ประเทศไทยเกรดตก กำลังหมดเสน่ห์ความน่าลงทุน คู่แข่งไทยคือเวียดนาม ขณะที่จีน อินเดียนำหน้าประเทศน่าลงทุน เสนอรัฐบาลต้องเร่งสร้างเสถียรภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ขจัดปัญหาคอรัปชัน ปัญหากฎหมาย ลงทุนด้านการศึกษาสร้างแรงงานไทยคุณภาพทั้งฝีมือแรงงานและภาษาอังกฤษ
ผลวิจัย สกว.เปิดเผยข้อเท็จจริงมุมมองนักลงทุนออสเตรเลียตอกย้ำประเทศไทยเกรดตก กำลังหมดเสน่ห์ความน่าลงทุน คู่แข่งไทยคือเวียดนาม ขณะที่จีน อินเดียนำหน้าประเทศน่าลงทุน เสนอรัฐบาลต้องเร่งสร้างเสถียรภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ขจัดปัญหาคอรัปชัน ปัญหากฎหมาย ลงทุนด้านการศึกษาสร้างแรงงานไทยคุณภาพทั้งฝีมือแรงงานและสื่อสารภาษาอังกฤษได้ |
. |
วันนี้ (25 เม.ย.50) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง ทัศนะของนักลงทุนออสเตรเลียต่อการลงทุนในประเทศไทย : ประสบการณ์จริงและข้อเสนอแนะ ทำการศึกษาโดย น.ส.สุนีย์ สถาพร ที่ปรึกษาของบีโอไอประจำรัฐวิคทอเรียและออสเตรเลียใต้ ประเทศออสเตรเลีย เป็นการสอบถามความคิดเห็นเชิงลึกของนักลงทุนทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศออสเตรเลีย ใน 10 กลุ่มธุรกิจ คือ ยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง,กฎหมาย บัญชี การเงิน ที่ปรึกษาธุรกิจ วิจัยตลาด,บริการและผลิตภัณฑ์ ด้านการก่อสร้าง วิศวกรรม สถาปัตยกรรม,การขนส่ง โลจิสติกส์,อาหาร การเกษตร เหมืองแร่,การโทรคมนาคม ไอซีที,การศึกษา,อุตสาหกรรมอื่น ๆ ,กลุ่มธุรกิจออสเตรเลีย กลุ่มอุตสาหกรรม,ภาครัฐของไทย รวม 125 ราย ระยะเวลา 6 เดือน (พ.ย.49-เม.ย 50) |
. |
น.ส.สุนีย์ กล่าวว่า ในสายตาของนักลงทุนออสเตรเลีย ความน่าลงทุนของประเทศเป้าหมายของเขาคือ จีน เวียดนาม และอินเดีย ตามลำดับ ซึ่งมีระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงอยู่ นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่าคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของประเทศไทยคือเวียดนาม เนื่องจากมีขนาดใกล้เคียงกัน จึงมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนของธุรกิจขนาดกลางและเล็กได้ดีกว่าจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่เกินไปและยากเกินไปสำหรับธุรกิจขนาดเล็กหรือแม้แต่ขนาดกลาง สรุปคือสำหรับปัจจัยสำคัญต่อนักลงทุนแทบทั้งหมด ไทยถูกจัดอันดับไว้ท้ายสุด ปัจจัยเดียวที่ไทยเหนือคู่แข่งคือโครงสร้างสาธารณูปโภค และการอำนวยความสะดวกนักลงทุน ส่วนภาพลักษณ์ของประเทศนั้น ติดลบในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ดีในด้านทุนสังคม คืออัธยาศัยไมตรีของคนไทย ชาวต่างชาติรู้สึกว่าเป็นที่ต้อนรับ |
. |
เหตุผลที่นักลงทุนออสเตรเลียเลือกประเทศไทย คือ นโยบายเปิดประเทศ ทำให้ออสเตรเลียต้องปรับตัวเพื่อแข่งในระดับโลก นโยบาย Global Sourcing ของบริษัทข้ามชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์บีบให้ซับพลายเออร์ในออสเตรเลียต้องแสวงหาแหล่งผลิตราคาถูกลงเพื่อสามารถแข่งขันในตลาดโลก เหตุผลสำคัญที่สุดที่มาลงทุนในประเทศไทยคือ โอกาสด้านการตลาดเพื่อขายในประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมที่ดึงดูดมากที่สุดอย่างหนึ่งคือยานยนต์ เพราะไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถญี่ปุ่นโดยเฉพาะ รถปิ๊คอัพ และรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ซึ่งหลายบริษัทมีลักษณะติดตามลูกค้ามา มีบางบริษัทที่มาเพื่อผลิตสำหรับการส่งออก ปัจจัยสำคัญของบริษัทเหล่านี้คือเพื่อ แสวงหาแหล่งผลิตราคาถูก พร้อมทั้งแรงงาน วัตถุดิบ คนออสเตรเลียยังไม่อยากทำงานโรงงานและไร่นา และไม่ไว้ใจจีน ประกอบกับธุรกิจออสเตรเลียส่วนใหญ่เป็นขนาดเล็ก ไม่มีทุนทรัพย์จะไปบุกในตลาดจีน หลายประเทศสนใจเวียดนามและอินเดีย แต่เห็นว่าโครงสร้างสาธารณูปโภคของทั้งสองประเทศนั้นยังไม่พร้อม แต่ทุกคนเห็นพ้องว่าเวียดนามคือคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดของไทย และเมื่อไรเวียดนามพร้อม การตัดสินใจของเขาจะเปลี่ยนไป |
. |
ตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจคือ ความเป็นเจ้าของ บริษัทข้ามชาติพร้อมจะย้ายฐานการผลิตทั้งหมดไปในที่ๆต้นทุนถูกกว่าหรือโอกาสทางการตลาดดีกว่า แต่บริษัทออสเตรเลียยังคงหวงแหนส่วนยอดหรืองานวิจัยและพัฒนาเอาไว้ในประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะความรู้สึกชาตินิยม อีกส่วนหนึ่งเพราะได้รับความช่วยเหลือด้านภาษีจากรัฐบาล ตัวแปรที่น่าจับตามองในอนาคตคือ หากจีนสามารถปรับปรุงด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้ ก็จะมีบริษัทมากขึ้นที่พร้อมไปลงทุนในจีน ตัวแปรสุดท้ายคือการพัฒนาของสาธารณูปโภคและระบบราชการในจีน อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งเวียดนามได้รับคำชมเชยอย่างมากในเรื่องการช่วยเหลือนักลงทุน เหลือเพียงการพัฒนาสาธารณูปโภคให้ดีขึ้นเท่านั้น เวียดนามก็จะไปได้ไกลกว่าไทย เพราะคุณภาพของคนเวียดนามดีกว่าไทย และมีศักยภาพมากกว่าไทยในปัจจุบัน |
. |
น.ส.สุนีย์ สถาพร |
ที่ปรึกษาของบีโอไอประจำรัฐวิคทอเรียและออสเตรเลียใต้ ประเทศออสเตรเลีย |
. |
ในมุมมองด้านปัญหาเชิงวัฒนธรรม พบว่า ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ไม่มีชนชั้น เมื่อเข้ามาในสังคมไทยซึ่งมีปริบทของการแบ่งชนชั้นทางสังคม การมีสัมมาคารวะ ระบบอาวุโส ผู้น้อยตามผู้ใหญ่ จึงนับว่าเป็นความช็อกทางวัฒนธรรมสำหรับผู้มาใหม่ เนื่องจากนักธุรกิจออสเตรเลียคุ้นเคยกับการทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และเพราะระบบข้อมูลที่มีประสิทธิภาพทั้งในภาครัฐและเอกชนประกอบกับความโปร่งใสของภาครัฐ ทำให้นักธุรกิจที่มาเมืองไทยใหม่ๆจำนวนมากรู้สึกหงุดหงิดกับระบบราชการไทยที่อืดอาดซับซ้อน และการที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ข้อแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่งคือ การที่ระบบไทยตั้งอยู่บนพื้นฐานความสัมพันธ์ ในขณะที่ระบบออสเตรเลียตั้งอยู่บนภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบตามบทบาทหรือสัญญา นักธุรกิจออสเตรเลียจึงหงุดหงิดอีกเมื่อพบว่า การทำอะไรในเมืองไทยนั้นต้องมีคนรู้จัก จึงจะเดินเรื่องได้ และในระดับที่สุดขั้วก็คือทัศนคติของสังคมที่ยอมรับเรื่องการให้สินบน การฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักธุรกิจออสเตรเลียทำใจได้ยากมาก อย่างไรก็ตาม ชาวออสเตรเลียที่อยู่เมืองไทยมานาน และคุ้นเคยกับวิถีทางแบบไทยๆ และรักเมืองไทยเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของเขาเอง |
. |
ความเห็นของนักลงทุนต่อปัจจัยสำคัญด้านการลงทุนในประเทศไทย ส่วนใหญ่เห็นว่าประเทศไทยมีต้นทุนโดยรวมในการทำธุรกิจค่อนข้างสูง โดยเฉพาะคือ ต้นทุนในการติดต่อและดำเนินการกับระบบราชการ และงานเอกสารมหาศาล และค่าเช่าสำนักงานในกรุงเทพ และค่าเช่าโรงงานในนิคมอุตสากรรม นอกจากนั้น ต้นทุนแรงงานไทยก็สูงขึ้นตลอดเวลา และยังขาดแคลนช่างและวิศวกร ซึ่งค่าตัวสูงมาก เสถียรภาพทางการเมืองไทยในขณะนี้ไม่มั่นคง กลุ่ม economist group จัดเรตติ้งการเมืองไทยใกล้เคียงพม่า คือ D สำหรับภาคธุรกิจที่อยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ไม่วิตกกับการรัฐประหารนักเพราะไม่มีการเสียเลือดเนื้อ อย่างไรก็ตาม การเสนอแก้ไขกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว และมาตรการสำรองเงินลงทุน 30% ในห้วงเวลาต่อมาได้สั่นคลอนความมั่นใจของนักลงทุนมากกว่า และเหตุการณ์ระเบิดป่วนกรุงและเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้มีผลต่อความรู้สึกของนักลงทุนมากกว่า เพราะทำให้รู้สึกว่าประเทศไทยไม่ปลอดภัย และรัฐบาลควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ |
. |
ในด้านเศรษฐกิจ ข้อวิตกมากที่สุดสำหรับธุรกิจส่งออกคือการแข็งตัวของค่าเงินบาท ส่วนธุรกิจที่มุ่งตลาดผู้บริโภคในประเทศก็เป็นห่วงเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปีนี้ แต่ก็คาดการณ์ในแง่ดีว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง ความวิตกโดยทั่วไปสำหรับนักลงทุนต่างชาติ คือมีความรู้สึกว่ามีกระแสความรู้สึกชาตินิยมรุนแรงขึ้น ภายใต้รัฐบาลรักษาการณ์ นโยบายเศรษฐกิจเพียงพอทำให้นักลงทุนคิดว่าการลงทุนด้านสาธารณูปโภคจะชะลอลงหรือหยุดชะงัก ความไม่มั่นคงในการเมืองและเศรษฐกิจ ประกอบกับปัญหาเรื่อง พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ทำให้นักลงทุนเลื่อนหรือยกเลิกการตัดสินใจมาลงทุนในประเทศไทยในห้วงเวลานี้ และที่ปรึกษาธุรกิจและนักกฎหมายก็แนะนำให้ลูกค้ารอดูเหตุการณ์ไปก่อน |
. |
หุ้นส่วนไทย ส่วนใหญ่เห็นว่า ถ้าควบคุมกิจการเองได้ก็ต้องการควบคุม บริษัทที่ต้องการหุ้นส่วนไทยก็เพื่อช่วยเข้าถึงลูกค้าในประเทศหรือเพื่อใช้เส้นสายอิทธิพล แต่นักลงทุนจำนวนมากมีประสบการณ์ที่ไม่ดีนักกับหุ้นส่วนไทยมีการกล่าวถึงนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนเป็นพิเศษ ว่าเห็นแก่ตัว ทำงานด้วยลำบาก การถูกโกงและเอาเปรียบ การใช้อิทธิพลทางการเมืองเพื่อกีดกันการแข่งขันจากต่างชาติ ขณะที่ในด้านคนงานไทย คุณภาพและความมีพร้อม นักลงทุนที่อยู่มานาน และเห็นคุณค่าของคนงานไทย และใช้คนถูกกับงานมีประสบการณ์ที่ดีมากกับคนงานไทยทั้งในด้านฝีมือและความภักดีต่อนายจ้าง และการทำงานตามสั่ง ปัญหาที่หนักหน่วงตอนนี้คือขาดแคลนคนงานโดยเฉพาะที่มีทักษะ เช่นช่างและวิศวกร คำวิจารณ์เกี่ยวกับแรงงานไทยส่วนใหญ่คือ การที่คนไทยขาดและกลัวความรับผิดชอบ ภาษาอังกฤษไม่อยู่ในระดับที่พร้อมใช้งาน ทำงานได้มิติเดียว คิดไม่เป็น ขาดความคิดริเริ่ม ซ่อนปัญหา ปิดบังปัญหาให้เพื่อนร่วมงาน ทำงานน้อยที่สุด แต่หวังผลตอบแทนมากที่สุด มีท่าทีแบบ “ธุระไม่ใช่” ทัศนคติแบบ “ไม่เป็นไร” ไม่มีสำนึกของความเร่งด่วน |
. |
กฎหมายและกฎระเบียบ นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในกฎหมายไทย และระบบกฎหมาย เพราะ กฎหมายโดยทั่วไปขาดความชัดเจน มีการตีความตามอำเภอใจ ไม่มีความสม่ำเสมอ หรือมีลักษณะสองมาตรฐาน ระบบกฎหมายไม่เป็นที่เชื่อถือว่าจะคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติได้ มีการเสนอให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายธุรกิจหลายประการเช่น การบังคับให้มีผู้ถือหุ้น 7 คน ควรอนุญาตให้ต่างชาติเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมบริการที่ไม่มีผลต่อความมั่นคงของชาติได้ และ ควรเปิดให้ต่างชาติเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ ส่วนกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ในภาพรวมนักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่แน่ใจว่าธุรกิจของตนจะได้รับผลกระทบหรือไม่ และไม่พอใจที่กรณีชินคอร์ปเพียงกรณีเดียวทำให้มีการแก้กฎหมายเพื่อเอาผิดกับนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ทั้งๆที่มันเป็นระบบที่เป็นมานานแล้ว และในกฎหมายฉบับเดิมก็ไม่เคยระบุถึงการมีสิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้น |
