควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือประชาชน สถานประกอบการ และแรงงานภาคเกษตร/อุตสาหกรรม รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ / ชุมชน

2) ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ควรให้ความสำคัญกับการสร้างงานที่เป็นการจ้างงานโดยตรงที่ไม่ซ้ำซ้อนกับงบปกติ และไม่ควรมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝึกอบรม สัมมนา หรือค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ

3) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน กรณีที่เกี่ยวกับ การขุดลอกคลอง แหล่งน้ำ หรือถนนที่กั้นทางน้ำ ให้นำเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

อนึ่ง เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าวข้างต้นแล้วแต่กรณี ให้เสนอคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) พิจารณาภายใต้กรอบวงเงิน 47,600 ล้านบาท เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ และทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป