เนื้อหาวันที่ : 2007-04-25 16:22:36 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2228 views

ยกระดับเทคโนโลยีการหล่อโลหะอะลูมิเนียมในอุตฯ ยานยนต์

สวทช.เพิ่มภูมิความรู้ผู้ประกอบการหล่อโลหะอะลูมิเนียม เรียนรู้ทฤษฎีพร้อมปฏิบัติ สร้างศักยภาพการแข่งขันสู้ตลาดต่างประเทศ เน้นเทคโนโลยีสะอาด ลดของเสีย ต้นทุนต่ำ พร้อมได้ผลงานมาตรฐาน

เพิ่มภูมิความรู้ผู้ประกอบการหล่อโลหะอะลูมิเนียม เรียนรู้ทฤษฎีพร้อมปฏิบัติ สร้างศักยภาพการแข่งขันสู้ตลาดต่างประเทศ เน้นเทคโนโลยีสะอาด ลดของเสีย ต้นทุนต่ำ พร้อมได้ผลงานมาตรฐาน ตรงกับความต้องการตลาดยานยนต์

.

 

.

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการผลิต ตลาด การจ้างงาน เทคโนโลยี และยังเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกทั้งไทยยังเป็นศูนย์รวมของผู้ผลิตยานยนต์จากทั่วโลก ทั้งค่ายญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา แนวทางการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์และชิ้นส่วนของยานยนต์จึงมีความสำคัญ

.

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการหล่อโลหะอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีความสำคัญกับอุตสาหกรรมยานยนต์ จึงได้เริ่มโครงการ การยกระดับเทคโนโลยีการหล่อโลหะอะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Technology Development for Aluminum Casting in Automotive Industry) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิต และยกระดับความสามารถในการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว

..

.

นายนพดล ห้อธิวงศ์ หัวหน้างานโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย สวทช. กล่าวว่า จากความสำคัญในอุตสาหกรรมดังกล่าว iTAP จึงร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และหอการค้าเยอรมันไทย จัดกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม อาทิ กิจกรรมจัดฝึกอบรมภาคทฤษฎีเพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้สามารถพัฒนาความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยีการหล่อโลหะอะลูมิเนียม รวมทั้งกิจกรรมภาคปฏิบัติเพื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมได้ลงมือร่วมเรียนรู้งานจริง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่อเนื่องด้วยการเดินทางเข้าร่วมงาน GIFA2007 เพื่อเยี่ยมชมโรงงาน ณ ประเทศเยอรมนี ซึ่งทาง iTAP ยังร่วมสนับสนุนเงินส่วนหนึ่งให้กับบริษัทที่เข้าร่วมในการอบรมครั้งนี้อีกด้วย

.

.ด้าน ดร.จุลเทพ ขจรไชยกุล หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญฝึกอบรมจาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า การจดสัมมนาในครั้งนี้เป็นการเชื่อมโยงหลักการทฤษฎีและปฏิบัติเข้าด้วยกัน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกอบการยังประสบปัญหาต่างๆจากการทำงาน อาจไม่ทราบถึงปัจจัยหรือการผลิตที่สำคัญเช่น กระบวนทำให้ชิ้นส่วนอะลูมิเนียมสะอาด ซึ่งทำให้ของเสียลดลง และป้องกันชิ้นงานไม่ให้เสียหาย รวมทั้งโรงงานบางแห่งอาจยังไม่มีระบบในการทำงานที่ดี ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาเดิมในกระบวนการผลิต ต้องเสียเวลาในการแก้ไข

.

"ส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมหล่ออะลูมิเนียมยังป้อนให้กับตลาดสำคัญอย่างยานยนต์ สินค้าจึงถูกกำหนดโดยบริษัทผลิตรถยนต์ โดยที่ผู้ประกอบการผลิตงานหล่อเองไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ หากมีความรู้พื้นฐานเหล่านี้ก็จะเข้าใจมากขึ้น ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การเข้าใจร่วมกันและหาทางออกในการผลิตที่ดีกว่า"

.

ดร.จุลเทพ กล่าวอีกว่า งานหล่ออะลูมิเนียมในยานยนต์ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ชนิดต่างๆนั้นยังต้องการน้ำหนักเบา ซึ่งเป็นข้อดีหนึ่งของการแข่งขันในตลาดโลก "ตลาดไม่ว่าจะเป็นค่ายยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกัน น้ำหนักเบาลงก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง ประเทศไทยและอเมริกาใต้ยังถือว่าเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ จากเดิมที่มีค่าแรงงานถูก แต่ปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้นแล้วเนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเราก็ค่าแรงถูกพอกัน ปัจจุบันการแข่งขันจึงไปอยู่ที่ความสามารถในการลดของเสียจากกระบวนการผลิต ซึ่งหากสามารถลดของเสียที่เกิดขึ้นได้ก็จะช่วยทั้งต้นทุน เพราะถ้าผลิตแพง บริษัทยานยนต์ก็จะหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น อย่างคู่แข่งที่สำคัญ เช่น จีน อินโดนีเซีย ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัว เพื่อให้เข้ากับกลไกตลาด"

.

โครงการนี้ยังทำให้เกิดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการหล่ออะลูมิเนียม อาทิ เครื่องวัดระดับความสะอาด  เครื่องวัดคุณสมบัติทางกล เครื่องกำจัดแก๊ส เครื่องกำจัดสิ่งสกปรก ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากเครื่องมือเหล่านี้หากมีการนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาสูงและเทคโนโลยีเหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ประกอบการ 

.

"ปัจจุบันมาตรฐานการผลิตจะถูกกำหนดโดยมาตรการคุณภาพต่างๆทั้งการผลิตหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องผ่านเกณฑ์ตรงนี้ให้ได้ เทคโนโลยีเหล่านี้จึงมีส่วนช่วยที่สำคัญ ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ก็มีการยอมรับเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น คุณภาพมาตรฐานที่ได้ยังตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งหากมีการพัฒนาส่วนนี้เพิ่มขึ้นแนวโน้มในอนาคตเราจะเห็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่ดียิ่งขึ้น" ดร.จุลเทพ กล่าวในที่สุด

.

โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)