. |
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง |
ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) |
. |
บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและบริษัทกฎหมายจะมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างชัดเจนว่า หากรัฐบาลประกาศใช้กฎหมายนี้เมื่อไร มันจะลดมูลค่าของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะชาวต่างชาติจะถูกบีบให้ขายหุ้นทิ้ง และบั่นทอนการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศต่อไป นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่มีใครมีปัญหากับการที่รัฐบาลไทยต้องการคุ้มครองบางภาคธุรกิจ แต่ก็มีบางภาคธุรกิจที่ถึงไทยจะปิดไป ก็ไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไร หลายคนตั้งคำถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่รัฐบาลควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่มีอายุกว่าสี่สิบปี เพื่อเปิดภาคธุรกิจที่สมควรเปิด เช่น เกษตร การศึกษา การเงิน กฎหมาย บัญชี การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง การรถไฟ สนามบิน และบริการในรายการสาม |
. |
ข้อเสนอแนะจากนักลงทุนเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย คือ ไทยไม่ใช่แหล่งผลิตสินค้าราคาถูกอีกต่อไป เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จีน อินเดียและเวียดนามได้ช่วงชิงนักลงทุนประเภทนั้นไปแล้ว ไทยถูกดันให้ก้าวขึ้นสู่ระดับต่อไปของการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและเป็นสังคมองค์ความรู้ เพื่อแข่งกับประเทศอย่างสิงคโปร์และฮ่องกง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าไทยมีศักยภาพ เพราะปัญหาในระบบการศึกษาของไทย และเพื่อพัฒนาเป็นสังคมองค์ความรู้ ไทยต้องมีคนที่มีความรู้ มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการศึกษา รัฐบาลไทยต้องทุ่มเทงบประมาณด้านการศึกษาในภาครัฐ โดยดูตัวอย่างจากเวียดนามที่ให้การศึกษาฟรี 15 ปี และตัวอย่างสิงคโปร์ที่มุ่งผลิตคนที่มีคุณภาพ นักลงทุนเห็นว่าประเทศไทยไม่สามารถเข้าร่วมในส่วนที่เป็นมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจโลกได้ เพราะไทยไม่มีระบบการศึกษาที่เพียงพอหรือดีพอและประชาชนพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่แรงงานไทย ต้องสร้างคนที่คิดเป็น ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และคนที่มีความกล้า ซึ่งเป็นคนที่ประเทศชาติต้องการเพื่อพัฒนาสู่สังคมองค์ความรู้ และอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น |
. |
น.ส.สุนีย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวเห็นว่า การสร้างภาพลักษณ์ว่าประเทศไทยน่าลงทุน ไม่สำคัญเท่าการทำให้ประเทศไทยน่าลงทุนจริงๆ ด้วยการแก้ไขปัญหาเรื่องระบบราชการที่ล่าช้า การคอรัปชั่น และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อัธยาศัยไมตรีของคนไทยเป็นทุนทรัพย์ทางสังคมที่มีค่า ทำให้ชาวต่างชาติต้องการใช้ชีวิตและทำงานที่นี่ถ้าเลือกได้ หากเพียงแต่เราตระหนักถึงและพัฒนาศักยภาพของประเทศอย่างจริงจัง ผลงานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ไทยไม่สามารถแข่งด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานสูง และจำเป็นที่ไทยต้องเข้าแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นกับฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นสังคมองค์ความรู้ และในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รัฐควรให้การศึกษาฟรีโดยเฉพาะสำหรับประชากรส่วนใหญ่ที่ยากจนอย่างน้อยจนถึงระดับมัธยมปลายหรืออาชีวะศึกษา ต้องแก้ปัญหาเรื่องความอ่อนด้อยภาษาอังกฤษ และสอนให้คนคิดเป็น รัฐควรร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ในการกำหนดทิศทางการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของอุตสาหกรรม และสร้างคนที่มีคุณภาพ พร้อมรองรับการลงทุนในเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ในด้านการส่งเสริมการลงทุน ทิศทางในอนาคต การให้สิทธิพิเศษทางภาษีอาจเป็นปัญหามากขึ้น เพราะขัดกับหลักการ WTO ไทยควรพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีให้ต่ำลงขณะเดียวกันก็ปรับปรุงบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับสิงคโปร์และฮ่องกง BOI ควรปรับปรุงบริการ ให้มี one stop service ที่มีอำนาจอย่างแท้จริง โดยอาจจะปรับเพิ่มคุณภาพและปริมาณบุคลากรทั้งด้านความรู้เกี่ยวกับระบบและด้านภาษาอังกฤษ |
. |
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า งานวิจัยนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ให้และข้อเท็จริงและมุมมองต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เห็นข้อดีข้อเสีย จุดอ่อนจุดแข็ง ปัญหา อุปสรรค ความน่าลงทุนของประเทศไทยในสายตานักลงทุนและไทยควรมีการปรับตัวอย่างไร อันที่จริงออสเตรเลียไม่ใช่กลุ่มการลงทุนใหญ่ในประเทศไทย แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการศึกษาในมุมมองด้านนี้แล้วค่อยขยายสู่กลุ่มการลงทุนจากประเทศอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน สหรัฐ |
. |
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ |
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย |
. |
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ข้อคิดเห็นนักลงทุนออสเตรเลียทำให้ได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากมุมมองภายนอก ซึ่งการดำเนินการของประเทศไทยที่ผ่านมาไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่แต่เป็นการส่งสัญญาณที่ทำให้นักลงต่างชาติตีความว่า ประเทศไทยกำลังไม่ต้องการนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้เสน่ห์ความน่าลงทุนของประเทศไทยลดลง และมองว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นประเทศที่เคยน่าลงทุน ในขณะที่ประเทศที่มีความพร้อมน้อยกว่าอย่างเวียดนามกำลังพัฒนาขยับขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งนักลงทุนมองว่าน่าลงทุน |
. |
"กรณีออสเตรเลียนักลงทุนที่ออกมาส่วนใหญ่เป็น SME ที่นิยมทำอะไรเองหมด เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นปัญหาจะกระทบเขามากกว่านักลงทุนชาติอื่น และทำให้เราได้ข้อมูลที่แท้จริงเพราะเขาสัมผัสเอง ขณะที่นักลงทุนชาติอื่นที่มาลงทุนและใช้การจ้างเอเย่นต์ดำเนินการให้ก็จะไม่สามารถให้ข้อมูลในเชิงลึกได้มากนัก" |
. |
กลยุทธ์ที่จะเดินต่อไปเพื่อการดึงดูดนักลงทุนที่สำคัญคือ ส่งสัญญาณที่ถูกต้องไปยังต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลในระดับนโยบายต้องระมัดระวังในการสื่อสารออกไป ต้องมีการคัด red tape ในการลงทุน และการมีบริการ one stop service จริง ๆ ไม่มีการหวงอำนาจหรือกั๊กกัน ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติต้องการมาก ส่วนเรื่องการอำนวยความสะดวกต่า งๆ เช่น ปัญหาเรื่องเอกสาร ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ในหน่วยงานเอง. |
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) |